คดีตากใบงอกมาอีกคดีช่วงท้ายก่อนขาดอายุความ
นั่นก็คือคดีที่เรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า “คดีขาดอากาศหายใจ”
ในทางกฎหมาย ป.วิอาญา คดีนี้คือ “คดีวิสามัญฆาตกรรม”หมายถึงคดีที่พบผู้เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมโดยเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ อำนาจพิจารณาสั่งคดีประเภทนี้อยู่ที่ “อัยการสูงสุด” เท่านั้น
ในทางข้อเท็จจริง “คดีขาดอากาศหายใจ” ก็คือคดีที่ผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ตากใบ แล้วถูกจับกุมนับพันคน ไปเสียชีวิตบนรถบรรทุกถึง 78 ศพ จากพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ที่จับผู้ชุมนุมถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง แล้วนำขึ้นรถแบบแออัด เพื่อไปส่งยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจากจุดเกิดเหตุที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกือบ 200 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมง
อัยการสูงสุดมองว่า เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบปฏิบัติการนี้ สมควรรู้ว่าการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมแบบนี้อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตตามมา เพราะผู้ชุมนุมมีมากกว่า 1,000 คน แต่ใช้รถบรรทุกเพียง 25 คันในการเคลื่อนย้าย อัยการสูงสุดจึงมีความเห็นสั่งฟ้องในข้อหา “เจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผล”
เป็นการสั่งคดีสวนทางกับความเห็นของพนักงานสอบสวน สภ.หนองจิก ท้องที่เกิดเหตุและพบเหตุการตาย ซึ่งลงความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง”
รายชื่อผู้ต้องหา 8 คนที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้อง ปรากฏว่า 6 คนเป็นทหารชั้นผู้น้อย และบางคนไม่มียศทหาร อาจมีสถานะเป็นลูกจ้างพลเรือนของกองทัพ เพราะทั้งหมดคือ “พลขับ” ที่ขับรถบรรทุกคันที่พบผู้เสียชีวิตขณะเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม
ด้วยเหตุนี้ สปอตไลต์จึงโฟกัสไปยังผู้ต้องหาที่เหลืออีก 2 คน ซึ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ยศ “นายพัน” ขึ้นไป นั่นก็คือ
- พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร
- พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ
อัยการสูงสุดระบุในคำฟ้องว่า พล.อ.เฉลิมชัย คือผู้สั่งการให้นำผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ขึ้นรถบรรทุกเคลื่อนย้ายในสภาพแออัด ส่วน พ.ท.ประเสริฐ เป็นผู้ควบคุมขบวนรถ
ในคำฟ้องไม่ได้ระบุตำแหน่งขณะเกิดเหตุของผู้ต้องหาทั้งสองคน “ทีมข่าวอิศรา” จึงไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้สังคมทราบว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเคยดำรงตำแหน่งใด และเส้นทางชีวิตราชการหลังจากเกิดเหตุการณ์ตากใบเป็นอย่างไร
เริ่มจาก พล.อ.เฉลิมชัย ขณะเกิดเหตุมียศ “พลตรี” ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) ซึ่งเป็นกองพลทหารราบที่รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
พล.อ.เฉลิมชัย เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท.10) รุ่นเดียวกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.ไตรศักดิ์ อินทรรัสมี หรือ “บิ๊กหมี” เลขานุการ รมว.กลาโหม ภูมิธรรม เวชยชัย
นอกจากนั้น พล.อ.เฉลิมชัย ยังมีความสนิทแนบแน่นกับ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 9 อีกด้วย และปัจจุบัน พล.อ.พิศาล เป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีอดีตนายกฯทักษิณ เป็นดั่งผู้นำจิตวิญญาณ
อดีตนายทหารที่รู้จักกับ พล.อ.เฉลิมชัย เล่าว่า นายทหารรายนี้เป็นคนดี ทุ่มเทเรื่องการทำงานอย่างมาก เหตุการณ์ตากใบถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น และจริงๆ แล้ว ตัวของ พล.อ.เฉลิมชัย เองก็ได้รับบาดเจ็บ ศีรษะแตกจากการถูกผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของด้วย
หลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ พล.ต.เฉลิมชัย ยศในขณะนั้น ถูกเด้งเข้ากรุไปเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก แม้ภายหลังยศจะขยับขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นพลเอก แต่ก็ไม่ได้กลับมาดำรงตำแหน่งหลักในกองทัพอีกเลย
สำหรับ พล.อ.เฉลิมชัย เป็นผู้ต้องหาคนเดียวในคดีตากใบสำนวนนี้ ที่ตกเป็นจำเลยในคดีตากใบอีก 1 สำนวนที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บยื่นฟ้องเอง และศาลจังหวัดนราธิวาสประทับรับฟ้องเอาไว้
คดีนั้นมีจำเลย 7 ราย หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.เฉลิมชัย ซึ่งขณะนี้ถูกศาลออกหมายจับให้ไปสอบคำให้การในวันที่ 15 ต.ค.2567 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาสด้วย
ส่วน พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ไม่มีข้อมูลขณะเกิดเหตุที่ชัดเจนว่ายศและตำแหน่งอะไร
แต่จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มทางอินเทอร์เน็ต พบว่า ปี 2552 เป็น ผบ.ร้อย ทพ.4507 (ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 4507)
ต่อมาปี 2563 เป็นเสนาธิการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 (เสธ.ฉก.ทพ.45)
กระทั่งปี 2565 มีสถานะเป็นนายทหารนอกราชการ