อิสราเอลปฏิบัติการกวาดล้างปลิดชีพผู้นำฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน, ถล่มกาซ่าจนแทบไม่เหลือซาก, สังหารผู้นำฮามาสในดินแดนอิหร่าน
พร้อมประกาศจะเดินหน้าถอนรากถอนโคนศัตรูให้หมดสิ้น และจะไม่หยุดจนกว่าจะปลอดภัย โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านจากทั่วโลกแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา
ตะวันออกกลางจะระเบิดเป็นสงครามใหญ่หรือยัง และส่งผลกระทบต่อไทยหรือไม่ อย่างไร?
เป็นคำถามที่ถามกันระงมไปทั้งโลก...
กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระ ซึ่งพำนักอยู่ที่แอตแลนต้า รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา วิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลเพื่อเป็นคำตอบในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ
หลังจากการปฏิบัติการกวาดล้างฮามาสในฉนวนกาซ่า ขยายมาถึงเขตเวสต์แบงก์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต และทำลายโครงสร้างพื้นฐานของศัตรู โดยอิสราเอลอ้างว่าเป็นการตอบโต้การก่อการร้ายและป้องกันตนเองจากเหตุการณ์เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว (7 ต.ค.66 ถูกกลุ่มฮามาสโจมตีครั้งใหญ่)
ความขัดแย้งขยายไปถึงอิหร่าน เลบานอน เยเมน และซีเรีย ทำให้อิสราเอลอยู่ในภาวะอันตรายอาจจะสูงที่สุดในประวัติศาสตร์
ชาวอิสราเอลแบ่งเป็นสองฝ่าย ครึ่งหนึ่งต้องการจะให้ทำต่อไป ขณะที่อีกครึ่งของประเทศออกมาประท้วงให้หยุด
ล่าสุดข่าวใหญ่คือการสังหาร “ซายอิด ฮัซซัน นัสรัลลาห์” (Sayyid Hassan Nasrallah) ผู้นำสูงสุดของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ โดยใช้จรวดติดระเบิดขนาด 2,000 ปอนด์ถล่มบริเวณคนอยู่หนาแน่นในเมืองหลวงเบรุตของเลบานอน ซึ่งเป็นปฏิบัติการสำเร็จต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การปลิดชีวิตแกนนำทั้งฝ่ายกองกำลังและฝ่ายยุทธศาสตร์ของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เกินกว่าครึ่งหนึ่ง และการสังหารแบบไซเบอร์โดยระเบิดผ่าน pagers รวมถึงวิทยุพกพา walkie-talkie ซึ่งทำให้คู่ต่อสู้ที่เป็นเป้าหมายและพลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทำให้โครงสร้างของฮิซบอลเลาะห์ศัตรูของอิสราเอลทางด้านทิศเหนือที่นับว่าเป็นอันตรายสูงสุดนั้น กำลังระส่ำระสาย ขาดการประสานงานและไม่สามารถใช้ขีปนาวุธที่สะสมไว้เพื่อทำลายอิสราเอลกว่า 150,000 ลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะนี้มีข่าวว่ากองทัพอิสราเอลขยายการโจมตีในทำนองเดียวกัน เพื่อทำลายยุทธบริเวณ และสังหารบุคคลสำคัญของกลุ่มฮูติในเยเมน ซึ่งเป็นคู่ปรับของอิสราเอลทางด้านใต้ด้วย
อิหร่านซึ่งย้ำอยู่เสมอว่าจะตอบโต้ให้สมกับสัดส่วนการก้าวร้าวของอิสราเอล และเป็นการรักษาเกียรติภูมิของผู้นำอิหร่านซึ่งถูกอิสราเอลละเมิดหลายครั้ง แต่การเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีเมื่อไม่นานมานี้แทนอดีตประธานาธิบดีที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ อาจจะทำให้อิหร่านต้องเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมมากกว่านี้
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของอิหร่านยังไม่อำนวยทรัพยากรให้การทำสงครามขนาดใหญ่เพียงพอ
จึงสรุปโดยสังเขปว่า “สงครามขนาดใหญ่ในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลกับศัตรูรอบด้านนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่ความเป็นไปได้สูงสุดคือการเลื่อนเวลาออกไปอีก เนื่องจากขาดความพร้อมร่วมกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงสุด”
การเมืองร้อนในอิสราเอลและตะวันออกกลางจะมีผลกระทบต่อไทยที่สำคัญ 3 เรื่องคือ
1.ราคาพลังงาน/น้ำมันดิบยังคงที่
ราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันอยู่ที่บาร์เรลละประมาณ 69 เหรียญ เรื่องนี้เป็นสัญญาณว่าตลาดซึ่งเชี่ยวชาญทางการเมืองในภูมิภาค โดยเฉพาะแหล่งผลิตน้ำมันซึ่งอยู่ในตะวันออกกลางนั้น วิเคราะห์ว่าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกินกว่าปัจจุบันมากนัก จึงไม่มีการเพิ่มอุปสงค์และโก่งราคา
ภายในปีนี้ 2024 ราคาน้ำมันสูงสุดอยู่ที่ 87 เหรียญต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 5 เมษายน และราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยทั้งปีตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 79.54 เหรียญ
“การที่ราคาน้ำมันปัจจุบันอยู่ที่ 69 เหรียญต่อบาร์เรลนั้น แสดงชัดว่าผู้อยู่ในวงในไม่เชื่อว่าจะเกิดสงครามใหญ่”
ขณะเดียวกันซาอุดิอาระเบียได้ประกาศว่าจะเพิ่มการผลิตน้ำมันในเดือนธันวาคมเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกิดความมั่นใจว่าผลประโยชน์ทางทางเศรษฐกิจจะมีอิทธิพลชะลอหรือระงับสงคราม
2.การขนส่งทางทะเลยังเป็นปกติ ยังไม่สะเทือนต้นทุนการส่งออกและนำเข้าของไทยมากนัก
การบุกยึดเรือขนส่งในทะเลแดงโดยกลุ่มฮูติ แม้ยังเป็นอันตรายอยู่ แต่ก็ยังดำเนินได้ตามปกติ
ปัจจุบันราคาค่าขนส่งโดยคอนเทนเนอร์ข้ามทวีปผ่านช่องแคบสุเอส มีการเก็บราคาพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้นประมาณ 2-5% ของราคาสินค้าในคอนเทนเนอร์ เพื่อชดเชยค่ากรมธรรม์ของบริษัทประกันภัยเรือ แต่หากสงครามเกิดขึ้นหรือมีการยึดเรือโดยโจรสลัดเพิ่มขึ้นอย่างรุนแร งค่ากรมธรรม์นี้อาจจะขึ้นถึง 10%
3.ความปลอดภัยของแรงงานไทยในอิสราเอลและตัวประกันในกาซ่าน่าวิตก
แรงงานไทยจำนวนกว่า 5,000 คนทำงานอยู่ในบริเวณภาคเหนือของอิสราเอลติดกับพรมแดนของเลบานอนซึ่งเป็นที่ตั้งฐานยิงจรวดและขีปนาวุธของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ชาวไทยกลุ่มนี้ทำงานในเขตอันตรายแลกเปลี่ยนกับรายได้ที่สูงกว่าปกติ และอาจเป็นสิ่งที่ต้องเป็นภาระของทางการไทยและอิสราเอลหากเกิดสงครามขึ้นจริง
ส่วนตัวประกันภัยไทยในกาซ่าประมาณ 6 คนนั้น สภาวะน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากขาดการติดต่อและไม่มีข้อมูลเลย
และยังมีข่าวว่าแรงงานไทยกำลังไปทำงานในอิสราเอลเพิ่มขึ้น แม้เสี่ยงกับภัยสงคราม โดยเพิ่มจากจำนวนประมาณ 30,000 คนเป็น 60,000 คนในระยะอีก 2 ปีข้างหน้านี้ตามการประเมินของกระทรวงต่างประเทศ สวนทางกับคำขอร้องของภาครัฐให้พิจารณาไปทำงานในประเทศอื่น และนโยบายของกระทรวงแรงงานนั้นยังไม่ชัดเจน