ชาวบ้านเกือบ 100 หลังคาเรือน ร้องสื่อช่วย หลังเดือดร้อนจากการระเบิดหินของเหมืองหินในพื้นที่ ทั้งที่อยู่ในเขตหาดใหญ่ สงขลา ส่งผลบ้านพัง พื้นที่เกษตรกรรมเสียหาย เคยส่งเรื่องถึงฝ่ายปกครอง แต่เยียวยาแค่ครั้งเดียว แถมน้อยนิด ไม่เพียงพอกับความสูญเสีย วอนหน่วยงานรัฐเร่งแก้ปัญหาด่วน
ที่หมู่ 1 บ้านหัวนอนถนน ตำบลทุ่งใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ตัวแทนชาวบ้านกว่า 70 คน รวมตัวกัน นำเสนอปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากการประกอบการของเหมืองหินแห่งหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งเกิดขึ้นมาต่อเนื่องนับสิบปี โดยมีทั้งผลกระทบจากการระเบิดหินที่มีเสียงดังและแรงสั่นสะเทือน ทำให้ชาวบ้านเกิดความเครียด ตกใจจากเสียงดัง ทั้งยังทำให้บ้านเรือนมีรอยร้าว ที่ดินที่ใช้ปลูกไม้เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนเนินเขาติดกับเหมืองหิน มีรอยแยก และอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นไม้ที่ปลูกเอาไว้ไม่เติบโต
การรวมตัวของประชาชนผู้เดือดร้อน ได้มีการเชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ารับฟังปัญหาด้วย ทั้ง อุตสาหกรรมจังหวัด เทศบาลเมืองคอหงส์ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอีกหลายหน่วยงาน นำทีมโดย นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหาดใหญ่
น.ส.จินดา สาระวิโรจน์ เจ้าของบ้านที่เดือดร้อน กล่าวว่า บ้านของตนได้รับผลกระทบจากการระเบิดหิน จนทำให้ฝ้าเพดานหลุดร่วงลงมา บ้านแตกร้าว สภาพที่เกิดขึ้นนี้เกิดกับบ้านเรือนประชาชนเกือบทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านที่มีอยู่ราวๆ 100 หลังคาเรือน มีผู้ลงชื่อแจ้งความเดือดร้อน 90 ราย ส่วนใหญ่บ้านแตกร้าว เสียหาย
นอกจากนั้น ที่ดินที่ติดกับเหมืองหิน และได้ปลูกไม้เศรษฐกิจเอาไว้ มีสภาพแตก ทรุดตัว ส่วนหนึ่งทำให้ต้นไม้ไม่เติบโตตามที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาเคยมีการเยียวยาไป 1 ครั้ง เป็นการชดใช้ค่าเสียหายให้หลังละ 1,000-2,000 บาท บางรายได้แค่ 500 บาท โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือตามภาพถ่ายที่ส่งให้ผู้นำชุมชน
สำหรับการออกมาเรียกร้องของชาวบ้านครั้งนี้ ต้องการให้มีการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น อย่างเช่น การลดผลกระทบจากเสียงดังในการระเบิดหิน ไม่ใช่เพียงแค่แจ้งผ่านกลุ่มไลน์หมู่บ้านก่อนทำการระเบิด เพราะแรงระบิดทำให้บ้านเรือนเสียหายเพิ่มขึ้นทุกครั้ง จึงอยากให้หน่วยงานรัฐช่วยแก้ไขปัญหาด้วย
ด้าน นายเอก ยังอภัย ณ สงขลา นายอำเภอหาดใหญ่ กล่าวว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนจากเหมืองหิน โดยมีตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ 4 รายเข้าร่วม ซึ่งจะร่วมกันลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยในระหว่างวันที่ 15-20 ต.ค.นี้ จะมีการลงรายละเอียดเพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบบ้านพังเสียหาย ได้มีการแจ้งรายละเอียดเพื่อเข้าระบบการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคี โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็จะได้ปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ เข้าไปดูแลควบคุมการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่าการทำเหมืองหินของผู้ประกอบการ มีการขุดทำเหมืองจนติดแนวเขตที่ดินของชาวบ้าน ทำให้ที่ดินเสียหาย สไลด์ตัวหายไปบางส่วน เจ้าของที่ดินก็มีความกังวลว่าจะสูญเสียที่ดินที่ตนเป็นกรรมสิทธิ์ไป ขณะที่การระเบิดหินแต่ละครั้ง มีเสียงดังมาก ทำให้ผู้สูงวัย ผู้ป่วยติดเตียง และชาวบ้านในพื้นที่มีความเครียด
-----------------------------