“ประธานวันนอร์” ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ มองต่างรัฐมนตรียุติธรรม กรณีศาลออกหมายเรียก “อดีตแม่ทัพภาค 4” จำเลยที่ 1 คดีตากใบ ซึ่งเป็น สส.พรรคเพื่อไทย ย้ำชัดต้องขึ้นกับที่ประชุมสภาจะอนุญาตให้ส่งตัวหรือไม่
ความเห็นนี้ไม่สอดคลัองกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ให้สัมภาษณ์วันเดียวกัน คือ วันที่ 17 ก.ย.67 อ้างรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรคท้าย โดยยืนยันว่าหากศาลออกหมายจับ ตำรวจย่อมสามารถจับกุมได้ตามอำนาจ โดยไม่ต้องขออนุญาตสภา
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เขียนแยกอำนาจนิติบัญญัติกับตุลาการเอาไว้ชัดเจน เพียงแต่การดำเนินคดีสมาชิกรัฐสภาระหว่างสมัยประชุม ต้องไม่กระทบกับการประชุมเท่านั้น โดยนัยที่ พ.ต.อ.ทวี ตีความรัฐธรรมนูญก็คือ จับกุมได้ และศาลก็ให้ประกันตัว เพื่อให้คดีเดินหน้า แต่ไม่กระทบกับการประชุมสภา
@@ รอหมายจากศาล จ่อเปิดสภาพิจารณา
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ในเวลาต่อมาว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือจากศาลส่งมาที่ตนเอง ทราบว่าศาลได้เตรียมออกหมายเรียก แต่สภายังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว ซึ่งหากสภาได้รับเอกสารแล้ว สภาก็จะรีบพิจารณาโดยเร็ว
พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีการรับฟังนโยบายจากพรรคเพื่อไทย หรือฝ่ายใดๆ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่ประกาศใช้ ยังไม่เคยมีกรณีในลักษณะนี้มาก่อน
@@ ยกเคส “อดิศร” ดำเนินคดีแต่ไม่มีจับกุม
“หากศาลเห็นว่าจะต้องดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุม หรือนอกสมัยประชุม สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อการประชุมสมาชิกรัฐสภา หรือไปรบกวนการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถือเป็นเนื้อหาใหม่ที่เติมเข้าไปในรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อให้เห็นว่าอำนาจนิติบัญญัติ กับอำนาจตุลาการนั้นแยกออกจากกัน”
“ยกตัวอย่าง กรณีศาลจังหวัดพัทยา ในคดีของ คุณอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็มีการดำเนินคดี แต่ไม่ได้มีการจับกุม หรือนำตัวคุณอดิศรไป แต่ส่งทนายไปเป็นตัวแทน เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะดำเนินการอย่างไร” ประธานสภาผู้แทนราษฎร อธิบาย
ส่วนกรณีที่ พล.อ.พิศาล วัฒนพงษ์คีรี จำเลยที่ 1 ในคดีตากใบ ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็น สส.พรรคเพื่อไทย ได้ลาประชุมไปในระยะหนึ่งนั้น นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่า ตามขั้นตอนหนังสือลาประชุมไม่ได้ถูกส่งมาที่ตน เพราะโดยปกติจะถูกส่งไปที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาเหตุผลของการลา ซึ่งเป็นสิทธิ์ของ สส.
@@ เลขาฯสภา ย้ำชัด จับ สส.-สว. ต้องขออนุมัติ
ด้าน ว่าที่ร้อยตำรวจตรีอาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงเพิ่มเติมกรณีศาลจังหวัดนราธิวาสมีหนังสือมาถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอจับกุมดำเนินคดีกับสมาชิกรัฐสภาว่า หากฝ่ายตุลาการจะดำเนินการใดๆ ในสมัยประชุม จะต้องขออนุญาตจากสภาก่อน และจะมีการทำหนังสือถึงประธานสภา ให้เปิดประชุมสภาเพื่อพิจารณาว่า จะให้ส่งตัวไปดำเนินคดีได้หรือไม่
พร้อมยังได้ยกตัวอย่างคดีในอดีตที่สมาชิกรัฐสภาประสงค์ไม่ใช้เอกสิทธิ์คุ้มกัน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในคดี แต่ตามปกติที่ประชุมรัฐสภาจะไม่อนุญาตให้ส่งตัวในสมัยประชุม เนื่องจากจะต้องมองภาพรวมในสถาบันนิติบัญญัติว่า ต้องมีหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ในสมัยประชุม แม้ตัวสมาชิกจะประสงค์สละสิทธิ์ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะอนุญาตหรือไม่
สำหรับหนังสือขอลาประชุมของ พล.อ.พิศาล นั้น เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะต้องไปตรวจสอบที่สำนักบริหารงานกลาง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อดูในรายละเอียดต่อไป