โอกาสของการได้ตัวจำเลย หรือ ผู้ต้องหาในคดีตากใบ เพื่อนำตัวไปยื่นฟ้องต่อศาลภายในอายุความ 25 ตุลาคมนี้ ดูแล้วมืดมนจริงๆ
ดูจากท่าทีของพรรคเพื่อไทยที่ “แข็งกร้าวอย่างยิ่ง” กรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งปัจจุบันเป็น สส.ของเพื่อไทย ก็พอจะเห็นภาพชัด เพราะตอบโต้แรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเพื่อไทยเองก็โดนรุม ตกเป็นจำเลยในเรื่องนี้
ย้อนไปดูรายละเอียดคดีตากใบ แยกเป็น 2 สำนวน มีจำเลยและผู้ต้องหา 2 กลุ่ม
สำนวนแรก - ศาลนราธิวาส : ครอบครัวผู้สูญเสียฟ้องเอง จำเลยมี 7 คน รวม พล.อ.พิศาล ที่เหลือเป็นอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ศาลออกหมายจับทุกคนแล้ว แต่โอกาสจับกุมได้ คือ ไม่มีเลย เพราะทุกคนมีศักยภาพ
สำนวนที่ 2 - ศาลปัตตานี : ศาลออกหมายจับผู้ต้องหา 5 ราย ออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีก 3 รายเพราะเป็นข้าราชการ เป็นสำนวนคดีในส่วนวิสามัญฆาตกรรม หรือ คดี “ขาดอากาศหายใจ” ยังไม่มีวี่แววจะควบคุมตัวใครได้ แม้จะมีการไปค้นบ้านผู้ต้องหาบางราย ก็ไม่เจอตัว
คดีนี้อัยการสูงสุดแถลงคำสั่งฟ้อง 18 กันยายน 2567 แต่ตำรวจไม่ได้ขออนุมัติศาลเพื่อออกหมายจับทันที แต่รอถึงวันที่ 1 ตุลาคม ถึงออกหมาย
ถามใจดูว่า ใครจะอยู่รอให้จับ ทั้งๆ ที่ผู้ต้องหากลุ่มนี้ ศักยภาพน้อยกว่า มีสถานะทางสังคมด้อยกว่ากลุ่มแรก โอกาสถูกจับจึงมีสูงมาก
@@ อัยการ ป.ป.ช.ดับฝัน “ต่ออายุความตากใบ”
ส่วนไอเดียของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่บอกก่อนหน้านี้ว่า กำลังระดมนักกฎหมายช่วยกันหาช่องทาง “ต่ออายุความ” ด้วยการร้องไปที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หาก ป.ป.ช.รับไต่สวน ก็จะหยุดอายุความไว้ได้
เรื่องนี้เหมือนจะเป็นข่าวดี แต่ปรากฏว่าไม่มีอะไรในกอไผ่
สอบถามไปยัง “อัยการชั้นผู้ใหญ่” ที่ทำงานกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ความว่า แม้ ป.ป.ช.รับไต่สวนคดีตากใบ อายุความก็ไม่สะดุดหยุดลง เพราะความผิดที่เป็นมูลเหตุของคดีตากใบ เกิดมาร่วม 20 ปีแล้ว เกิดก่อนที่จะมีการแก้ไขให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ ศาลฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้ “ไม่สามารถย้อนหลังได้”
แต่อัยการชั้นผู้ใหญ่รายนี้ ชี้เป้าว่า สส.ที่หลบหนี เข้าข่ายผิดจริยธรรมเต็มๆ และถ้าพรรคเพื่อไทยไม่จัดการ สส.ของตัวเอง อาจจะโดนร้องเรียน โดนเล่นงานเรื่องจริยธรรมเหมือนกัน และอาจลุกลามไปถึงอดีตนายกฯได้ เนื่องจากเหตุเกิดในรัฐบาลไทยรักไทย
@@ “เสธ.แมว” ชี้ เพื่อไทยติดหล่มตากใบปม “พล.อ.พิศาล”
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร หรือ “เสธ.แมว” อดีตเลขาธิการ สมช. อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย และยังเคยเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อปี พ.ศ.2556 กับกลุ่มบีอาร์เอ็น กล่าวว่า กรณีตากใบเป็นปัญหาใหญ่ และเหมือนเป็น “แผลเป็น” ติดตัวพรรคเพื่อไทยอย่างลบไม่ออก ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่อีกด้านกลับให้ พล.อ.พิศาล เป็น สส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับต้นๆ (ลำดับที่ 27) ของพรรค
ที่สำคัญ ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา คดีไม่คืบหน้าอะไรเลย กระทั่งปีสุดท้ายคดีมีความคืบหน้า แต่พรรคเพื่อไทยกลับไม่ได้แสดงความจริงจังใดๆ ในการส่งตัว พล.อ.พิศาล เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่กลับชี้แจงว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งๆ ที่ พล.อ.พิศาล เป็น สส.ของพรรค
ฉะนั้นทางที่ถูก รัฐบาลควรประกาศจุดยืนเรื่องนี้ให้ชัดเจนตั้งแต่แรก เพื่อให้ประชาชนมั่นใจ มิฉะนั้นจะกลายเป็นเงื่อนไขสะสมต่อไปแน่นอน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ ทั้งการสร้างสถานการณ์รุนแรง และการเจรจา ก็จะถูกนำมาเป็นเงื่อนไขต่อยอดตลอดเวลา
@@ “ปณิธาน”เปิดผลสอบตากใบ ทำญาติคนตายมีหวัง
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวถึงเหตุการณ์ตากใบกับการหาตัวผู้รับผิดชอบว่า จริงๆ แล้วในผลการตรวจสอบ หรือสอบสวนของ “คณะกรรมการอิสระ” ที่รัฐบาลตั้งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งก็คือรัฐบาล อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร มีข้อสรุปชัดเจนตอนหนึ่งว่า ผู้บัญชาการเหตุการณ์ซึ่งมีอำนาจสูงสุด ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เพื่อควบคุมดูแลการปฏิบัติให้ลุล่วง แต่ได้ออกจากพื้นที่ไปพบนายกรัฐมนตรีที่อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็น และผู้ที่ควบคุมการปฏิบัติเมื่อทราบว่าในรถบรรทุกมีคนเสียชีวิตแล้ว ก็บกพร่องต่อหน้าที่ เพราะไม่ได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาความเสียหายทันที
และสุดท้าย ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการประกาศกฏอัยการศึกในพื้นที่ครั้งนั้น ก็บกพร่องและขาดความรับผิดชอบ เหตุเพราะเมื่อให้มีการปฏิบัติแล้ว ก็ไม่ได้ติดตาม ควบคุม สอดส่องดูแลหรือดำเนินการใดๆ เพื่อแก้ปัญหา รวมทั้งเมื่อทราบว่ามีผู้เสียชีวิตที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี แล้ว ประมาณ 70 คน
ข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ในส่วนนี้ ทำให้ครอบครัวผู้สูญเสียยังคงมีความหวังว่าจะสามารถจะดำเนินการทางกฏหมายเอาผิดต่อผู้ที่รับผิดชอบดังกล่าวเพื่อแสวงหาความยุติธรรมจากในระบบได้บ้าง ฉะนั้นสุดท้าย หากความยุติธรรมที่แท้จริงอาจจะไม่มีอยู่จริง ก็จะทำให้ปัญหายิ่งบานปลาย
@@ สรุปปฏิบัติการคว้าน้ำเหลว ค้น 10 บ้านตามจับ ไม่เจอแม้เงา
หลังจากที่ศาลจังหวัดนราธิวาส และศาลจังหวัดปัตตานี ได้มีการออกหมายจับและหมายเรียกจำเลย/ผู้ต้องหารวม 14 ราย ในคดีตากใบทั้ง 2 สำนวน ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เริ่มปฏิบัติการนำหมายค้นเข้าค้นบ้านเพื่อตามจับกุมผู้ต้องหาและจำเลย ตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ต.ค.67 ที่ผ่านมา
โดยในพื้นที่ จ.สงขลา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการนำหมายค้นเข้าค้นบ้านของผู้ต้องหาและจำเลยตามหมายจับ 2 ราย คือ
จุดแรกบ้านในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ ซึ่งเป็นของ พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล จำเลยในคดีตากใบ (สำนวน 1) แต่ไม่พบตัว
จุดที่ 2 บ้านในพื้นที่ หมู่ 6 ต.เกาะยอ อ.เมืองสงขลา ซึ่งเป็นบ้านของ พ.จ.ต.รัชเดช ศรีสุวรรณ ผู้ต้องหาในคดีตากใบ (สำนวน 2) ไม่พบตัว
ในพื้นที่ จ.ตรัง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายเข้าค้นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ อ.รัษฎา ซึ่งเป็นบ้านของ ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส ผู้ต้องหาในคดีตากใบ (สำนวน 2) ไม่พบตัว
ส่วนวันเสาร์ที่ 5 ต.ค. ตำรวจยังปฏิบัติการเข้าตรวจค้นบ้านผู้ต้องหาและจำเลยในคดีตากใบต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
จุดแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 1 นำหมายเข้าค้นบ้านในพื้นที่ หมู่ 5 ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นบ้านของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อายุ 74 ปี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่ไม่พบตัว
พบเพียงผู้ดูแลบ้าน ซึ่งบอกกับเจ้าหน้าที่ว่า พลเอกพิศาล ไม่ได้เข้าพักที่บ้านนานกว่า 1 เดือนแล้ว และทราบว่าเดินทางไปต่างประเทศ แต่ไม่รู้ประเทศใด
จุดที่ 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม นำหมายเข้าค้นบ้านในพื้นที่ หมู่ 7 ต.คลองโคน อ.เมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นบ้านของ พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อายุ 74 ปี จำเลยตามหมายจับในคดีตากใบ (สำนวน 1) แต่ไม่พบตัว พบเพียงผู้ดูแลบ้านเช่นกัน
จุดที่ 3 เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นำหมายเข้าค้นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ ต.ตลาด อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นบ้านของ พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผูับัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) จำเลยคดีตากใบ (สำนวน 1) พบแต่ผู้ดูแลบ้านเหมือน 2 รายแรก
ส่วนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการนำหมายค้นเข้าค้นบ้านเพื่อติดตามตัวผู้ต้องหาและจำเลยตามหมายจับคดีตากใบ 3 จุด คือ
จุดแรกที่บ้านเลขที่ 2 ซอยปิยะบุตร ถนนพัฒนาการคูขวาง ต.ในเมือง อ.เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านของ นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส จำเลยตามหมายจับของศาลจังหวัดนราธิวาส ในคดีตากใบ (สำนวน 1) ไม่พบตัว
จุดที่ 2 ในพื้นที่ หมู่ 1 ต.ปากพูน อ.เมือง ซึ่งเป็นบ้านของ จ.ส.อ.ปิติ ญาณแก้ว ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานี ในคดีตากใบ (สำนวน 2) ไม่พบตัว
จุดที่ 3 บ้านในค่ายเทพสตรีศรีสุนทร ต.กะปาง อ.ทุ่งสง ซึ่งเป็นบ้านของ ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี (สำนวน 2) ไม่พบตัว
ส่วนในพื้นที่ จ.ชุมพร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้นเข้าค้นบ้านหลังหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ท่าหิน อ.สวี ซึ่งเป็นของ พ.ท.ประเสิรฐ มัทมิฬ อายุ 64 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดปัตตานี คดีตากใบ (สำนวน 2) ผลการตรวจค้นไม่พบ พ.ท.ประเสริฐ พบเพียงมารดาและญาติ