นัดสอบคำให้การครั้งแรกคดีตากใบ ที่ศาลจังหวัดนราธิาส ช่วงเช้าไม่มีจำเลยไปศาลเลยทั้ง 7 คน
เมื่อยังไม่ได้ตัวจำเลยไปยื่นฟ้องต่อศาล ทำให้อายุความคดีตากใบยังเดินอยู่ ซึ่งคดีจะขาดอายุความวันที่ 25 ต.ค.67 ที่จะถึงนี้ แม้ศาลจะประทับฟ้องแล้วก็ตาม
จำเลยที่ถูกจับตามากที่สุดคือ พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และปัจจุบันเป็น สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเอกสิทธิ์คุ้มครองระหว่างสมัยประชุมสภา
ขณะที่สมัยประชุมสภาครั้งนี้ จะปิดสมัยปลายเดือน ต.ค. ซึ่งล่วงเลยอายุความคดีตากใบไปแล้ว หาก พล.อ.พิศาล ใช้เอกสิทธิ์ ไม่ไปขึ้นศาล ก็อาจทำให้คดีขาดอายุความในส่วนของ พล.อ.พิศาล ในฐานะจำเลยที่ 1 ไปเลย
สส.พรรคประชาชน จึงออกมาเรียกร้องเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ให้จำเลยทุกคนไปศาล เพื่อให้คดีเดินหน้า พิสูจน์ความจริงที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลของคนในพื้นที่ชายแดนใต้บางส่วนมานานเกือบ 20 ปี โดยเฉพาะ พล.อ.พิศาล ซึ่งถือเป็นจำเลยสำคัญในคำฟ้อง และเป็น สส.พรรคแกนนำรัฐบาล
@@ รู้จักเอกสิทธิ์ สส. เจตนารมณ์ กับ ความจริง
อนึ่ง ความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาหมายถึงความคุ้มกันที่รัฐธรรมนูญให้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่จะไปประชุมสภาตามหน้าที่โดยไม่อาจถูกจับ คุมขัง หรือ ดำเนินคดีใดๆ ในลักษณะที่จะขัดขวางต่อการไปประชุม เมื่อพ้นเวลาที่จะต้องไปประชุมสภาแล้ว ถือว่าความคุ้มกันก็หมดไป
มีรายงานว่าศาลจังหวัดนราธิวาสได้ออกหมายเรียก พล.อ.พิศาล ไปเเล้ว เพื่อให้ไปตามนัดสอบคำให้การในวันที่ 12 ก.ย.
สำหรับเเนวทางปฏิบัติคือ หาก พล.อ. พิศาล เเละจำเลยคนอื่นไปตามนัดสอบคำให้การ ก็ถือว่าตัวเข้าสู่อำนาจศาลก่อนที่จะหมดอายุความการพิจารณาคดีก็จะเป็นไปตามขั้นตอนปกติ
เเต่หากในวันที่ 12 ก.ย.จำเลยคนใดไม่ไปตามนัดสอบคำให้การ ศาลก็มีอำนาจที่จะออกหมายจับ เนื่องจากถือเป็นการขัดหมายเรียก
ในส่วน พล.อ.พิศาลที่มีเอกสิทธิ์คุ้มกัน ซึ่งศาลยังไม่สามารถออกหมายจับได้ทันที หากไม่ไปตามนัดสอบคำให้การ ศาลก็จะส่งหนังสือขอตัวไปยังประธานสภาผู้เเทนราษฎร เพื่อพิจารณาส่งตัวจำเลยไปตามนัดสอบคำให้การ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นอำนาจประธานสภาที่จะวินิจฉัย
โดยประธานสภาผู้เเทนราษฎรก็จะถามไปยัง พล.อ.พิศาล ว่าจะใช้เอกสิทธิ์คุ้มกันหรือไม่ ซึ่งหาก พล.อ.พิศาล ยังขอใช้เอกสิทธิ์คุ้มกัน ก็ขึ้นอยู่กับประธานสภาที่จะวินิจฉัย และเรียกประชุมสมาชิกเพื่อลงมติ
หากที่ประชุมวินิจฉัยอนุญาตให้ส่งตัว ทางศาลก็จะสามารถออกหมายจับ พล.อ.พิศาล เพื่อสอบคำให้การเเละนำตัวเข้าอยู่ในอำนาจศาลโดยไม่มีอายุความต่อไปได้ เเต่หากที่ประชุมวินิจฉัยว่า จะยังไม่ส่งตัว พล.อ.พิศาล ก็จะมีเอกสิทธิ์คุ้มกันจนกว่าจะหมดสมัยประชุมสภา หลังจากนั้นจึงจะออกหมายจับได้ภายในอายุความ
เอกสิทธิ์คุ้มกันสมาชิกรัฐสภาที่ว่านี้ บัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 125 ระบุว่า “ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามมิให้จับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวสมาชิก สภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาไปทำการสอบสวนในฐานะที่สมาชิกผู้นั้นเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะกระทำความผิด
ในกรณีที่มีการจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในขณะกระทำความผิด ให้รายงานไปยังประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกโดยพลัน และเพื่อประโยชน์ในการประชุมสภา ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกอาจสั่งให้ปล่อยผู้ถูกจับเพื่อให้มาประชุมสภาได้ ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาอยู่ก่อนสมัยประชุม เมื่อถึงสมัยประชุม พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี ต้องสั่งปล่อยทันที
ถ้าประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้ร้องขอ โดยศาลจะสั่งให้มีประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา“
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้ ซึ่งเนื้อหาใกล้เคียงกันมีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ด้วย ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง สส.ไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยการแจ้งให้จับกุมดำเนินคดี เช่น ในวันลงมตินัดสำคัญ หรือกดดันไม่ให้ทำหน้าที่หรืออภิปรายได้ตามที่ต้องการ เป็นต้น
@@ ศาลนราฯออกหมายจับจำเลยไม่ไปศาล
“ทีมข่าวอิศรา” รายงาน ณ เวลา 11.25 น. จากศาลจังหวัดนราธิวาสว่า ไม่มีจำเลยคดีตากใบไปปรากฏตัวต่อศาลเลย
ทำให้ศาลสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 3, 4, 5, 6, 8, 9 ส่วนจำเลยที่ 2 กับ 7 ยกฟ้องไปก่อนแล้ว พร้อมทั้งนัดสอบคำให้การอีกครั้ง วันที่ 15 ต.ค.67
สำหรับ พล.อ.พิศาล สส.พรรคเพื่อไทย เนื่องจากมีเอกสิทธิ์คุ้มกัน เพราะอยู่ในสมัยประชุมสภา ศาลยังไม่มีอำนาจออกหมายจับ จึงให้ส่งหนังสือขอประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งตัว เพื่อสอบคำให้การตามนัดต่อไป