การเพิ่มช่องทางของโอกาส เพื่อสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน ดันเศรษฐกิจชายแดนใต้ให้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการลดปัญหาความมั่นคงลง โดยเฉพาะการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบ...
เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ ศอ.บต. หรือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ องค์กรพิเศษที่หน้าที่บูรณาการงานพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดน ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และพื้นที่ต่อเนื่องอย่างสงขลา และสตูล เพื่อสร้างความสงบสุข สันติ ผ่านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และประชาชนมีส่วนร่วม
หนึ่งในเซคเตอร์ธุรกิจที่เป็นความหวังของดินแดนปลายด้ามขวาน คือ การท่องเที่ยว เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจุดเด่นด้านพหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัดกับมัสยิดที่ตั้งตระหง่านสร้างศรัทธาสลับกันไม่ต่างจากดอกไม้สลับสี
ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา ทะเล ก็สวยงาม แถมยังอุดมสมบูรณ์
การทำเกษตรแบบดั้งเดิม พอเพียง แต่ยั่งยืน ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นที่ ศอ.บต.กำลังสร้างคอนเทนต์เพื่อดึงดูนักท่องเที่ยวจากเพื่อนร่วมชาติและทุกมุมโลกให้มาเยือน
เมื่อเร็วๆ นี้ ศอ.บต.จัดกิจกรรมยกระดับ “จังหวัดปัตตานี เมืองปูทะเล” เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายแดนใต้ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการสร้างความรู้ ความเข้าใจการเลี้ยงปู และการขยายผลจากห่วงโซ่กิจกรรมการเลี้ยงปู เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองปูทะเล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ พัฒนาผู้ประกอบการและเครือข่ายผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยว ทั้งในมิติฮาลาล และ Net Zero อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย เสริมสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
งานนี้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธานเปิดกิจกรรมด้วยตนเอง พร้อมด้วย นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ร่วมพบปะผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวจากประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ อีกทั้งยังได้ร่วมลิ้มลองรสชาติของ “เมนูปูนึ่ง” พร้อมน้ำจิ้มซีฟู้ด ซึ่งเป็นวัตถุดิบจากผู้ประกอบการในพื้นที่ และโดดเด่นอย่างยิ่งของปัตตานี
พ.ต.ท.วรรณพงษ หรือ “เลขาฯบิลลี่” กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกที่ ศอ.บต.ได้จัดกิจกรรมยกระดับจังหวัดปัตตานี เมืองปูทะเล เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายแดนใต้ โดยนำเรื่องการประมงมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ มีเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลต้องการมุ่งเน้นและยกระดับการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กับรัฐติดชายแดนไทยของมาเลเซีย สู่การเป็นเมืองคู่แฝด หรือ Twin Cities เพื่อการพัฒนาที่อย่างยั่งยืน
อีกทั้งยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อยอดในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอาหาร โดยผลักดันให้วัตถุดิบพื้นถิ่นเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และการพัฒนาอุตสาหกรรมบริการในพื้นที่ (Hospitality Industry) เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกร และบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวการท่องเที่ยวได้ปรับตัวและพัฒนาตนเองต่อไป
“นับเป็นความท้าทายใหม่ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต” เลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ ปักหมุดเป้าหมายใหม่ปลายด้ามขวาน
ภายในงาน “จังหวัดปัตตานี เมืองปูทะเล เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชายแดนใต้” มีการออกบูทสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า สมุนไพร อาหาร และการบริการนวดแผนโบราณ ซึ่งเป็นสินค้าจากผู้ผลิตในสามจังหวัด รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว ได้ร่วมทำกิจกรรมสัมมนาและสำรวจเส้นทางนำร่องท่องเที่ยว (Familiarization Trip : Fam Trip) รับฟังการเสวนาในหัวข้อ “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism)” และการศึกษาดูงานเส้นทางนำร่องท่องเที่ยวรอบอ่าวปัตตานี
ตลอดจนกิจกรรมเปิดเวทีเจรจาธุรกิจ แลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวรูปแบบ Business to Business (B2B) ด้วย
@@ พลวัตแห่งเป้าหมาย “เมืองปูทะเลโลก”
ที่ผ่านมา ศอ.บต.มีนโยบายส่งเสริมให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะปัตตานี เป็น “เมืองปูทะเลโลก” โดยตั้งแต่ปี 64 ได้นำร่องโครงการเลี้ยงปู 34 ชุมชน 1,000 คน เริ่มเพาะเลี้ยงเมื่อเดือน ส.ค. ทยอยปล่อยพันธุ์ปู 700,000 ตัว รวมผลผลิต 220 ตัน มูลค่าประมาณ 50 ล้านบาท ในปี 65 และพัฒนาต่อเนื่องมาก
โดยเมื่อเดือน ธ.ค.64 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูทะเล บ้านโต๊ะโสม ต.บางปู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี เพื่อพบปะสมาชิกกลุ่มเลี้ยงปูทะเล และได้เยี่ยมชมบูธจัดแสดงนิทรรศการปูดำ ทั้งยังสวมบทบาทเป็นเชฟปรุงอาหาร เมนูปูผัดผงกะหรี่ พุดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเองด้วย
สำหรับ “ปูทะเล” จริงๆ แล้วคือ “สัตว์น้ำเศรษฐกิจ” ที่สร้างรายได้และต่อยอดอาชีพให้กับพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมหาศาลมาอย่างยาวนาน
กระทั่งระยะหลังเริ่มมีปัญหา การจับ “ปูทะเล” ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด สุดท้ายต้องเสียเงินนำเข้า สั่งซื้อจากต่างประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ทำวิจัยร่วมกับหลายหน่วยงานในการเพาะเลี้ยงลูกปู เพื่อลดการนำเข้าแม่ปู
การเพาะเลี้ยงปูทะเลครบวงจร ณ โรงเพาะฟักของ ม.อ.ปัตตานี เกิดการผลิตแม่ปูทะเลที่มีคุณภาพ และนำแม่ปูไปให้บริการแบบให้เปล่าแก่โรงเพาะฟักทั้งของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ทดแทนการนำเข้าแม่ปูจากต่างประเทศ เป็นการส่งเสริมเทคโนโลยีการใช้ลูกปูให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงต่อในบ่อดิน สร้างความยั่งยืนของอุตสาหกรรมการเลี้ยงปูในอนาคต
โครงการนี้มี รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.อ.ปัตตานี เป็นหัวหน้าโครงการ และบอกว่า นี่คือเป้าหมายของการสร้างนวัตกรรมการเลี้ยงปูทะเลให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ของประเทศ สู่ “เมืองปูทะเลโลก” แห่งชายแดนใต้
สอดรับกับยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศล่าสุดของ ศอ.บต. ที่ชูความเป็น “เมืองปูทะเลโลก” และเมนูปูนึ่ง รวมถึงเมนูอื่นอันหลากหลาย ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน