ศอ.บต.บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมมอบบัตรประจำตัวประชาชน “คนไร้สัญชาติสู่ทะเบียนราษฎรชนชาติไทย” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำสถานะและสิทธิที่พึงมีมอบให้คนไทย 5 จังหวัดชายเเดนใต้
การคืนความเป็นธรรม ตลอดจน “สิทธิที่พึงมี” ของคนไทยทุกคนปลายด้ามขวาน โดยไม่เลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติหรือศาสนา เป็นภารกิจสำคัญของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.
ดังเช่นกิจกรรมมอบบัตรประจำตัวประชาชน “คนไร้สัญชาติสู่ทะเบียนราษฎรชนชาติไทย” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่ง ศอ.บต.บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กิจกรรมนี้จัดขึ้นล่าสุดที่ อ.สุไหงโก-ลก อำเภอชายแดนของนราธิวาส โดยมี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานในพิธี, นายรอมดอน หะยีอาแว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ตลอดจนกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู, รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์, นายอำเภอสุไหงโก-ลก, นายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก, ผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมอย่างพร้อมหน้า ที่ห้องประชุมมหาราช เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก
นายกูเฮง กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อปวงชนชาวไทย ทั้งที่อาศัยอยู่ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล และคนไทยในพื้นที่แนวตะเข็บชายแดนที่เข้าไปทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย
ในการนี้ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรให้มีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานในมิติ “การคุ้มครองสิทธิและอำนวยความเป็นธรรมให้กับประชาชน” ทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิและบริการภาครัฐ และเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐให้การช่วยเหลือดูแลประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เพราะการมีบัตรประจำตัวประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสิทธิดังกล่าว และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
ดังนั้นในการแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะ ทางทะเบียนราษฎร กรณีที่ไม่สามารถหาหลักฐานหรือพยานบุคคลเพื่อยืนยันหรือพิสูจน์ความเป็นคนไทยได้ จำเป็นต้องใช้วิธีการอื่นในการแก้ไขปัญหา
@@ ตรวจ DNA ยืนยันออกสูติบัตร - เพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร - ได้บัตรคนไทย
“ปัจจุบันการตรวจสารพันธุกรรม หรือ DNA เพื่อหาความสัมพันธ์ทางสายโลหิต เป็นการตรวจ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีความน่าเชื่อถือ จึงถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการออกสูติบัตร การเพิ่มชื่อบุคคลในทะเบียนราษฎร และการออกบัตรประจำตัว ประชาชนของกรมการปกครอง”
“จากผลการดำเนินงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้ช่วยเหลือบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรให้มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประชาชน ทั้งในด้านการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานจากภาครัฐ รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมทัศนคติที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของภาครัฐด้วย” เลขาฯกูเฮง ระบุ
ด้าน นายรอมดอน หะยีอาแว ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎรนั้น ศอ.บต.ได้บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ กรมการปกครอง, ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 9, สำนักทะเบียนจังหวัด, สำนักทะเบียนอำเภอ, สำนักทะเบียนท้องถิ่น, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหา ทั้งในพื้นที่ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และสตูล รวมทั้งกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ซึ่งเป็นคนด้อยโอกาสและขาดโอกาสทางสังคม ให้มีบัตรประจำตัวประชาชนและสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของภาครัฐ โดยใช้การตรวจ DNA ยืนยันความสัมพันธ์ทางสายโลหิต เป็นเครื่องมือหรือหลักฐานประกอบการออกสูติบัตร การเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎร และการออกบัตรประจำตัวประชาชน
@@ ช่วยคนไทยตกหล่นในมาเลย์กว่าครึ่งพัน!
ทั้งนี้ การดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2567 สามารถตรวจพิสูจน์ DNA ให้กับบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรแล้วทั้งหมด จำนวน 3,602 คน แบ่งเป็นในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3,015 คน และประชาชนที่อาศัยในประเทศมาเลเซีย จำนวน 587 คน
โอกาสนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจพิสูจน์ DNA ที่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ให้บุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ได้รับบัตรประจำตัวประชาชน สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ รวมทั้งเพื่อคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยคำนึงถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยมีผู้ร้องขอมีบัตรประจำตัวประชาชนรวมถึงญาติ จำนวน 225 คน เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
@@ “กงสุลสัญจร” ช่วยกระจายข่าวถึงคนไทยพื้นที่ห่างไกล
ด้าน นายภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ที่ไม่มีบัตรประชาชนนั้น มักจะประกอบอาชีพทำสวนยางพารา อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ประกอบกับขาดความรู้ความเข้าใจในข้อมูลที่ถูกต้อง ทำให้เขาเหล่านี้อาจจะไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการเข้ามาสู่ระบบ
ที่ผ่านมาเราได้จัดกิจกรรม “กงสุลสัญจร” เพื่อลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนกลุ่มนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งหวังให้คนไทยในต่างเเดนกลุ่มนี้ สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่พึงมี พึงได้ ของความเป็นคนไทยต่อไป
@@ สุดปลื้ม “คนไทยเต็มขั้น” ลดเหลื่อมล้ำที่แท้จริง
น.ส.ฟาตีมา หะยีมามะ หนึ่งในคนไทยที่ครอบครัวได้รับสิทธิทางทะเบียน กล่าวว่า รู้สึกดีใจและต้องขอขอบคุณ ศอ.บต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากๆ ที่จัดกิจกรรมดีๆ แบบนี้ขึ้น ทำให้ลูกๆ ของตนได้มีบัตรประจำตัวประชาชน เป็นคนไทยอย่างถูกต้อง ทำให้พวกเขาได้มีสิทธิ์ของความเป็นคนไทย สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ จากทางภาครัฐได้เหมือนกันเด็กชาวไทยคนอื่นๆ
-------------------
สาเหตุของปัญหาคนไทยตกหล่นในมาเลเซีย “ทีมข่าวอิศรา” เคยทำรายงานพิเศษเอาไว้ อ่านประกอบได้ใน...
ชาวสยามในมาเลย์ (1) ไร้สัญชาติจากชายแดนใต้ ตัวตนหายที่กลันตัน