“ศาลนราธิวาส” ออกหมายจับ “พล.อ.พิศาล” จำเลยคดีตากใบแล้ว หลังไม่ปรากฏตัวตามนัด ทั้งที่ไม่ได้เข้าประชุมสภา แถมไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ชี้พฤติการณ์หลบหนีชัดเจน พร้อมประสานสำนักงานศาลยุติธรรม ทำความเข้าใจบรรทัดฐานใหม่ตามรัฐธรรมนูญ สส.-สว.ไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มกัน ถูกจำคุกได้แม้ในสมัยประชุม
วันพฤหัสบดีที่ 3 ต.ค.67 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกเอกสารเผยแพร่ กรณี ศาลจังหวัดนราธิวาสออกหมายจับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี จำเลยที่ 1 คดีตากใบ เหตุมีพฤติกรรมหลบหนี ให้ตำรวจศาล ฝ่ายปกครอง และตำรวจ จับกุมจำเลยมาศาลก่อนหมดอายุความ
เนื้อหาในเอกสารระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.67 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 1 หรือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ตามคำร้องขอให้พิจารณาออกหมายจับจำเลยที่ 1 ของทนายความโจทก์
โดยศาลพิเคราะห์แล้ว วันที่ 12 ก.ย.67 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ไม่มาศาล แม้ในวันนัดจะมีการประชุมสภา แต่ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าร่วมการประชุมด้วย
การพิจารณาคดีของศาลในวันดังกล่าว จึงไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่จำเลยที่ 1 จะไปประชุมสภา เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาล โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ถือได้ว่ามีพฤติกรรมหลบหนี ให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีภายในอายุความ 20 ปี นับตั้งแต่วันกระทำความผิด คือ ภายในวันที่ 25 ต.ค.67
ศาลสั่งด้วยว่า การดำเนินการตามหมายจับ ให้ตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับได้ และเห็นสมควรให้พนักงานฝ่ายปกครองและตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วย โดยมีตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุน ตาม พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.2562 มาตรา 5(5)
@@ แพร่บรรทัดฐานใหม่ สส.-สว.ไร้เอกสิทธิ์คุ้มกัน
อนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของศาลยุติธรรมและความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องความคุ้มกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ในชั้นพิจารณาเห็นสมควรให้งานสารบรรณมีหนังสือถึงสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งข้อเท็จจริงตามที่สภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือตอบกลับมาว่า ระหว่างสมัยประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสุฒิสภาไม่มีความคุ้มกันในชั้นพิจารณา รวมถึงกรณีการจับกุมและคุมขังในคดีอาญาด้วย
@@ ตากใบเดือด "ภูมิธรรม” โต้ “โรม” อย่าใช้อารมณ์
วันเดียวกัน (3 ต.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบกระทู้ถามสดของ นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ถึงการฟื้นความเชื่อมั่นต่อประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากคดีตากใบที่กำลังจะหมดอายุความลงในวันที่ 25 ต.ค.นี้
โดย นายรังสิมันต์ ระบุตอนหนึ่งระหว่างถามกระทู้ว่า ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน นายภูมิธรรมยังแสดงอาการปรี๊ดแตกด้วย
ทั้งนี้ นายภูมิธรรม ลุกขึ้นชี้แจงกลางสภาว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้จะต้องใช้เหตุผล และพิจารณาเรื่องต่างๆ ให้ครบถ้วน ไม่มองเฉพาะมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องหลายเรื่อง
“ผมไม่ได้ปรี๊ดแตกกับสื่อมวลชน เพราะผมกำลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมอยู่ และยืนยันว่า ผมให้ความสำคัญกับเรื่องตากใบ แต่ขณะนั้น น้ำกำลังท่วม และรัฐบาลได้จัดลำดับให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วมและโคลนสไลด์ก่อน จึงขอให้นายรังสิมันต์ ใช้เหตุผลและความเป็นจริง อย่าใช้อารมณ์”
นายภูมิธรรม ชี้แจงอีกว่า รัฐบาลเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็มีความจริงหลายมิติที่เข้ามาเกี่ยวข้องและมีรายงานที่สรุปว่า ผู้เสียชีวิต 78 ราย เพราะขาดอากาศหายใจเป็นหลัก ถูกกดทับที่บริเวณหน้าอก และมีบาดแผล ซึ่งเป็นเรื่องกระบวนการลำเลียงคนไปอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเสียชีวิตเพราะอาวุธ
โดยขณะนี้ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวในขณะนั้นสับสนอลหม่านมาก พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลในขณะนั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะฆ่ากัน และย้ำว่า รัฐบาลในสมัยรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตแล้วรายละ 7,000,000 บาท และลดหลั่นลงตามความเสียหายที่เกิดขึ้น
“เหตุดังกล่าวไม่ใช่เหตุความตั้งใจ แต่เป็นความอลหม่านในพื้นที่ที่เกิดขึ้นจนมีประชาชนเสียชีวิต การจัดการผู้ต้องหาตามหมายจับไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจะต้องมีการสืบสวนตามกระบวนการยุติธรรม เพราะผู้ถูกกล่าวหาจะต้องไปต่อสู้คดี และรัฐบาลยังได้มีการปรับวิธีคิดและวิธีการในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอีก”
“ต้องยอมรับในความแตกต่าง เพื่อให้เกิดสันติภาพ เพราะปัจจุบันมีการนำความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นไปพูดจนเกินเลย เพื่อเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองในโบราณจนมาถึงปัจจุบัน ดังนั้นเรื่องคดีก็จะต้องดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรม และได้กำชับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามขั้นตอนไป”
@@ ฉะ “โรม” อย่าด่วนสรุปเอง ถามหาหลักฐานเป่าคดี
จากนั้น นายรังสิมันต์ ยังได้ถามกระทู้ต่อ โดยเปรียบเทียบเหตุการณ์ตากใบ ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2547 กับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และรู้สึกเจ็บปวดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งยังถามหาความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหา รวมถึงยังเชื่อว่ามีความพยายามเป่าคดี ช่วยเหลือกันโดยตำรวจ โดยนายภูมิธรรมก็กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย จะจัดการกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร
นายภูมิธรรม กล่าวชี้แจงว่า ตนเองก็รู้สึกไม่แตกต่างจากนายรังสิมันต์ แต่ไม่ได้มองเรื่องนี้เพียงจุดเดียว และต้องมองส่วนอื่น ๆ ประกอบกันด้วย และความรู้สึกที่รุนแรง ไม่ได้ทำให้ปัญหาภาคใต้ดีขึ้น เพราะจะต้องใช้สติในการแก้ไข ซึ่งรัฐบาลเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ได้พยายามเยียวยาและแก้ไข รวมถึงไม่ได้มีการแทรกแซงกระบวนการตำรวจและนิติเวช แต่ได้พยายามเร่งดำเนินการอยู่ จึงขอให้นายรังสิมันต์ใจเย็นๆ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งผู้ที่สูญเสีย และผู้ที่ถูกกล่าวหา โดยศาลเป็นผู้ตัดสิน อย่าด่วนใช้ตนเองเป็นตัวตัดสิน
นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า รัฐบาลพยายามทำหน้าที่ และเร่งรัดให้มีการจับกุมตัวมาให้ได้ ซึ่งหากนายรังสิมันต์ มีหลักฐานการเป่าคดี ตนก็พร้อมตรวจสอบให้ แต่ไม่ควรไปคิดเองว่า ศาล ตำรวจ อัยการ หรือพรรคการเมืองเป็นอย่างไร ควรใช้สาระจริงๆ มาพูดคุยกันมากกว่าการกล่าวหาโดยไม่มีเหตุผล และหากยังมีเรื่องที่ต้องการพูดคุยกับตนสามารถมาพูดคุยภายหลังการตั้งกระทู้เสร็จสิ้นได้ เพราะตนเองก็มีข้อมูลมากกว่าที่นายรังสิมันต์พูด เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ตรงกัน