หมุดหมายใกล้ที่สุดที่ต้องจับตาว่า สงครามในตะวันออกกลางจะขยายตัวเป็น ”สงครามใหญ่” หรือ “สงครามโลก” หรือไม่ คือวันที่ 7 ตุลาคม หรือวันจันทร์ที่จะถึงนี้
เพราะเป็นวันครบรอบ 1 ปีที่ “กลุ่มฮามาส” เปิดปฏิบัติการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดินเข้าใส่อิสราเอล ซึ่งถือเป็นการโจมตีแบบเซอร์ไพรส์ (surprise attack) และช็อกโลก
นับจากนั้นสถานการณ์ในตะวันออกกลางก็ตึงเครียดขึ้นมา อิสราเอลเปิดปฏิบัติการเอาคืนกับกลุ่มฮามาส และปาเลสไตน์ กรีฑาทัพถล่มฉนวนกาซาไม่ยั้ง
จากนั้นขยายวงไปที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน (ฮิซบอลเลาะห์เคยปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลเพื่อช่วยฮามาสมาก่อน) และล่าสุดคือตอบโต้กันกับอิหร่าน พี่ใหญ่ของกลุ่มติดอาวุธในโลกอาหรับ
หลายฝ่ายจึงจับตาว่า วันที่ 7 ตุลาคม อาจมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น
ขณะที่ทางสถานทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ก็จัดกิจกรรมระลึกถึงโศกนาฏกรรมที่ตนเองเรียกว่า “สังหารหมู่” (Commemoration Ceremony for the victims of the October 7 massacre) และจับตัวประกันจำนวนมากของกลุ่มฮามาส ซึ่งเกิดขึ้นมาครบ 1 ปีเต็มพอดี
คาดว่าสถานทูตอิสราเอลในประเทศอื่นทั่วโลกก็น่าจะจัดกิจกรรมเช่นกัน
ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ขณะนี้กำลังรอดูว่าอิสราเอลจะตอบโต้อิหร่านอย่างไร ถ้าตอบโต้หนัก อาจบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่
โดยมีปัจจัยต้องจับตามี 3 ประการคือ
หนึ่ง ถ้าเป็นการตอบโต้ธรรมดา ไม่สร้างความเสียหายมาก สงครามก็น่าจะคงสภาพเดิมต่อไป
สอง หากมีการโจมตีคลังน้ำมันของอิหร่าน จะเกิดสงครามใหญ่ตามมาแน่ และผลสะเทือนเฉพาะหน้าจะกระทบกับราคาน้ำมันทั่วโลก
สาม ถ้าอิสราเอล หรือสหรัฐ ตัดสินใจโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ถ้าเป็นแบบนี้ เกิดสงครามโลกแน่
โดยการตอบโต้ของอิหร่าน ก็มีการเตรียมการเอาไว้เช่นกัน เพราะได้ประกาศไว้แล้วว่า จะไม่ปล่อยให้น้ำมันแม้แต่หยดเดียวออกจากตะวันออกกลาง นั่นก็คือการโจมตีคลังน้ำมันในประเทศตะวันออกกลางทั้งหมด และปิด “ช่องแคบฮอร์มุซ” ซึ่งเป็นทางผ่านของเรือบรรทุกน้ำมันทุกลำของชาติตะวันออกกลาง
“ทีมข่าว” ค้นข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต พบว่า “ช่องแคบฮอร์มุซ” มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์โลกอย่างมาก ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมาน กับอ่าวเปอร์เซีย ถือเป็นทางออกมหาสมุทรทางเดียวของประเทศที่ส่งออกน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย จึงมีการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซ เป็นจำนวน 40% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมด และ 20% ของการขนส่งน้ำมันทั่วโลก
อาจารย์ศราวุฒิ บอกด้วยว่า ศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งนี้ อยู่ที่ประเด็นวิกฤตในดินแดนปาเลสไตน์ ถ้าหากว่าดินแดนปาเลสไตน์ได้รับการแก้ไข ปัญหาทุกอย่างจะเบาบางลง
@@ “อิหร่าน” ปะทะ “ยิว” สงครามตัวจริง ไม่ผ่านตัวแทน
“สถานการณ์ขณะนี้คือการเผชิญหน้ากันของตัวจริง หมายความว่าสองประเทศนี้เขาทำสงครามกันมานาน แต่เป็นสงครามลับ และสงครามตัวแทน ตอนหลังกลายเป็นสงครามที่ทำกันโดยตรง ตั้งแต่เดือนเมษายนที่อิหร่านยิงขีปนาวุธเข้าไปในอิสราเอล แล้วหลังจากนั้นเราก็เห็นอีกครั้งช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาที่อิหร่านยิงเข้าไปในอิสราเอลอีกรอบ”
“ก็ถือเป็นการเผชิญหน้ากันโดยตรง มันเป็นการเผชิญหน้ารูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต คนก็คิดว่าถ้าสองประเทศนี้เผชิญหน้ากันโดยตรงอย่างนี้ มันก็จะหนักไปทางสงครามใหญ่ แต่ว่ามันก็มีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน”
@@ อเมริกาพร้อมหรือไม่ สงครามใหญ่ช่วงใกล้เลือกตั้ง
“หนึ่ง คือ อเมริกาเองก็กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง และสหรัฐก็คงไม่พร้อมที่จะให้อิสราเอลมาบุกอิหร่าน นำไปสู่สงครามใหญ่ ถึงแม้สำนักข่าวรายงานว่าทางอิสราเอลเตรียมโจมตีคลังน้ำมัน ตรงนี้ก็ยังเป็นที่กังวลกันอยู่ แต่ว่าถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน แล้วราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในสหรัฐเมริกาด้วย นี่คือตัวอย่างของปัจจัยที่ส่งผลต่อสงคราม”
“เหตุนี้จึงมีการคาดการณ์กันว่า ในช่วงนี้อาจจะยังไม่มีหรอกสงครามใหญ่ ยกเว้นสหรัฐจะตัดสินใจทำลายหรือโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เพราะว่าอิหร่านเองก็คงจะต้องเปิดฉากรุก และไม่ทำเฉพาะในพื้นที่ของประเทศอิสราเอล จะทำทุกที่ที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล เช่น กลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซียที่มีสัญชาติอเมริกันอยู่หลายที่ หรือว่าโรงกลั่นน้ำมันของประเทศเหล่านั้นในอ่าวเปอร์เซีย อย่างนี้ก็จะเป็นเป้าหมายการโจมตีของอิหร่าน ตรงนั้นอาจจะทำให้เกิดสงครามใหญ่ขึ้นมาได้ แต่ตอนนี้ยังไม่มี คาดว่าจนกระทั่งถึงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา”
อาจารย์ศราวุฒิ สรุปปิดท้าย โดยย้ำว่าศูนย์กลางของความขัดแย้งครั้งนี้มาจากเรื่องดินแดนปาเลสไตน์ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรอบนอกดินแดนปาเลสไตน์ มันเป็นเรื่องที่อิสราเอลต้องการให้เกิดลักษณะปั่นป่วน จนกระทั่งสังคมโลกลืมต้นต่อเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นไปหมด
@@ สงครามขยายวง แต่ยังไม่มีแรงส่งถึงสงครามโลก
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ประเมินคล้ายๆ กันว่า สถานการณ์ขณะนี้ยังไม่น่าจะลุกลามไปถึงขั้นสงครามโลก แต่ในรอบปีที่ผ่านมาได้บานปลายไปจากฉนวนกาซาในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ไปสู่เลบานอน และที่กรุงเบรุตในเดือนที่ผ่านมา โดยมีกองกำลังภาคพื้นดินต่อสู้กันในฉนวนกาซา และทางตอนใต้ของเลบานอน รวมทั้งในทะเลแดง และที่อื่นๆ 2-3 แห่ง เช่น อิรัก ซีเรีย
ที่สำคัญ สถานการณ์ได้บานปลายไปสู่การเผชิญหน้าและต่อสู้กันด้วยการลอบสังหาร รวมถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธ ซึ่งบางชนิดเป็นขีปนาวุธต้องห้าม จึงทำให้คาดเดายากว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป โดยเฉพาะหากอิสราเอลโจมตีที่ตั้งทางนิวเคลียร์ทางทหาร บ่อน้ำมัน หรือเลยไปถึงการลอบสังหารผู้นำอิหร่าน โดยมีสหรัฐและอาหรับบางชาติเข้าไปร่วมด้วย ก็จะมีการตอบโต้จากอิหร่านอย่างรุนแรงและเข้มข้น โดยมีพันธมิตร เช่น ชาติอาหรับอื่นๆ รวมทั้งจีน และรัสเซียเข้าช่วย
“ถ้าเป็นแบบนั้นก็จะบานปลายกลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบ และสงครามโลกครั้งที่ 3 ก็คงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่ผมมองว่ายังไม่น่าจะไปถึงจุดนั้นได้ง่ายๆ เพราะดูแล้วอิสราเอลยังไม่ขยับมากนัก และสหรัฐ ก็ยังไม่อยากจะให้ไปถึงตรงนั้น”
ส่วนปฏิบัติการอะไรบางอย่างในวันสัญลักษณ์ 7 ตุลาคม อาจารย์ปณิธาน บอกว่า เป็นประเด็นปาเลสไตน์ ได้ยินว่ามีการเตรียมก่อเหตุไว้แล้ว ส่วนจะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการระวังป้องกันของเจ้าหน้าที่