คดีตากใบใกล้จะขาดอายุความเต็มที...
จำเลยของเรื่องนี้ย้ายจากทหาร ตำรวจ ในมิติความมั่นคง มาเป็น “พรรคเพื่อไทย” ในมิติทางการเมือง
อ่านประกอบ : เปิดเจตนารมณ์ รธน.125 วรรคท้าย ต้นเหตุเพื่อไทยเป็นจำเลยปม “ตากใบ”
แต่การเรียกร้องกดดันเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบ โดยมองอย่างแยกส่วน และพุ่งเป้าเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ อาจทำให้สังคมหลงลืมสาระสำคัญด้านอื่นไป
โดยเฉพาะการที่จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ตากใบ เหมือนถูกจัดวางให้เกิดขึ้น โดยที่ฝ่ายรัฐไทยเพลี่ยงพล้ำ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ไฟใต้ในภาพรวมไปด้วย
และแม้เหตุการณ์จะผ่านมานานเกือบ 20 ปี การรื้อฟื้นคดีตากใบในวันนี้ ก็ส่งผลสะเทือนทั้งมิติการเมืองและมิติความมั่นคง รวมถึง “เข้าทาง” การเคลื่อนไหวของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ต่อสู้กับรัฐไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฉะนั้นการศึกษาและเปิดมุมมองเรื่องตากใบอย่างถี่ถ้วน รอบด้าน และระมัดระวัง จึงเป็นสิ่งจำเป็น
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ซึ่งเกาะติดปัญหาชายแดนใต้มาเนิ่นนาน ชวนเปิดมุมมองเกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบในทุกมิติ ด้านหนึ่งก็เพื่อไม่ให้รัฐไทยเพลี่ยงพล้ำไปมากกว่านี้
และอีกด้านหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องนี้ถูกขยายในมิติการเมือง จนสะเทือนมิติความมั่นคงของประเทศอย่างที่ไม่ควรจะเป็น...
@@ ชวนมอง “ตากใบ” ใหม่!
สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ดูจะขยับตัวมากขึ้นอย่างน่ากังวล
โดยเฉพาะล่าสุด คือ กรณีรื้อฟื้นคดีตากใบ และการปล้นปืนที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลาบาลา จังหวัดนราธิวาส ซึ่งในด้านหนึ่ง อาจจะเป็นเสมือนกับการ “รับน้อง” รัฐบาลใหม่ของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร
แต่ในอีกด้าน ก็คือ สัญญาณการเปิดการรุกอย่างต่อเนื่องกับรัฐไทย และดังที่เคยกล่าวเป็นข้อสังเกตถึงการเปิดปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธ BRN ว่า พวกเขากำลังเปิดปฏิบัติการทั้งทางการเมืองและการทหารคู่ขนานอย่างต่อเนื่อง
หากเราเริ่มต้นด้วยเส้นเวลาจากปัญหาภาคใต้ที่เกิดในสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่เริ่มด้วยการรุกทางการเมือง ผ่านการกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อตกลง JCPP (แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม ซึ่งคณะพูดคุยฯฝ่ายรัฐบาลไทย ไปตกลงร่วมกับคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น) ที่เป็นผลผลิตของนายทหารบางส่วนที่เกี่ยวข้อง, เอ็นจีโอตะวันตก และกลุ่ม BRN ที่ดำเนินการในต่างประเทศ
จนถึงการรุกทางการเมืองอีกส่วนในสมัยนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ด้วยการกดดันให้มีการรื้อคดีตากใบ และขาดไม่ได้ที่จะต้องมีการรุกทางทหารคู่ขนานไปด้วย
ภาวะเช่นนี้ จึงเป็นเสมือน “ข้าศึกเปิดการรุกทั้งแนวรบ” เนื่องจากในอดีตนั้น กลุ่ม BRN ไม่สามารถเปิดการรุกทางการเมืองได้มากนัก ต่างจากในปัจจุบันที่มีการขยายแนวร่วมได้ในหลายส่วน
แน่นอนว่า การรุกที่สำคัญในขณะนี้คือ การ “รื้อคดีตากใบ” เพราะคดีนี้เป็น “คดีการเมือง-ความมั่นคง” ที่มีนัยทั้งต่อสถานะของรัฐไทยโดยตรง (ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของรัฐบาลไทยเท่านั้น) แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นคดีที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวในการเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่ม BRN และแนวร่วมกลุ่มต่างๆ โดยตรง
จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3 กรณีที่สำคัญ ได้แก่
- การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 4 มกราคม 2547
- และตามมาด้วยการปะทะที่มัสยิดกรือเซะ จังหวัดปัตตานี ในวันที่ 28 เมษายน 2547
- ต่อมาด้วยกรณีความรุนแรงที่หน้าอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ในวันที่ 25 ตุลาคม 2547
ซึ่งจะเห็นได้ว่า 2547 เป็น “จุดหักเห” ที่สำคัญของการเมือง-ความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นจุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความมั่นคงชุดใหม่ของไทยในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์
อย่างไรก็ตาม เหตุความรุนแรงก่อนปี 2547 ก็มีกรณีสำคัญ เช่น การเผาโรงเรียนพร้อมกันถึง 36 แห่งในจังหวัดภาคใต้ ในวันที่ 1 สิงหาคม 2536 หรือการวางระเบิดสถานีรถไฟหาดใหญ่ในวันที่ 7 เมษายน 2544 เป็นต้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การใช้มาตรการทางทหารด้วยการก่อเหตุความรุนแรงเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อต้านรัฐไทย และขยับในเวลาต่อมาไปสู่การก่อเหตุใหญ่ในปี 2547 อย่างคาดไม่ถึง
ดังนั้น การพิจารณากรณีตากใบในทางการเมือง จึงต้องพิจารณาในภาพที่เป็น “องค์รวม” เพราะเป็นความต่อเนื่องของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยเฉพาะเป็นความต่อเนื่องโดยตรงนับจากกรณีปล้นปืนค่ายปิเหล็ง และเหตุที่มัสยิดกรือเซะ
การแยกพิจารณากรณีตากใบแบบโดดๆ โดยละเลยต่อบริบทของสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ อาจจะทำให้มีมุมมองที่เน้นเพียงการเสียชีวิตของผู้ร่วมชุมนุม และกลายเป็นจุดอ่อนที่มองไม่เห็นภาพรวมของการก่อความไม่สงบของขบวนติดอาวุธในพื้นที่ ที่มีทั้งมิติการเมืองและการทหารรวมกันไป
การพิจารณาปัญหาในลักษณะด้านเดียวที่ละเลยภาพองค์รวมนั้น จะทำให้เกิดการละเลยสภาพแวดล้อมบางประการที่เป็นปฐมเหตุแห่งปัญหา ตลอดรวมถึงการพัฒนาของเหตุการณ์ และความพยายามของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมสถานการณ์
ฉะนั้น การยึดเอาภาพเหตุปลายทางเพียงเพื่อใช้เป็นคำอธิบายหลักของเหตุทั้งหมด จึงไม่ใช่คำตอบที่เป็นจริงของเรื่องแต่อย่างใด และทั้งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ไขว้เขวในการรับรู้ด้วย
แน่นอนว่า สำหรับรัฐไทยนั้น ปัญหาตากใบเป็น “ความเพลี่ยงพล้ำ” ทางการเมืองอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็มิใช่เกิดจากความประสงค์ของรัฐไทยที่ต้องการมุ่งทำร้ายชีวิตของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่อย่างแน่นอน
ในทางยุทธศาสตร์ ไม่มีรัฐใดจะสามารถเอาชนะการก่อความไม่สงบ ด้วยการสังหารชีวิตประชาชนในพื้นที่ที่เป็นปัญหา เพราะการกระทำเช่นนั้น จะทำให้เกิดการสูญเสียมวลชนในพื้นที่ และรัฐไทยเองก็ตระหนักเรื่องนี้อยู่พอสมควร
หากย้อนกลับไปดูในรายละเอียดจะพบว่า การชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบมีจุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับกุมจำนวน 6 คน และมีสถานการณ์คู่ขนานด้วยการจัดชุมนุมประท้วงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง 2 แห่ง ที่ปานาเระ (จังหวัดปัตตานี) และที่สุไหงปาดี (จังหวัดนราธิวาส) ซึ่งมีการกล่าวหาว่า ทหารยิงหญิงมุสลิมที่ขา แต่แพทย์ตรวจพบว่า เป็นรอยถลอก ไม่ใช่การถูกยิง
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการจัดตั้งการชุมนุมด้วยการชักชวนให้มวลชนเข้าร่วม เพื่อกดดันให้มีการถอนทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว
การชุมนุนที่ตากใบนำไปสู่การจับกุมผู้เข้าร่วมประท้วงจำนวน 1,370 คน และมีผู้เสียชีวิตในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาจำนวน 84 คน ซึ่งการเสียชีวิตดังกล่าวทำให้เกิดการจัดตั้ง “คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริงในกรณีมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อำเภอตากใบ” ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 335/2547 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547
สาระสำคัญในการตรวจสอบดังกล่าวดูจะไม่เป็นที่รับรู้กันในปัจจุบันมากนัก โดยเฉพาะกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ และสาธารณชน จึงมักทำให้เกิดความเข้าใจไปในหลายทิศทาง อีกทั้ง การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ละเลยต่อการเสียชีวิตของผู้ถูกจับกุมชาวมุสลิมแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ในปี 2548 ยังมีการฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรม จึงทำให้ศาลเปิดการไต่สวนการเสียชีวิตของผู้ถูกจับกุม โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น (พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี) เป็นจำเลย ซึ่งมีข้อมูลของการไต่สวนในคดีนี้ ที่ใช้ระยะเวลาถึง 5 ปี เป็นพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจอยู่มาก จนบัดนี้ก็ยังไม่เคยมีการนำรายละเอียดออกมาสู้ความรับรู้ของสังคม เราจึงรับรู้แต่เพียงเรื่องของการเสียชีวิตโดยไม่มีประเด็นแวดล้อม
สำหรับข้อสรุปสุดท้ายในเชิงบทเรียนของคณะกรรมการอิสระฯ คือ “เจ้าหน้าที่ไม่มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ … การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบ มายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึง และไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนี้”
พร้อมกับนำเสนอข้อพิจารณาแนบท้ายใน 3 เรื่อง คือ การสลายการชุมนุม การควบคุมและเคลื่อนย้ายผู้ถูกจับกุม และการบริหารงานในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาการชุมนุมและปัญหาภาคใต้ในอนาคต
ฉะนั้น ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาล รัฐสภา (กรรมาธิการบางชุด) ศาล (ผู้พิพากษาที่รับผิดชอบ) อัยการ กองทัพ ตำรวจ และพรรคการเมือง (บางพรรค) สมควรอย่างยิ่งที่จะนำเอกสารการศึกษาของคณะกรรมการฯ ชุดนี้มาเรียนรู้ใหม่ เพื่อที่จะทำความเข้าใจกับเหตุการณ์ตากใบ มากกว่าจะปล่อยให้เกิดการประกอบสร้างเรื่องราวขึ้นในภายหลังเพื่อหวังผลทางการเมือง
อย่างน้อยเอกสารนี้เป็นของคณะกรรมการอิสระฯ ที่มีความน่าเชื่อถือทางการเมือง เพราะไม่ใช่เป็นรายงานของรัฐบาลที่ทำขึ้นเพื่อปกป้องตนเองแต่อย่างใด !
หมายเหตุผู้เขียน : ตอนต่อไปจะสรุปการวินิจฉัยเหตุการณ์ตากใบ 11 ประการมานำเสนอ