ท่ามกลางกระแสกดดันเรื่องคดีตากใบ ซึ่งกลายเป็นประเด็นทางการเมืองพุ่งเข้าใส่พรรคเพื่อไทย
ปรากฏว่ามีข้อมูลอีกด้านจากฝั่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ทั้งที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องกับคดีตากใบ มองว่า การที่ฝ่ายการเมืองนำเรื่องนี้มาขยายผล ส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มากพอสมควร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า สถานการณ์ขณะเกิดเหตุการณ์ตากใบ ไม่ได้ดีเท่าสถานการณ์ ณ เวลานี้
ต้องยอมรับว่า ปี 2547 เจ้าหน้าที่ทำงานภายใต้แรงกดดัน ทั้งความเสี่ยงอันตรายจากการถูกลอบโจมตีรูปแบบต่างๆ การปลุกม็อบ ปลุกมวลชนกดดัน และการถูกตรวจสอบจากเอ็นจีโอ รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการพยายามแทรกแซงจากองค์กรต่างประเทศ
ที่สำคัญ ที่ผ่านมามีคดีเกี่ยวกับตากใบ เคยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและตัดสินไปแล้วหลายคดี แต่ไม่เคยมีใครหยิบขึ้นมาพูด
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และความมั่นคงชื่อดัง ซึ่งเกาะติดสถานการณ์ที่ชายแดนใต้มาตลอด เขียนบทความรวบรวมคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ เพื่อสื่อสารกับสังคมอีกด้านหนึ่งว่า รัฐไทยก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลยเรื่อง “ความเป็นธรรม” เหมือนที่วิจารณ์กัน
@@ ตากใบในศาล
คดีตากใบเป็นข้อถกเถียงอย่างมากในปัจจุบันถึงเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะในทางกฎหมายนั้น คดีนี้กำลังจะสิ้นสุดอายุความ จึงทำให้คดีกลายเป็นปัญหาการเมืองในรัฐสภาไปด้วย
เพราะรัฐบาลถูกกล่าวหาในลักษณะว่า ละเลยต่อคดี จนคดีจะสิ้นอายุความในตัวเองตามเงื่อนไขของเวลา
แต่ข้อมูลในอีกด้านจะพบว่า ปัญหาความสูญเสียที่ตากใบได้ถูกฟ้องศาลในทางคดีมาแล้ว ซึ่งดูจะเป็นข้อมูลที่สังคมโดยทั่วไป ไม่ได้รับรู้มากนัก
ฉะนั้น บทความนี้จะนำเสนอเรื่องการฟ้องร้องในคดีตากใบที่เกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งมีทั้งหมด 4 คดี ดังนี้
1.คดีแกนนำการชุมนุม
คดีนี้เป็นเรื่องของพนักงานอัยการที่ฟ้องแกนนำผู้ชุมนุมจำนวน 59 คน (ต่อมาผู้ถูกฟ้องเสียชีวิต 1 คน) ด้วยข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย แต่รัฐบาลในขณะนั้น โดยนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ตัดสินใจถอนฟ้อง ด้วยเหตุผลในทางความมั่นคงว่า “การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และอาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ…”
เหตุผลของการถอนฟ้องคดีตากใบ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฝ่ายรัฐต้องการการประนีประนอมกับประชาชนในพื้นที่ และใช้การถอนฟ้องคดีเป็นสัญญาณถึงการไม่ดำเนินนโยบายแบบ “สุดโต่ง” ของฝ่ายรัฐ
หรืออาจคล้ายกับทิศทางนิรโทษกรรมในแบบ “คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523” ที่ต้องการการแก้ปัญหาในแบบประนีประนอม มากกว่าการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้อง เพราะกระบวนการทางกฎหมายมักใช้ระยะเวลานาน และมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของทุกฝ่าย
ฉะนั้น การปล่อยคดีไว้ในศาลจะกลายเป็นโอกาสอย่างดีให้ขบวนติดอาวุธนำเอาประเด็นเหล่านี้มาใช้ขับเคลื่อนการโฆษณาทางการเมืองในการแสวงหาความสนับสนุนจากคนในพื้นที่ การหาทางยุติคดีให้ได้อย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่ไม่เป็นเงื่อนไขให้คดีถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองของการต่อต้านรัฐ
2.คดีแพ่งของญาติผู้เสียชีวิต
ญาติผู้เสียชีวิต รวมทั้งผู้บาดเจ็บและทุพพลภาพได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐสำหรับการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งที่เกิดจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุม
คดีนี้มีการยื่นคำฟ้องทั้งหมด 7 สำนวน ในช่วงระหว่างปี 2548-2549 แต่ต่อมาได้มีการเจรจา จนสามารถประนีประนอมกันได้ในชั้นศาล และผู้ฟ้องได้รับค่าเสียหายทางแพ่ง จึงเป็นอันยุติในทางคดี
3.คดีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุม
ในช่วงการสลายการชุมนุมพบว่า มีผู้เสียชีวิตในที่ชุมนุมจำนวน 7 คน แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถระบุได้ว่า ใครเป็นผู้ทำให้เขาเหล่านั้นเสียชีวิต เนื่องจากเหตุเกิดในช่วงระหว่างการชุมนุม พนักงานอัยการจึงสั่งให้ยุติการสอบสวน เพราะไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต
4.คดีผู้เสียชีวิตจากการขนย้าย
สำหรับการฟ้องคดีผู้เสียชีวิตจากการขนย้ายจากหน้าสถานีตำรวจตากใบไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จำนวน 78 รายนั้น พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องเพื่อขอเปิดการไต่สวนการตายโดยศาล เนื่องจากมีการเสียชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัวเป็นจำนวนมาก และเกิดขึ้นในระหว่างที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้อ้างว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
ผลของการไต่สวนของศาลจากปี 2548 จนในเดือนพฤษภาคม 2552 ศาลได้สรุปสำนวนในคดีนี้ว่า สาเหตุการเสียชีวิตทั้ง 78 ศพ เป็นเพราะ “ขาดอากาศหายใจ” ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีผู้ใดทำให้ตาย และการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ ซึ่งคดีนี้มี พลเอกพิศาล วัฒนวงศ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นจำเลย
พนักงานสอบสวนจึงได้ส่งสำนวนให้อัยการ อัยการในคดีนี้จึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่า ผู้ใดเป็นผู้ที่ทำให้เสียชีวิต ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นพ้องกับอัยการ จึงสั่งไม่ฟ้อง อันเป็นเหตุให้คดีนี้สิ้นสุดลงโดยปริยาย
/// ข้อสังเกต ///
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า คดีตากใบทั้ง 4 ส่วนนี้ ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วทั้งหมด แต่ก็ดูจะไม่เป็นที่รับรู้ในสังคมมากนัก ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็อาจเป็นคำยืนยันในทางการเมืองว่า รัฐไทยไม่ได้ปล่อยปะละเลย จนไม่นำพาต่อการนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมแต่อย่างใด
ดังจะเห็นได้จากคดีการไต่สวนการตาย ที่อัยการพยายามแสวงหาคำตอบเรื่องการเสียชีวิตของผู้ถูกจับกุม หรือการตัดสินใจของรัฐบาลในการยุติคดี ที่จะไม่ฟ้องร้องแกนนำที่ถูกจับกุมในทางกฎหมาย เป็นต้น
นอกจากนี้ คู่ขนานกับกระบวนการยุติธรรมในทางคดีแล้ว รัฐบาลยังได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” เพื่อทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย คณะกรรมการนี้อาจเรียกว่าเป็น “คณะกรรมการแสวงหาความจริง” (The Truth Commission) ซึ่งเป็นรูปแบบหลักที่เป็นสากลของการแสวงหาความจริงในสถานการณ์ที่มีความรุนแรง เพื่อช่วยในการนำเสนอความจริงในกรณีนี้ให้สังคมไทยทั้งหมด รวมทั้งสังคมในพื้นที่ภาคใต้ได้รับทราบข้อมูล โดยมิใช่เป็นการตั้ง “คณะกรรมการของรัฐ” เพื่อปกป้องเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
อีกทั้ง ในอีกด้านหนึ่ง รัฐเองได้แสดงเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบที่จะ “เยียวยา” ต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่า เป็นการเยียวยาครั้งใหญ่ของสังคมไทยในสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยมีจำนวนผู้รับการเยียวยามากถึง 987 คน และมีมูลค่าการเยียวยาสูงกว่า 641 ล้านบาท
และการเยียวยานี้ ดำเนินการโดย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ซึ่งเป็นเลขาธิการ ศอ. บต. ในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้นนั้น เป็นเรื่องราวของคดีตากใบอีกด้านหนึ่งที่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาลมาแล้ว และอาจจะไม่เป็นที่รับรู้กันมากนัก ดังนั้น บทความนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลในเรื่องทางคดี สำหรับผู้ที่สนใจและติดตามคดีตากใบในสังคมการเมืองไทยปัจจุบัน !
------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี