“คดีตากใบ” กลายเป็นปัญหาที่กระแทกพรรคเพื่อไทยเข้าอย่างจัง
ไม่ใช่แค่ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลที่ต้องเร่งรัดจัดการให้นำตัวผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกศาลออกหมายจับ ถูกอัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ไปขึ้นศาลเท่านั้น
แต่ยังเป็นฐานะพรรคต้นสังกัดของ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และจำเลยที่ 1 ในคดีที่ครอบครัวผู้เสียหายยื่นฟ้องเองด้วยข้อหาฉกรรจ์ “ฆ่าโดยเจตนา” และศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องด้วย
พรรคเพื่อไทยถูกจี้ถามเรื่องนี้ เพราะคดีใกล้หมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.67 หรืออีกไม่ถึงเดือน แต่ พล.อ.พิศาล ซึ่งเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย กลับหายตัว ลาประชุม และไม่มีใครรู้ว่าอยู่แห่งใด
“บิ๊กอ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ถึงขั้นออกอาการ “ปรี๊ดแตก” มีอารมณ์หงุดหงิด หลังโดนสื่อตามซักไซ้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา
“เป็นเรื่องส่วนบุคคล และขณะนี้ไม่พบตัว อีกทั้งเป็นคดีที่เจ้าตัวต้องไปต่อสู้เพื่อยืนยันถึงความเป็นธรรม ซึ่งเป็นภาระของเรา แต่จะทำมากกว่านี้ไม่ได้ และไม่ทราบว่าแต่ละคนไปที่ไหน ก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของแต่ละคน เหมือนกับทุกคดีที่ผ่านมา หากจำเลยหนี หน้าที่เราก็ต้องตามหาตัว ก็ทำได้แค่นั้น…ถ้ารู้ว่าอยู่ในไทย คงจับหรือเชิญตัวมาได้นานแล้ว แต่ตอนนี้ไม่ทราบเลย”
“แม้แต่เรื่องภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นพี่หรือน้อง เวลาเดินทางไปไหนเขาก็ไม่ได้บอกเรา แล้วเราจะไปทราบได้อย่างไร ความสัมพันธ์ไม่ได้ระบุว่าจะต้องทราบทั้งหมด และขอย้ำว่าเป็นเรื่องของบุคคลแต่ละคนต้องตัดสินใจของตัวเอง ผมก็มองว่าต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ขณะนี้รัฐบาลมีหลายเรื่อง ปัญหาน้ำท่วมหนักกว่า”
เป็นคำอธิบายจากรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งคุมทั้งกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานด้านความมั่นคงเกือบทั้งหมด
@@ พรรคร่วมฯไล่บี้ - รธน.เปลี่ยนหลักการ
สาเหตุที่แรงกดดันถาโถมเข้าใส่พรรคเพื่อไทย เป็นเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน การจับกุมหรือดำเนินคดี สส. หรือ สว.ในระหว่างสมัยประชุมสภา ไม่ได้เป็น “เอกสิทธิ์” ของตัวสมาชิก และของสภาที่ผู้นั้นสังกัดแบบ 100% อีกต่อไป
ในอดีตหลายคนคงยังจำกันได้ เวลามี สส. หรือ สว.ถูกออกหมายจับ หรือถูกดำเนินคดีในระหว่างสมัยประชุมสภา จะต้องมีการแจ้งไปยังสภา เพื่อขอให้ส่งตัวไปดำเนินคดี ซึ่งสภาก็จะจัดประชุมและลงมติ ปรากฏว่าร้อยทั้งร้อย ยืนยันว่าเป็นเอกสิทธิ์ ไม่ส่งตัวให้ ยกเว้นตัวเจ้าตัวจะสละสิทธิ์เอง
สาเหตุที่ต้องมีการตรากฎหมายปกป้องเอกสิทธิ์ของสมาชิกรัฐสภา ก็เพราะในอดีตมีการกลั่นแกล้ง แจ้งความดำเนินคดีกันระหว่างสมัยประชุม เพื่อให้มีการจับกุมคุมขัง สกัดไม่ให้สมาชิกไปลงมติในวาระสำคัญๆ ที่ส่งผลชี้เป็นชี้ตายในทางการเมือง
แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป รัฐธรรมนูญก็ปรับตาม ทว่า สส.ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ จึงยังมีการอ้างเรื่อง “เอกสิทธิ์ 100%” กันอยู่
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และหัวหน้าพรรคประชาชาติ คือคนแรกที่ออกมาพูดว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้ให้เอกสิทธิ์ สส.แบบ 100% เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับอื่น เพราะหากถูกออกหมายจับ และการดำเนินคดีไม่กระทบกับการประชุม ก็สามารถพิจารณาไปได้เลย
พ.ต.อ.ทวี ยังยกตัวอย่างให้เห็นแนวทางการปฏิบัติ เช่น สส.หรือ สว.เข้ามอบตัว แล้วศาลให้ประกัน หรือเจ้าพนักงานเข้าควบคุมตัวในวันที่ไม่มีการประชุม แล้วให้ประกัน หากยังอยู่ในสมัยประชุม ก็จะไม่กระทบกับการประชุมสภา
คำอธิบายของ พ.ต.อ.ทวี พูดง่ายๆ คือไฟเขียวให้จับ พล.อ.พิศาล ได้นั่นเอง โดยไม่ต้องขออนุญาตสภา
เรื่องนี้ถูกยืนยันโดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 125 วรรคท้าย
“ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา”
เนื้อความในวรรคนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับอื่น คงมีเพียง 2 วรรคแรกของมาตรา 125 ที่เหมือนกันกับฉบับก่อนๆ นั่นคือการยืนยัน “เอกสิทธิ์” ของ สส. และให้อำนาจสภาเป็นผู้อนุมัติหรือไม่อนุมัติ
มาตรา 125 สองวรรคแรก บัญญัติไว้แบบนี้ “ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทําการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทําความผิด
ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะกระทําความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยพลัน และเพื่อประโยชน์ในการประชุมสภา ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับเพื่อให้มาประชุมสภาได้”
จะเห็นได้ว่า หลักการเดิมยังคงอยู่ใน 2 วรรคแรก นั่นก็คือการรับรอง “เอกสิทธิ์” ของ สส. หรือ สว. และอำนาจของสภาที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติให้จับกุม คุมขัง หรือเรียกตัวสมาชิกไปสอบสวนดำเนินคดี
แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกลับเติมวรรคท้ายของมาตรา 125 เสมือนหนึ่งเป็นข้อยกเว้น กรณีคดีอยู่ในชั้นศาล มีการฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาคดีต่อเนื่องไปได้ เพียงแต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางการประชุมของสมาชิกรัฐสภาที่ตกเป็นจำเลยเท่านั้น
@@ เปิดเจตนารมณ์ รธน. จับ-จำคุก สส.-สว.ได้ในสมัยประชุม
เรื่องนี้มีเขียนไว้อย่างชัดเจนใน “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ” ค้นดูได้ในเอกสาร “ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560”
โดยเจตนารมณ์ของการบัญญัติมาตรา 125 วรรคท้าย มีดังนี้ “ได้เปลี่ยนแปลงหลักการใหม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่เดิมกำหนดว่าศาลจะพิจารณาคดีอาญาที่สมาชิกถูกฟ้องนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ศาลถือเป็นองค์อำนาจหนึ่งของอำนาจอธิปไตย จึงควรมีอิสระในการพิจารณาคดี ไม่ควรให้ศาลต้องมาขออนุญาตต่อสภาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป
จึงกำหนดหลักการใหม่ในรัฐธรรมนูญว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญาในระหว่างสมัยประชุมได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตสภา แต่การพิจารณาคดีนั้นต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าว “ให้ศาลพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้” หมายถึง ไม่ว่าจะนอกหรือในสมัยประชุม ย่อมดำเนินคดีได้ และเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ย่อมจะส่งผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่กระทำความผิด อาจได้รับโทษจำคุกในระหว่างสมัยประชุมได้ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่กระทำความผิดอาญา ไม่อาจอาศัยความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ตนไม่ถูกดำเนินคดีได้ต่อไป”
นี่คือต้นสายปลายเหตุที่ทำให้สังคมเรียกร้องสอบถามจากพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรคการเมืองต้นสังกัดของ พล.อ.พิศาล ซึ่งควรแสดงความรับผิดชอบในการติดตามตัว หรืออำนวยความสะดวกให้กระบวนการยุติธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่ สส.พรรคประชาชน หรือ “พรรคส้ม” ก็ไล่บี้กลางสภา จนกลายเป็นประเด็นอื้อฉาว และสื่อนำไปถามรองนายกฯภูมิธรรม จนมีอาการหงุดหงิดดังกล่าว
@@ วัฏจักรตากใบ 2 ทศวรรษเพื่อไทยยังเป็นจำเลย
“เหตุการณ์ตากใบ” เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของคนชายแดนใต้ จึงมีความอ่อนไหว และหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรปล่อยให้คดีขาดอายุความ โดยไม่แสดงความพยายามส่งตัว สส.ของพรรคไปพิสูจน์ความจริงในศาล
ความน่าสนใจของ “กรณีตากใบ” ก็คือ
- เพื่อไทยกลายเป็นจำเลยในทางการเมือง ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ผ่านมา 2 ทศวรรษแล้ว
- เพื่อไทยมีชนักติดหลังในปัญหาไฟใต้อย่างล้างภาพเดิมไม่ออก
- เพื่อไทยถูกกดดันจากสังคม ครอบครัวผู้สูญเสีย และพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม รวมถึงพรรคฝ่ายเดียวกันเองอย่างพรรคประชาชาติ ซึ่งมีฐานเสียงหลักอยู่ที่สามจังหว้ดใต้
- น่าแปลกที่ “คดีตากใบ” ในขณะนี้ ไม่มีใครพูดถึงกองทัพ หรือฝ่ายทหารที่สลายการชุมนุม และเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ที่กลายเป็นโศกนาฏกรรม แต่พรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นจำเลยแทน
ที่สำคัญจำเลยและผู้ต้องหาหลักที่ถูกฟ้องในคดีตากใบ เป็นนายทหารรุ่นเดียวกัน และรุ่นใกล้เคียงกันกับผู้มีอำนาจตัวจริงในเพื่อไทย ทั้ง พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เตรียมทหารรุ่น 9 และ พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 เตรียมทหารุ่น 10
โดยอดีตนายกฯทักษิณ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ พล.อ.เฉลิมชัย และเป็นเพื่อนโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย ของ พล.อ.พิศาล ทำให้แยกความสัมพันธ์กันไม่ออก
และเพื่อไทยเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกกดดัน!