ช่วงใกล้สิ้นปีงบประมาณที่จะมีการสับเปลี่ยนกำลังพลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตรงกับปลายๆ เดือนกันยายนของทุกปี ตามสถิติแล้วถือว่าเป็นอีกห้วงที่มักจะเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นค่อนข้างถี่แทบทุกปี
สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ถึง 2 เหตุการณ์ คือ ลอบวางระเบิดโจมตีรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ทหารพราน ในพื้นที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส วันที่ 26 ก.ย. และลอบวางระเบิดรถบัสของ ตชด. ในพื้นที่ สายบุรี จ.ปัตตานี วันที่ 27 ก.ย.
ทิ้งห่างมาเพียง 2 วัน มาถึงวันที่ 30 ก.ย. ในช่วงค่ำก็ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์บริเวณสามแยกใกล้บ้านพักนายอำเภอตากใบ และใกล้กองร้อยอาสารักษาดินแดนที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองตากใบ จ.นราธิวาส
โดยแรงระเบิดทำให้อาคารบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้ได้รับความเสียหายทั้งหลัง และในเบื้องต้นมีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิด 2 ราย ซึ่งเหตุดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าทำการปิดล้อมพื้นที่และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบบุคคลและยานพาหนะที่เข้า-ออกในพื้นที่ อ.ตากใบ และอำเภอรอยต่อ
สำหรับเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่ อ.ตากใบ ถือเป็นคาร์บอมบ์ลูกที่ 3 ของปี 2567 โดยลูกแรกเกิดขึ้นที่แฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา วันที่ 30 มิ.ย. และลูกที่ 2 เกิดขึ้นที่ริมถนนทางเข้าท่าเทียบเรือปัตตานี ติดกับกำแพงรั้วกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี วันที่ 9 ส.ค.
จากการรวบรวมสถิติคาร์บอมบ์ของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อช่วงต้นปี 2547 พบว่า คาร์บอมบ์ลูกแรกเกิดขึ้นในปี 2548 และนับต่อมาจนถึงครั้งล่าสุด เหตุคาร์บอมบ์ที่ตากใบ จ.นราธิวาส นับรวมได้ทั้งหมด 64 ครั้ง แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.นราธิวาส เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 26 ครั้ง
จ.ยะลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 15 ครั้ง
จ.ปัตตานี เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 18 ครั้ง
ส่วน 4 อำเภอของ จ.สงขลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 4 ครั้ง
ทั้งยังมีเหตุคาร์บอมบ์นอกพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 ครั้ง คือ ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2558 ซึ่งเกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน