ศอ.บต. จับมือ รมว.ยุติธรรม ดึงพลังผู้นำสตรี 60 ตำบลชายแดนใต้ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด “พ.ต.อ.ทวี” ประกาศสนับสนุนเต็มสูบ มั่นใจความรัก ความอบอุ่นของความเป็นแม่ จะเป็นพลังสำคัญในการเอาชนะยาเสพติด ขณะที่ผู้แทนชุมชนสะท้อนปัญหา แนะรัฐอุดช่องโหว่ยานรกทะลักท้องถิ่น
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) จัดกิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายผู้นำสตรีเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กิจกรรมครั้งนี้มีขึ้นระหว่างวันที่ 31 ส.ค. ถึง 1 ก.ย.2567 ที่โรงแรมปาร์คอินทาวน์ อำเภอเมืองปัตตานี จ.ปัตตานี้
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ร่วมพบปะผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ไปร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง พร้อมกับกลุ่มสตรีจิตอาสาจากสมาคมเมืองดาหลา ที่เป็นแม่และจิตอาสาจากพื้นที่ 60 ตำบลนำร่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิของ ศอ.บต. เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก
สำหรับ พ.ต.อ.ทวี ก่อนหน้านี้ได้ประกาศแผนปฏิบัติการแก้ปัญหายาเสพติดเร่งด่วน ระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. ถึง 31 ส.ค.2567 โดยพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่เป้าหมาย เพราะมีทั้งปัญหาความมั่นคง และการแพร่ระบาดของยาเสพติดค่อนข้างรุนแรง
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหายาเสพติดนับเป็นปัญหาระดับชาติ และเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของลูกหลาน จึงต้องคิดหาทางออก โดยเฉพาะวิธีการที่จะทำอย่างไรให้ลูกหลานของเรามีอนาคตที่ดี และห่างไกลจากยาเสพติด
“ผมเชื่อว่ากลุ่มสตรีมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานลักษณะนี้ได้ดีอย่างแน่นอน เพราะกลุ่มสตรีมีจิตใจของความเป็นแม่ จะสามารถมอบความรักความอบอุ่นให้กับลูกหลานที่ติดยาให้รอดพ้นและปลอดภัยได้ ดังนั้นเราทุกคนจะต้องมาร่วมกันปฏิเสธยาเสพติด และสร้างคนให้มีคุณภาพ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ประเทศของเราก็จะมีความเจริญก้าวหน้าแบบก้าวกระโดด” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ
ด้าน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวเช่นกันว่า "ผมเชื่อว่าการแสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหายาเสพติด จะเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้พื้นที่ของเรามีความสุข โดยไม่มีความหวาดระแวง ไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน รัฐบาลก็ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมขับเคลื่อนผ่านกลไกต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเต็มที่ต่อไป”
ขณะที่ผู้แทนชุมชน ได้มีการสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดที่มีอยู่ในชุมชนและหมู่บ้านของตัวเอง โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างกว้างขวาง โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐได้ดำเนินการกิจกรรมทั้งการปราบปรามและบำบัดอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ มิหนำซ้ำยังสร้างความเดือดร้อนให้กับพ่อแม่ ครอบครัว และชุมชน โดยเฉพาะการส่งผู้เสพยากลับคืนสู่ชุมชนโดยไม่ผ่านการบำบัด รวมถึงการแพร่ระบาดของยาเสพติดประเภทต่างๆ ผ่านเครือข่ายผู้ค้ารายย่อย
ดังนั้นจึงอยากให้มีนโยบายการป้องกันปัญหายาเสพติดเข้าสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยพลังสตรีพร้อมที่จะขับเคลื่อน และป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้าไประบาดในพื้นที่ พร้อมดูแลให้ผู้ที่ก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคมให้ได้ต่อไป