สถานการณ์ความไม่สงบที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อมานานเกือบ 21 ปีแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.5 กอ.รมน. จัดกิจกรรม “สื่อมวลชนสัมพันธ์” พาสื่อส่วนกลางลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของ “หน่วยปฏิบัติ” ทั้งทหาร ตำรวจ อส. ซึ่งรับผิดชอบงานความมั่นคง และ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รับผิดชอบงานด้านการพัฒนา
ไฮไลต์หนึ่งของกิจกรรม คือการไปเยี่ยมชมและติดตามการปฏิบัติงานของ “กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งรับผิดชอบคดีความมั่นคงของสามจังหวัดชายแดน คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาที่เป็นเขตรอยต่อ คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
“กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” เดิมคือโครงสร้าง “ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” หรือ ศชต. ซึ่งมีสถานะเทียบเท่า “กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 10” แต่ปัจจุบันได้ยุบเลิกไป และตั้งเป็น “กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้” ขึ้นตรงกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีภารกิจชัดเจนเฉพาะการป้องกันและแก้ไขการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้
คณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางได้พบกับ พล.ต.ต.นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอง ผบ.กกล.ตร.จชต.) ซึ่งได้บรรยายสรุปภารกิจให้สื่อได้รับฟัง
@@ กลุ่มต้าน พ.ร.ก.เสียงดัง ทั้งที่ จนท.-สุจริตชนอยากให้คงไว้
ประเด็นที่มีการซักถามกันมากที่สุด ก็คือ การบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีกระแสเรียกร้องจากบางฝ่ายให้ยกเลิก เพราะเป็นกฎหมายพิเศษที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชน แต่กลับบังคับใช้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 หรือเกือบ 20 ปีเต็มแล้ว ต่ออายุขยายเวลาทุกๆ 3 เดือน มาถึง 77 ครั้ง เดือน ต.ค.ที่จะถึงนี้จะพิจารณาต่ออายุครั้งที่ 78
พล.ต.ต.นิตินัย เปิดใจว่า หากถามตำรวจ ทหาร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ไม่มีใครอยากให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเป็นกฎหมายที่ช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากกลุ่มก่อความไม่สงบทำงานเป็นเครือข่าย การใช้กฎหมายปกติให้อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้แค่ 48 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถหาข้อมูลข้อเท็จจริงจากผู้ก่อเหตุรุนแรงที่เป็นเครือข่ายได้ แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้เวลาควบคุมตัว 30 วัน จึงช่วยการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้มาก ทำให้ควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ได้จนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันยังเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาซัดทอด ไม่ด่วนถูกดำเนินคดีทั้งที่อาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงด้วย
ส่วนกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการสร้างกระแสจากคนบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ที่เป็น “สุจริตชน” กว่า 80% ไม่ได้เดือดร้อนกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กระแสเรียกร้องก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง ทำให้การต่ออายุขยายเวลาการบังคับใช้แต่ละครั้ง ต้องพิจารณากันหลายด้านด้วยความรอบคอบ
ขณะนี้จึงมีแนวคิดยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมารองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ชายแดนใต้ จะได้ไม่ต้องพิจารณาต่ออายุทุกๆ 3 เดือน
“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายพิเศษ ใช้กับผู้ต้องสงสัยก่อนจะเข้ากระบวนการยุติธรรมตาม ป.วิอาญา โดยใช้หมายเชิญตัว แล้วนำเข้าสู่กระบวนการซักถาม ถ้าไม่มีความเชื่อมโยงหรือกระทำผิดตาม ป.วิอาญาก็จะปล่อยตัวกลับ แต่ถ้ามีผลความเชื่อมโยงก็จะดำเนินคดีต่อ ใช้ กระบวนการ ป.วิอาญาปกติต่อไป”
“บางคดีมันเป็นคดีเครือข่าย มีผู้เกี่ยวข้องหลายคน ต้องใช้เวลาซักถามขยายผล ก็เลยใช้กฎหมายตัวนี้มา เป้าหมายเพื่อจะห้ความยุติธรรมกับสังคม ให้ความยุติธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาพาดพิงด้วย เพราะบางคนถูกซัดทอดจากผู้ที่ก่อเหตุ แต่อาจจะไม่เกี่ยวข้องจริงๆ ก็ได้ เมื่อมีเวลาซักถาม 30 วันก็จะช่วยให้เกิดความกระจ่างมากขึ้น” รอง ผบ.กกล.ตร.จชต. ระบุ
พล.ต.ต.นิตินัย ย้ำด้วยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้เฉพาะคดีความมั่นคงเท่านั้น ส่วนคดีอาญาปกติ ก็ไม่ได้ใช้ พ.ร.ก.
@@ ครวญสร้างกระแสโจมตี จนท. ปมด่านตรวจ
พล.ต.ต.นิตินัย ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามสร้างกระแสจากประชาสังคมบางฝ่าย เช่น การเรียกร้องให้ยกเลิกด่านตรวจ ทั้งๆ ที่ข้อมูลบางอย่างที่นำมาพูด เป็นความเข้าใจที่ผิด เหมือนกับเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเฉพาะที่บอกว่า “ด่านตรวจ” มีเป็นร้อยๆ ด่านนั้น ไม่เป็นความจริง
เพราะด่านตรวจส่วนใหญ่ที่มีการพูดถึง คือการวางเครื่องกีดขวางบนถนน เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ก่อความไม่สงบเคลื่อนที่ได้อย่างเสรีเท่านั้น เมื่อไม่มีเหตุการณ์ก็จะแจ้งให้นำลงจากถนน ส่วนด่านตรวจจริงๆ มีไม่มาก และมีประสิทธิภาพในการตรวจจับคนร้าย รวมทั้งสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีเครื่องมือพิเศษประจำด่านตรวจทุกแห่ง
@@ ยันไม่เคยดำเนินคดีแต่งชุดมลายู - ชูธงปาเลสไตน์
พล.ต.ต.นิตินัย ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมามีความพยายามสร้างกระแส ให้เข้าใจเจ้าหน้าที่แบบผิดๆ มาโดยตลอด
เช่น การอ้างว่าเจ้าหน้าที่จับกุมขบวนพาเหรดของเยาวชนที่ถือธงปาเลสไตน์ ทั้งที่จริงๆ ไม่มีการจับกุมดำเนินคดี ไม่ได้มองว่าผิดกฎหมาย แต่เป็นเรื่องของความไม่เหมาะสม จึงมีการขอร้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หรือแม้แต่การกล่าวอ้างว่า มีการจับกุมเยาวชน “แต่งชุดมลายู” ที่ไปรวมตัวกันที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อ 2 ปีก่อน ก็ไม่เป็นความจริง เพราะการจับกุมดำเนินคดี เป็นเรื่องการปราศรัยยุยงปลุกปั่น และโบกธงบีอาร์เอ็น ซึ่งมีคำพิพากษาศาลฎีกาอย่างชัดเจน ส่วนการแต่งชุดมลายู ไม่ใช่เรื่องผิด และไม่เคยมีการจับกุม มีแต่ส่งเสริม
@@ “ชุดแดนไทย” โชว์ปฏิบัติการช่วยตัวประกันกลางดงระเบิด
หลังการพบปะพูดคุย ได้มีการพาสื่อมวลชนไปชมการสาธิตปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันของชุดปฏิบัติการพิเศษ “แดนไทย” กองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้เฮลิคอปเตอร์โรยตัวทีมปฏิบัติการพิเศษ เพื่อเข้าระงับเหตุร้าย จับผู้หญิงเป็นตัวประกัน มีการใช้ปืนและระเบิด
โดยทีมปฏิบัติการสามารถช่วยเหลือตัวประกันได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตัวประกันก็ปลอดภัย
----------------------------------