การขับเคลื่อนพลังทางสังคม คือภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีปลายทางคือ สันติภาพ สันติสุข และความอยู่ดีกินดี
แต่การที่สังคมปลายด้ามขวานจะมีพลังได้นั้น ประชาชนต้องมีสุขภาพดี และห่างไกลจากยาเสพติด
เหตุนี้เอง การแก้ไขปัญหายาเสพติดจึงเป็น “วาระชายแดนใต้” ที่ต้องทำให้สำเร็จ
ที่สำคัญพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ชายแดน ซึ่งโดยปกติก็เป็นแดนสวรรค์ของธุรกิจสีเทา ผิดกฎหมายต่างๆ อยู่แล้ว ฉะนั้นการร่วมแรงร่วมใจระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกัน และการร่วมไม้ร่วมมือของพี่น้องประชาชน จึงจะทำให้ภารกิจนี้ลุล่วง
และที่จะขาดเสียไม่ได้เลยก็คือ เจตจำนงที่แน่วแน่ของรัฐบาล
โดยภารกิจการแก้ไขปัญหายาเสพติดในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหอก
พ.ต.อ.ทวี เพิ่งแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา ประกาศยกระดับปัญหายาเสพติดเป็น “วาระแห่งภูมิภาค” เพราะประเทศไทยไม่ใช่แหล่งผลิต แต่ยาเสพติดข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และส่งผลกระทบไม่ต่างกันในหลากหลายประเทศ จึงต้องร่วมมือกัน
ขณะที่การแก้ไขปัญหาภายในต้องลด “ดีมานด์” หรือความต้องการยาเสพติด ด้วยการทำให้ผู้เสพเหลือน้อยที่สุด ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ก็คือการบำบัดและฟื้นฟูผู้เสพยา ก่อนส่งคืนสู่สังคมและชุมชน
พื้นที่เป้าหมายสำคัญของ พ.ต.อ.ทวี ในการจัดการปัญหายาเสพติด คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะเป็นทั้งพื้นที่แพร่ระบาด และมีปัญหาความมั่นคง จึงต้องเฝ้าระวังไม่ให้ขบวนการค้ายาเป็น “ภัยแทรกซ้อน” ซ้ำเติมสถานการณ์ความไม่สงบ
เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ก.ย.67 พ.ต.อ.ทวี เดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากเพิ่งเข้าทำงานที่กระทรวงวันแรก เมื่อ 1 วันก่อนหน้า โดยทำหน้าที่เป็นประธานเปิดกิจกรรม “รวมพลังมวลชนจิตอาสา ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เด็ก และเยาวชน ร่วมประกาศเป้าหมายต้านภัยยาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” พร้อมทั้งเปิดสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบ้านดาหลา (ปอเนาะเกาะแลหนัง) ที่บ้านเกาะแลหนัง ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา
โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม กับ ศอ.บต.และประชาชนจิตอาสา
ภายในงานจึงมี นางสาวอารีภักดิ์ เงินบำรุง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. และประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ เข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยเป็นการขับเคลื่อนงานร่วมกันระหว่าง ศอ.บต.กับ สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 9
@@ มวลชนจิตอาสา ประกาศ 5 พันธกิจ
โอกาสนี้ มวลชนจิตอาสา "ดาหลาบารู" ได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนงานแก้ปัญหายาเสพติดในปี 2568 จำนวน 5 ข้อ ได้แก่
1.ประกาศเจตนารมณ์จิตอาสาแก้ไขปัญหายาเสพติด จำนวน 1,000 หมู่บ้าน 3,000 คน
2.อาสาร่วมป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้เป็นผู้เสพรายใหม่ 100,000 คนในปี 2568 พร้อมกำหนดเป้าหมาย 300,000 คน ในปี 2570
3.อาสาช่วยเหลือผู้เสพเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา ไม่น้อยกว่า 3,000 คน ในปี 2568 และเพิ่มขึ้นในทุกปี
4.อาสาติดตามผู้ผ่านการบำบัดไม่ให้หวนกลับไปเสพซ้ำ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของผู้เข้ารับบำบัด
5.อาสารณรงค์ให้เลิกใช้พืชกระท่อมด้วยมาตรการชุมชนและหลักศาสนา
@@ “ทวี” ลั่น “กระท่อม-กัญชา” ต้องเป็นยาเสพติด
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์แก้ปัญหายาเสพติด ทำมาหลายทศวรรษ แต่มาประสบความสำเร็จในปี 2546 สมัยอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำประเทศ
“แต่วันนั้นเราจับยาบ้าได้แค่ 70 ล้านเม็ดเอง ปราบอย่างเต็มที่นะ วันนี้ 1,000 ล้านเม็ด ถือว่าเยอะมาก แสดงว่าเราเดินทางในสายที่ใช้เด็ดขาดอย่างเดียวไม่พอ สิ่งที่เราจะต้องทำคือเรื่องของการป้องกัน การลดทอนอันตราย การใช้ยาเสพติดก็ต้องใช้หมอ ใช้กฎหมาย ถ้าลดทอนกัญชากับกระท่อม ก็ต้องออกกฎหมายให้กัญชากับกระท่อมเป็นยาเสพติด หรือเป็นวัตถุต้องห้าม เมื่อใครครอบครองต้องมีโทษ เพราะวันนี้ในภาคใต้ของเรา ปัญหากัญชากับกระท่อมเป็นปัญหาใหญ่”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า จะนำ 5 ข้อที่มวลชนจิตอาสานำเสนอ ไปใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม แต่ 5 ข้อนี้ยังไม่พอ เพราะต้องคิดไกลกว่าแก้ไขปัญหายาเสพติด
“แค่เราไม่ติดยาเสพติด มีร่างกายสมบูรณ์แล้ว เราก็ยังสู้เขาไม่ได้เลย วันนี้เราจะต้องสร้างเศรษฐกิจ มีรายได้ที่เพียงพอ ทั้งพออยู่และพอเพียง เป็นคนมือบนไม่ใช่เป็นมือล่าง เราจะทำอย่างไรให้ถึงจุดนั้นได้”
“เมื่อวานประกาศนโยบายในสภา วันนี้มาในพื้นที่ ก็ถือว่าได้ทำงานวันแรก ก็ได้มาพบกับพี่น้อง มาหารือเรื่องสำคัญ เรื่องยาเสพติด ก็ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ เป็นเรื่องที่เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา”
@@ เปิดอก...เล่าความทุกข์ของคนปราบยา
ไฮไลต์ของการขึ้นกล่าวบนเวทีของ พ.ต.อ.ทวี คือการเปิดใจถึงความทุกข์ของตัวเองในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งสร้างความสนใจให้กับเยาวชน และมวลชนจิตอาสาอย่างมาก
“ยาเสพติดมีปัญหาเรื่องการรักษาและฟื้นฟู การรักษาในระบบปกติทำไมถึงทำไม่ได้ ทั้งๆ ที่รัฐมีโรงพยาบาลทั่วทุกแห่ง มี รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) ทุกตำบล แสดงว่าการรักษากับหมอ ประชาชนไม่มั่นใจ จึงต้องมารักษาที่นี่ ซึ่งเป็นศูนย์บำบัด นี่คือความทุกข์ของผม”
@@ ผิดทาง...จับคนเข้าคุก หนุนใช้จิตอาสาดูแลชุมชน
“และความทุกข์อีกอันหนึ่ง ก็คือเรามุ่งแต่บังคับใช้กฎหมาย มุ่งแต่จะจับกุม เรากำลังเนรเทศคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นลูกหลานของเราไปสู่ในดินแดนแห่งหนึ่ง ดินแดนที่เขาไม่มีปากเสียงเลย เป็นดินแดนของคนต้องห้าม เป็นดินแดนของคนที่ถูกมองว่าชั่วร้าย ทั้งๆ ที่เขาเป็นลูกของเรา บางครั้งการจับกุมโดยใช้ความรุนแรงจัดการ”
“แล้วเราก็พบว่าวันนี้ปี 2567 เราจับกุมยาบ้าได้เกือบ 1,000 ล้านเม็ด ขณะปีที่แล้ว 400 ล้านเม็ด แสดงว่าเราเดินทางผิดหรือไม่ เราทุ่มงบไปกับการบังคับใช้กฎหมาย การปราบปราม ยิ่งทำให้ยาเสพติดยิ่งเยอะ”
“จึงคิดว่า 5 ข้อเสนอที่ชุมชนได้เสนอ ถ้าเรามีจิตอาสาสามารถจะเข้าไปแก้ไขผู้เสพ ผมคิดว่านี่คือทางสำเร็จ ถ้าไปใช้แต่กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย น่าจะใช้เงินเป็นแสนล้าน เราไปใช้เงินด้านนี้หมด วันนี้จึงบอกว่าผมได้พบหลักฐานใหม่ ความรู้ใหม่ และเป็นความรู้ที่เกิดจากความรัก จากจิตอาสา”