การจัดวางโครงสร้างตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงกลาโหม กลายเป็นคำถามสำคัญจากนักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อดังอย่าง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
โดยเฉพาะ “ทหารเก่า” ที่เลือกมาดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีความแนบแน่นกับขั้วอำนาจเดิมที่ยึดโยงกับการรัฐประหาร
น่าคิดว่านี่เป็นเหตุผลทางการเมืองของผู้มีอำนาจบางฝ่าย เพื่อสร้าง “อำนาจซ้อน” ขึ้นในกระทรวงและรัฐบาล กระทั่งมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็น “ม้าไม้เมืองทรอย” หรือต้องการจะยกระดับ “นโยบายกลาโหมไทย” ให้เท่าทันโลกสากลกันแน่
@@ นโยบายกลาโหมไทย
การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรทำให้เกิดการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไปด้วย จากรัฐมนตรีสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีภูมิธรรม เวชยชัย
ถือเป็นการเปลี่ยนตัวในสัดส่วนที่เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทยเอง และยังคงใช้แนวทางเดิมที่มี “รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน” เป็นหลัก
กระนั้น ก็มีความต่างจากในอดีตด้วยการมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งปกติแล้วมักจะเป็นที่รับทราบกันว่า กระทรวงกลาโหม และกระทรวงการต่างประเทศ จะไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เพื่อไม่ให้จำนวนรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยเกินจากเพดานที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในอดีตนั้น กระทรวงกลาโหมจะมีรัฐมนตรีช่วยต่อเมื่อนายกรัฐมนตรีอยู่ในภาวะ “สวมหมวก 2 ใบ” คือ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหมควบคู่กันไป ดังเช่นที่เกิดในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว แต่ในครั้งนี้ เป็นการควบของตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม
ดังนั้น การมีรัฐมนตรีช่วยในครั้งนี้จึงน่าสนใจว่า จะเกิดเอกภาพในการบริหารและการกำหนด “นโยบายกลาโหมไทย” ได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยนั้น ไม่ใช่เพียงแค่มาจากคนละพรรค หากยังมาจากคนละทิศทาง
โดยเฉพาะการมาของรัฐมนตรีช่วยเป็นการมาใน “แบบพิเศษ” ที่พรรคต้นสังกัดคือ พรรครวมไทยสร้างชาติถึงกับยอมสละตำแหน่งรัฐมนตรีพลเรือน เพียงเพื่อให้นายทหารท่านนี้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีช่วยกลาโหม ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่สร้างผลงานในการโฆษณาทางการเมืองให้แก่พรรครวมไทยสร้างชาติอย่างแน่นอน
การทำเช่นนี้จึงเป็นเสมือนการ “ทิ้งตำแหน่งรัฐมนตรี” ไปเลยอย่างน่าสนใจ เพราะด้วยเงื่อนไขของตัวบุคคลและตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกลาโหมนั้น ไม่ใช่ปัจจัยที่จะเป็นผลงานของพรรคสำหรับการเลือกตั้งในอนาคตได้เลย เว้นแต่จะมีคำอธิบายของความต้องการในเชิงตัวบุคคล หรือถ้าจะบอกว่ามาเพื่อเป็น “ตัวแทนทหาร” ในเรื่องของการทำโผทหาร และในเรื่องอื่นๆ นั้น ก็อาจจะไม่เป็นความจริงเท่าใดนัก
ภาวะเช่นนี้ อาจทำให้รัฐมนตรีภูมิธรรมควรต้องใส่ใจกับ “บทเรียน” ที่เกิดทั้งในสมัยของนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมยิ่งลักษณ์ กับรัฐมนตรีช่วยกลาโหมที่เป็นทหารเก่า และในสมัยรัฐมนตรีสุทินกับเลขานุการรัฐมนตรีกลาโหมที่เป็นทหารเก่าจากคณะรัฐประหารเดิม
ด้วยเหตุนี้ รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ถึงปัญหาของการบริหารกระทรวงกลาโหมในสภาวะของการมีรัฐมนตรีช่วยที่มาจาก “ทหารเก่า” ซึ่งอาจนำไปสู่สภาวะของการสร้าง “อำนาจซ้อน”
หรือบทเรียนสำคัญในสมัยของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ตำแหน่งนี้ดูจะเป็น “ม้าไม้เมืองทรอย” ของข้าศึก มากกว่าจะเป็นการเข้ามาเพื่อช่วยในการบริหารราชการกระทรวง
อีกทั้ง ในความเป็นจริงของภารกิจกระทรวงแล้ว ถ้ารัฐมนตรีกลาโหมและทีมสามารถควบคุมทิศทางของการบริหารกระทรวงได้จริงแล้วรัฐมนตรีช่วยของกระทรวงนี้ อาจมีภารกิจที่เหมาะสมเพียง “รับแขก-แจกของ” หรือเป็นการรับตำแหน่งก็เพื่อ “เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลสืบไป” ในแบบบริบทของสังคมรัฐราชการไทย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของกระทรวงกลาโหมในมุมมองของสื่อดูจะให้ความสำคัญอย่างมากกับเรื่องของ “โผทหาร” ซึ่งรัฐมนตรีภูมิธรรมและทีมอาจจะต้อง “ทำใจ” เพื่อที่จะ “ตัดใจ” เนื่องจากเหล่าทัพได้จัดทำบัญชีโยกย้ายมาตั้งแต่ในช่วงปลายของรัฐมนตรีสุทินแล้ว โอกาสที่รัฐมนตรีใหม่จะเข้ามาเป็นผู้จัดโผใหม่นั้น อาจจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย เว้นแต่จะเป็นผู้แก้เหตุขัดข้องกับโผกองทัพเรือดังที่เป็นข่าวปรากฏในสื่อ
รัฐมนตรีใหม่ในภาวะเช่นนี้อาจจะต้อง “คิดใหม่” ในเรื่องของการบริหารกระทรวงกลาโหม ที่มุ่งเน้นงาน “นโยบายด้านการทหาร” ให้เกิดทิศทางใหม่ๆ มากขึ้น มิใช่การจัดทำนโยบายแบบทหารเก่า ที่มักใช้การ “ตัด-แปะ” หรือที่เรียกด้วยภาษานิสิตปริญญาตรีเวลาทำรายงานส่งอาจารย์ว่า “cut-paste” ที่ถือเป็นงานวิชาการคุณภาพต่ำ เพราะเป็นการ “ลอกงานเก่า” ในอีกรูปแบบหนึ่ง
อีกทั้ง นโยบายใหม่นี้ต้องไม่ใช่ทำแบบกิจกรรม “แถลงผล วปอ.” เพราะหลายครั้งที่พบว่า ผลงานที่นำเสนอเกิดขึ้นมาจากการทำงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วย มากกว่าจะเป็นการค้นคว้าวิจัยในมิติทางวิชาการอย่างแท้จริงของผู้เข้าเรียน ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่ามีนายทหารไม่กี่คนเท่านั้นที่เรียนอย่างจริงจัง ซึ่งผลงานเช่นนี้อาจจะไม่เป็นประโยชน์มากนักที่ใช้ในการวางกรอบยุทธศาสตร์ทหาร และยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ
สำหรับปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งรีบคือ การออกคำสั่งให้กองทัพเข้าไปทำหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในยามที่ประสบภัยพิบัติขนาดใหญ่ ที่จะต้องประสานกับทางกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะการจัดงบประมาณด้านน้ำมันให้แก่หน่วยทหาร ซึ่งอาจนำมาจากงบของจังหวัดที่ประสบภัย และการจัดความช่วยเหลือนี้ จะเป็น “งานสาธารณะ” ชิ้นแรก ที่รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่และนายกฯคนใหม่จะต้องแสดง
นอกจากนี้ การจัดทำนโยบายกลาโหมในท่ามกลางสถานการณ์ความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปัจจุบันนั้น เป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่ง และหากรัฐมนตรีภูมิธรรมและทีมสามารถขับเคลื่อน และนำพากระทรวงกลาโหมไทยไปสู่ “ทิศทางใหม่” ในมิติทางทหารได้จริงแล้ว สิ่งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนากิจการทหารไทยในอนาคตอย่างแน่นอน …
คงต้องยอมรับว่า สงครามสมัยใหม่ในเวทีโลกเดินเลย (ความเข้าใจของผู้นำ) กองทัพไทยไปไกลมากแล้ว!