ศอ.บต.เปิดเวทีถอดบทเรียน รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ตะลุยแก้ปัญหายาเสพติดให้หมดไปในพื้นที่ชายแดนใต้ เน้นชุมชนเป็นต้นแบบ “พื้นที่ปลอดภัย” เปิดผลสำรวจหลังรัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้น 90 วัน 25 จังหวัดนำร่อง ประชาชนพึงพอใจมากขึ้น ยอดจับยาปี 67 จ่อทะลุ 1 พันล้านเม็ด
เมื่อเร็วๆ นี้ นายยู่สิน จินตภากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนเครือข่ายผู้นำชุมชน ผู้นำจิตอาสาในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมี นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นางสาวเกษร บุญถนอม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด วิสาหกิจชุมชน ผู้แทนจากสมาคมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และผู้แทนจากสมาคมดาหลาพัฒนาพี่น้องไทย จำนวน 400 คน เข้าร่วมกิจกรรม ที่โรงแรม หรรษา เจบี หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
นายยู่สิน กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประชาคมโลก ซึ่งประชาชนวัยรุ่นถูกยาเสพติดทำลายจำนวนมาก ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตมาทำลายสมอง จนทำให้เกิดโรคสมองติดยา โดยการนำเข้าของผู้ที่ไม่มีจิตใจความเป็นมนุษย์ คือ นักค้ายาเสพติด
ดังนั้นการที่ทุกฝ่ายมารวมตัวกันในวันนี้ ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องระดมสมองในการหาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากชุมชนให้ได้ นับเป็นองค์ความรู้ใหม่และเป็นสิ่งท้าทาย หากทำได้สำเร็จจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ในอนาคต
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอปัญหาและความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยแบ่งเป็นหัวข้อประกอบด้วย
- ปัญหาที่ประชาชนจัดการเองได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปสนับสนุน หนุนเสริม เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมอาชีพต่างๆ ที่มีความเหมาะสมและตรงตามความต้องการของพื้นที่
- ปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถจัดการเองได้ คือต้องการให้ภาครัฐเข้าไปดำเนินการหรือจัดการให้ เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุน ปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้แทนแต่ละจังหวัดได้ร่วมกันสะท้อน เสนอความคิดเห็น แนวทางแก้ไขปัญหาในมิติของสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ของแต่ละชุมชน
การจัดประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ก.ย.67 ซึ่งภายในงานมีการเสวนาในเรื่องของพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีบทบาทและประสบการณ์ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ประกอบด้วย นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายมนตรี ศรีสมัย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ปปส.ภาค 9 และ นางสาวจณิสตา จุลสวรรณ์ รักษาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด โดยมี นางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา เป็นผู้ดำเนินรายการ
@@ คนไทยเริ่มพอใจปราบยา - ยอดจับทะลักพันล้านเม็ด
นโยบายปราบยาเสพติดให้สิ้นซาก เป็นอีกหนึ่งนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคอดีตนายกฯเศรษฐา ทวีสิน จนถึงยุคนายกฯแพทองธาร ชินวัตร โดยผู้รับผิดชอบหลักเป็นคนเดียวกัน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
ช่วงที่ผ่านมามีการเปิดปฏิบัติการใช้มาตรการเร่งด่วน เข้มข้น 25 จังหวัดนำร่อง 90 วัน หรือ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ถึง 31 ส.ค.67
ปรากฏว่า หลังจากเปิดปฏิบัติการ 25 จังหวัดนำร่อง ได้มีการสำรวจความพึงพอใจของพี่น้องประชาชน พบว่า ในพื้นที่นำร่อง ประชาชนพอใจการทำงานของรัฐบาลมากขึ้น
สัดส่วนความพึงพอใจ อยู่ที่ร้อยละ 87.2 แบ่งเป็นพอใจมาก ร้อยละ 42.8 และพอใจปานกลาง ร้อยละ 37.8
แต่ความน่ากังวล และความยากของปัญหานี้ัคือ จำนวนผู้เสพ ยังไม่รวมผู้ค้าที่ไม่ได้เป็นผู้เสพ มีมากถึงกว่า 550,000 คน แบ่งเป็น
ผู้เสพในระบบ หมายถึงอยู่ในระบบสาธารณสุข คือ บำบัดอยู่ และอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เช่น ถูกฟ้อง ถูกคุมประพฤติ มีทั้งสิ้น 327,314 คน
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ คือ ผู้เสพนอกระบบ เป็นข้อมูลจากการเอกซเรย์หาข่าวของตำรวจ ยังมีอีก 232,680 คน
นอกจากนั้นยังมีกลุ่มนักโทษเด็ดขาดในเรือนจำ คดีจบแล้ว เป็นผู้จำหน่ายยาเสพติด อีกกว่า 100,000 คน
สำหรับการจัดงบประมาณสำหรับปฏิบัติการเร่งด่วนปราบยาเสพติด 25 จังหวัดนำร่อง ใช้งบไปทั้งสิ้น 130.8 ล้านบาท ส่วนใหญ่หรือกว่า 50% ใช้ไปกับงานบำบัดผู้เสพ
นอกจากความน่ากลัวของจำนวนผู้เสพ ยังน่าตกใจเกี่ยวกับ “ของกลางยาเสพติด” เฉพาะที่ยึดได้ โดยในปีงบประมาณ 2567 นับตั้งแต่ 1 ต.ค.66 ถึงปัจจุบัน อยู่ที่ 926 ล้านเม็ด หรือเกือบ 1,000 ล้านเม็ด พุ่งสูงกว่าปี 66 กว่าเท่าตัว
ส่วนยาเสพติดประเภทอื่น ทั้งโคเคน ไอซ์ เคตามีน ก็มียอดจับกุมสูงขึ้นเช่นกัน
@@ ชูยุทธศาสตร์ “มุ่งบำบัด” ลดดีมานด์ - ยกวาระภูมิภาค
ยาเสพติดเยอะขนาดนี้ พ.ต.อ.ทวี บอกว่า ไม่ได้ผลิตในประเทศไทยเลยแม้แต่เม็ดเดียว เพราะปัจจุบันสามารถตรวจสอบที่มาในเชิงนิติวิทยาศาสตร์ได้ แต่ยาเสพติดทั้งหมดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสามเหลี่ยมทองคำ
โดยตัวเร่งการผลิตยา คือการสู้รบกัน มีสงครามกลางเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องมีการค้ายาเพื่อหาเงินไปซื้ออาวุธ ยาเสพติดจึงทะลักเข้าประเทศรอบข้าง รวมทั้งไทย
ฉะนั้นยุทธศาสตร์หลังจากนี้ คือ
1.ยกปัญหานี้เป็น “วาระภูมิภาค” ต้องร่วมมือกันทุกประเทศเพื่อสกัดยาเสพติด
2.สกัดการเคลื่อนย้ายเคมีภัณฑ์ ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด
3.ลดดีมานด์ภายในประเทศ ด้วยการแก้ปัญหาผู้เสพ ต้องบำบัดรักษา ไม่ให้กลับไปเสพซ้ำ
4.พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือนักโทษในเรือนจำ ให้มีอาชีพ ติดอาวุธทางปัญญา ให้ทุกคนได้รับการศึกษาจนจบภาคบังคับ จะได้กลับไปเป็นคนดี ส่งคืนสู่สังคม เพื่อลดการกระทำผิดซ้ำ