ในห้วงเวลาที่คดีตากใบกำลังถูกหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง
การแถลงข่าว การอภิปรายในสภา หลายครั้งพบว่ามีการใช้ข้อมูลด้านเดียว หรือข้อมูลบอกเล่า ประกอบกับอารมณ์ ความรู้สึกของผู้พูด ผู้อภิปราย
แต่เหตุการณ์จริงเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน มีรายละเอียดและปัจจัยแวดล้อมที่หลากหลายกว่านั้นมาก โดยเฉพาะสถานการณ์ทั้งก่อนและขณะเกิดเหตุ กับข้อจำกัดต่างๆ ภายใต้แรงกดดันสารพัด ทั้งในแง่ความมั่นคง ความปลอดภัย และบริบทความจำเป็นอื่นๆ รวมถึงการขาดประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานจริง
หลายคนอาจจะลืมไปแล้วว่า หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ รัฐบาลในขณะนั้นได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนพอสมควร และคณะกรรมการได้สรุปผลการตรวจสอบอย่างสมบูรณ์ในเวลาต่อมา
ในห้วงเวลาที่ “เหตุการณ์และคดีตากใบ” กำลังบานปลายกลายเป็นการสร้างบาดแผลรอบใหม่ในสังคมไทย และอาจถูกหยิบฉวยมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งอาจก่อผลกระทบทางความมั่นคงของชาติอย่างร้ายแรง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดัง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความชิ้นนี้ สรุปผลการตรวจสอบของคณะกรรมการอิสระตากใบ รวม 11 ประเด็น เพื่อนำเสนอข้อมูลบางด้านที่ตกหล่นไปในกระแสช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองจากโศกนาฏกรรม
@@ คณะกรรมการอิสระตากใบ @@
การชุมนุมที่หน้า สภ.อ.ตากใบ (ตัวย่อสถานีตำรวจในขณะนั้น) เกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน และได้นำไปสู่การสลายการชุมนุม อันทำให้มีผู้เสียชีวิต 84 คน และถูกควบคุมตัวจำนวน 1,370 คน
ในการนี้ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบข้อเท็จจริงในกรณีการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 ซึ่งคณะกรรมการอิสระได้ตั้งประเด็นการไต่สวนไว้จำนวน 11 เรื่อง
ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอสาระสำคัญอย่างสังเขปทั้ง 11 ประเด็น ดังนี้
1) การชุมนุมมีการจัดตั้งหรือไม่
การพิจารณาพฤติกรรมของผู้ชุมนุมบางส่วน ทั้งในขณะเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ พบว่าเป็นการกระทำที่มีการวางแผนโดยคนกลุ่มหนึ่ง และมีลักษณะของการจัดตั้งเหมือนกับการชุมนุมต่อต้านทหารที่เกิดก่อนหน้านี้ที่ปานาเระ จ. ปัตตานี และที่สุไหงปาดี จ. นราธิวาส ซึ่งมีการวางแผนที่กำหนดความมุ่งหมายไว้ชัดเจน และวางแผนในการยั่วยุเจ้าหน้าที่ อีกทั้งมีการเลือกการชุมนุมในช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิมที่ต้องการให้เกิดการยืดเยื้อ
2) การชุมนุมมีการพกพาอาวุธหรือไม่
จากรายงานของเจ้าหน้าที่พบว่า ผู้ชุมนุมมีการพกพาอาวุธเข้าร่วมการชุมนุม และหลังสลายการชุมนุมได้พบอาวุธในแม่น้ำ และจากการยึดของเจ้าหน้าที่บางส่วน เช่น อาวุธสงคราม เครื่องกระสุน ระเบิด มีดดาบ และพบร่อยรอยโรงพักถูกยิง และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ ซึ่งทิศทางกระสุนมาจากทางผู้ชุมนุม แต่ไม่มีการใช้อาวุธตอบโต้การสลายการชุมนุม ทำให้ไม่เกิดการสูญเสียใหญ่
3) มาตรการสลายการชุมนุมมีความเหมาะสมหรือไม่
การสอบสวนพบว่า การสกัดกั้นการเข้าร่วมชุมนุม การเจรจาโดยเจ้าหน้าที่ ผู้นำศาสนา และบิดามารดาของ ชรบ. จำนวน 5-6 ครั้ง เพื่อยุติการชุมนุมนั้น เป็นไปอย่างเหมาะสมแล้ว และมีความพยายามในการเจรจาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ รวมทั้งมีการใช้เครื่องขยายเสียงแจ้งเตือนการสลายการชุมนุม แต่เสียงคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ถูกกลบจากการใช้เสียงฝ่ายต่อต้านที่คุมการชุมนุมอยู่ ด้วยการโห่ร้องเสียงดังของแกนนำในการชุมนุม และเครื่องขยายเสียงของฝ่ายเจ้าหน้าที่มีระดับต่ำ เสียงไม่ดังพอ จึงทำให้ผู้ร่วมชุมนุมไม่ได้ยินคำชี้แจง
4) เหตุผลในการสลายการชุมนุมมีความเหมาะสมหรือไม่
ทางเจ้าหน้าที่ได้ขอร้องให้ผู้เข้าร่วมยุติการชุมนุมในเวลา 17.00 น. โดยการเจรจาเริ่มในเวลา 15.00 น. แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และเริ่มมีการใช้สิ่งของต่างๆ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ เช่น ก้อนอิฐ เศษไม้ อีกทั้ง พยายามบุกเข้ามาในสถานีตำรวจตากใบ แต่ก็ถูกผลักดันกลับไป
แม่ทัพภาค 4 ในขณะนั้น จึงมีคำสั่งการให้สลายฝูงชน ด้วยการใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม ใช้แก๊สน้ำตา แต่กลับมีเสียงปืนดังจากทางผู้ชุมนุม ทำให้ตำรวจถูกยิงบาดเจ็บ 1 นาย เจ้าหน้าที่จึงยิงปืนขึ้นฟ้าหลายชุด และใช้เวลาสลายการชุมนุม 30 นาที มีผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนทั้งสิ้น 1,370 คน ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 7 คน เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 14 คน
คณะกรรมการอิสระสรุปว่า หากไม่สลายการชุมนุม เหตุการณ์มีแนวโน้มลุกลามบานปลาย และอาจนำไปสู่การเผาสถานีตำรวจตากใบ เพราะพบว่าแกนนำผู้ชุมนุมมีการเตรียมการมาก่อน ส่วนข่าวว่าผู้ชุมนุมถูกจ่อยิงที่ศีรษะนั้น ผลจากการชันสูตรพลิกศพ ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ไม่มีการใช้อาวุธยิงเข้าใส่ผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
5) การปฏิบัติในการควบคุมตัวมีความเหมาะสมหรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ต้องการจับแกนนำ แต่เมื่อเกิดการสลายการชุมนุม ทำให้ไม่สามารถจำแนกแกนนำกับผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ และการเตรียมจับแกนนำประมาณ 30-40 คนนั้น ทำให้มีการเตรียมรถขนส่งทหารไว้เพียง 4 คัน แต่เมื่อมีผู้ถูกจับกุมจำนวนมากเกินกว่าที่ประมาณการ จึงทำให้เกิดความบกพร่องในการปฏิบัติ
6) การใช้ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เหมาะสมเพียงใด
คณะกรรมการอิสระมีความเห็นว่า การใช้ค่ายทหารมีความเหมาะสม เนื่องจากไม่มีสถานที่ที่ จ.นราธิวาส ใหญ่เพียงพอรองรับผู้ถูกจับกุมทั้งหมด และในค่ายทหาร มีโรงพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บได้ด้วย จึงเป็นความเหมาะสมที่จะใช้ค่ายทหารเป็นสถานที่ควบคุมและรักษาพยาบาลในเบื้องต้น
7) การเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่
ปัญหาวิธีการเคลื่อนย้ายถูกนำมาเป็นประเด็นในการต่อต้านรัฐไทย แม้เดิมจะมีการขนในลักษณะให้นอนทับซ้อนกัน แต่ผู้ควบคุมสถานการณ์ (มทภ. 4 และ ผบช.ภ. 9) ได้สั่งการลงมาจัดใหม่ (โดยคณะกรรมการอิสระได้อ้างถึงภาพถ่ายของหนังสือพิมพ์มติชน)
แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในรถบางคันอาจมีการทับซ้อนกัน เพราะผู้เสียชีวิตมีลักษณะขาดอากาศหายใจ และอีกส่วนร่างกายอ่อนแอจากเทศกาลถือศีลอด อีกทั้ง อาจเป็นผลจากความขาดแคลนยานพาหนะ ที่ไม่ได้มีการเตรียมการในเบื้องต้น เพราะเตรียมเพียงการจับกุมแกนนำ
ผลการชันสูตรพลิกศพ พบว่าไม่มีผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะคอหัก ถูกรัดคอ หรือถูกคลุมถุงพลาสติก ซึ่งกรณีนี้ คณะกรรมการอิสระเห็นว่า ผู้บังคับบัญชาอาจขาดการใช้วิจารณญาณ ละเลยดูแลการลำเลียง และเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการขาดประสบการณ์ คาดไม่ถึงผลที่จะเกิดขึ้น และถูกกดดันด้วยเวลาที่จะต้องทำภารกิจให้เสร็จก่อนมืด เพราะมีความตึงเครียดในพื้นที่ จึงส่งผลให้เกิดความสูญเสียในกระบวนการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัว
8) ระยะเวลาของการเคลื่อนย้ายทำไมจึงล่าช้า
การเคลื่อนย้ายจากนราธิวาสไปค่ายทหารที่ปัตตานีที่มีระยะทาง 150 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง ซึ่งมากกว่าปกติ การเดินทางล่าช้า เนื่องจากเป็นเวลากลางคืน มีฝนตกหนัก อีกทั้งขบวนรถ (จำนวน 22 หรือ 24 คัน) ต้องเผชิญกับการวางเรือใบ และมีการกีดขวาง จึงมีการเพิ่มการควบคุมมากขึ้น เพราะมีการปล่อยข่าวเรื่องการชิงตัว ดังจะพบว่า รถคันสุดท้ายถึงค่ายในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 26 ตุลาคม (การสลายการชุมนุมใช้เวลาเพียง 30 นาที)
เมื่อมาถึงค่ายทหาร พบว่ามีผู้เสียชีวิตในรถแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ก็มิได้รีบดำเนินการแก้ปัญหาในขณะนั้น เพื่อบรรเทาความเสียหาย ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการอิสระเห็นว่า เป็นปัญหาสำคัญที่ไม่ควรเกิดขึ้น
9) การดูแลผู้ถูกควบคุมเหมาะสมหรือไม่
คณะกรรมการอิสระพบจากคำให้การของผู้ถูกควบคุมตัวว่า การดูแลของเจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างดี รวมทั้งการดูแลและรักษาพยาบาลผู้ป่วยในค่ายทหาร
10) ปัญหาผู้สูญหาย
คณะกรรมการอิสระรับทราบว่า มีผู้สูญหายจากเหตุการณ์จำนวน 7 นาย จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เร่งประสานญาติ และติดตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้
11) ปัญหาผู้รับผิดชอบ
คณะกรรมการอิสระมีความเห็นว่า นายทหารในระดับสูงของกองทัพภาคที่ 4 ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแม่ทัพภาค รองแม่ทัพภาค และ ผบ.พล.ร.5 มีความรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชาที่เป็นผู้ดูแลและควบคุมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
// บทเรียน //
- เจ้าหน้าที่มีข้อจำกัดหลายประการในการควบคุมการชุมนุม
- ทหารไม่มีประสบการณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมเป็นจำนวนมาก
- ปัญหาความสูญเสียที่เกิดเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ไม่ใช่เกิดจากความจงใจของเจ้าหน้าที่ แต่ควรนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน
// ข้อเสนอแนะ //
- ควรใช้ชุดปราบจลาจลของตำรวจในการควบคุมการชุมนุมประท้วง และชุดของทหารควรทำหน้าที่เป็นกองหนุน เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกำลังไม่พอ
- ควรมีการจัดคัดแยกผู้ถูกจับกุมในเบื้องต้น พร้อมกับจัดยานพาหนะให้เพียงพอ และผู้ถูกควบคุมตัวควรได้นั่งในรถควบคุม
- การบริหารพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น
// บทสรุปจากผู้เขียน //
สาระสำคัญจากรายงานของคณะกรรมการอิสระที่ผู้เขียนได้นำเสนออย่างสังเขปเช่นนี้ อาจจะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์อีกส่วนที่บอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีตากใบ และการการไต่สวนของคณะกรรมการนี้ เป็นอิสระ ไม่ใช่เป็นการดำเนินการของรัฐบาลขณะนั้น
ฉะนั้น สังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน จึงควรที่จะนำมาพิจารณาเพื่อสร้างความรับรู้ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในภาพรวมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว!