ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือไม่ ช่วงที่มีใบปลิวข่มขู่พี่น้องมุสลิมที่ทำงานให้รัฐกำลังระบาดหนักในพื้นที่ ปรากฏว่าเป็นช่วงที่มี “คดีตากใบ” เป็นประเด็นขึ้นมาพอดี
โดยเฉพาะคดีที่ศาลนราธิวาสประทับรับฟัอง เป็นคดีที่ครอบครัวผู้เสียหาย ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพจากเหตุการณ์ตากใบเมื่อ 25 ต.ค.2547 รวมตัวกันฟ้องเอง ก่อนคดีจะขาดอายุความ 20 ปี ประมาณ 6 เดือน
คดีนี้แทบไม่มีใครคาดคิดว่าศาลนราธิวาสจะประทับรับฟ้อง แต่ปรากฏว่าศาลรับฟ้อง เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค.67 ผ่านมา
ส่งผลให้อดีตบิ๊กข้าราชการ 7 คนจาก 9 คนที่ถูกยื่นฟ้อง ตกเป็นจำเลย โดยทั้งหมดเคยเป็นข้าราชการะดับสูงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น
มีข่าวออกมาทันทีว่า สาเหตุที่ศาลประทับฟ้อง เพราะถูกขู่กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ข่มขู่ด้วยหรือไม่
ข่าวนี้กระพือค่อนข้างแรง “ทีมข่าวอิศรา” เราจึงตรวจสอบไปยังสำนักงานศาลยุติธรรม ได้รับการยืนยันว่าเป็นการพิจารณาคดีตามปกติ ไม่มีแรงกดดันใดๆ โดยเฉพาะจากฝ่ายกลุ่มติดอาวุธในพื้นที่
หากย้อนดูข่าวเก่าๆ เมื่อราวๆ ปี 2551-2552 เคยมีประเด็นผู้พิพากษาในคดีตากใบขอย้าย เพราะถูกข่มขู่ แต่ประธานศาลฎีกาในยุคนั้นไม่อนุญาต
เวลาผ่านมานานกว่า 15 ปี วันนี้มีคนกล้าพูดกล้าบอกค่อนข้างชัดว่า แรงกดดันที่ผู้พิพากษาในยุคนั้นต้องเผชิญ ไม่ใช่จากขบวนการติดอาวุธแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นอีกฝ่ายที่ติดอาวุธเหมือนกัน และมีกฎหมายความมั่นคงในมือ
ย้อนตรวจสอบคดีตากใบ ก่อนครอบครัวผู้เสียหาย และกลุ่มทนายมุสลิม ร่วมกับสภาทนายความ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจะยื่นฟ้องคดีเอง ปรากฏว่ามีข่าวลบๆ เกี่ยวกับคดีนี้หลายประเด็น
หนึ่ง - สำนวนคดีหาย
สอง - ตกลงคดีถึงที่สุดไปแล้วหรือยัง
สาม - เรื่องจบไปแล้ว จะรื้อฟื้นมาทำไม
มีคำถามว่า จริงๆ แล้วคดีตากใบมีกี่คดีกันแน่ และสถานะคดีเป็นอย่างไร
“ทีมข่าวอิศรา” เคยตรวจเช็คข้อมูลและรวบรวมคดีตากใบเอาไว้ นับได้ 4 คดี และทุกคดีถูกระบุว่า “สิ้นสุดไปหมดแล้ว”
1.คดีฟ้องผู้ชุมนุม 59 คน - พูดง่ายๆ คือคดีรัฐฟ้องชาวบ้านที่ถูกระบุว่าเป็นหัวโจกปลุกระดมให้เกิดการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ก่อนเจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลาย
คดีนี้สุดท้ายอัยการถอนฟ้องเพื่อยุติข้อพิพาท ตามนโยบายของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
2.คดีแพ่ง - ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ฟ้องหน่วยงานรัฐ เรียกค่าเสียหาย มี 7 สำนวน ต่อมาไกล่เกลี่ยยอมความ รับค่าเสียหายทางแพ่ง ทำให้คดีจบ
3.คดีที่มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวน 7 คน - เจ้าหน้าที่ไม่สามารถสืบทราบได้ว่าใครเป็นผู้ทำให้เสียชีวิต อัยการมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
4.สำนวนคดีที่มีผู้เสียชีวิต 78 คนจากการขนย้ายผู้ถูกจับกุมนับพันคนไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร
- มีการทำสำนวนไต่สวนชันสูตรพลิกศพ
- ไม่พบหลักฐานว่ามีผู้ใดทำให้ตาย
- ศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งว่า เป็นการเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ
คดีนี้มีข้อมูลว่า พนักงานสอบสวนทำสำนวนส่งอัยการ พร้อมความเห็นสั่งไม่ฟ้อง อัยการเห็นด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นพ้อง ทำให้คดีถึงที่สุด
บทสรุป 4 คดี นำมาสู่การจ่ายเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ สูงสุดรายละ 7,500,000 บาท ในยุครัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
แต่คดีตากใบดูจะยังไม่หมดแค่นั้น หรืออย่างน้อยก็ยังไม่ “สิ้นสุด” หรือ “ถึงที่สุด” จริงๆ เพราะเมื่อเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา ตำรวจภูธรภาค 9 เพิ่งส่งสำนวนพร้อมความเห็น “สั่งไม่ฟ้อง” คดีวิสามัญฆาตกรรม ร่วมกันฆ่าผู้อื่น จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ ไปยังอัยการ ขณะนี้คดีอยู่ในมืออัยการสูงสุด
หากนับว่าคดีนี้เป็น “คดีที่ 5” ก็จะเกิดคำถามว่า…
- คดีที่ 5 โผล่มาจากไหน?
- ใช่คดีเดียวกับคดีที่ 3 หรือ 4 หรือไม่ หรือว่าเป็นคดีที่แยกออกมาอีกคดีหนึ่ง?
- เหตุใดใช้เวลาสอบสวนนานถึง 19 ปีกว่า ตำรวจทำอะไรกันอยู่?
- ข่าวล่าสุดระบุว่า อัยการสูงสุดสั่งสอบเพิ่มด้วย แปลว่าที่สอบสวนมา 19 ปี ยังไม่สมบูรณ์พอหรืออย่างไร?
- คดีนี้คือคดีที่ถูกระบุว่า “สำนวนหาย - หาไม่เจอ” หรือเปล่า?
ข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ ถ้าเป็นอีก 1 คดีที่ค้างอยู่ ต้องถามว่าตำรวจทำอะไรอยู่เกือบ 20 ปี
ถ้าเป็นคดีเดียวกับคดีที่ 3 หรือ 4 ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อว่า “คดีจบไปแล้ว” ก็ต้องถามว่า รายงานของหน่วยราชการเองที่สรุปว่าคดีจบแล้วเพื่อจ่ายเยียวยารายละ 7,500,000 บาท เป็นเท็จหรือไม่ แล้วใครต้องรับผิดชอบ
กระบวนการยุติธรรมต้องออกมาตอบเรื่องนี้ให้ได้ เพราะนี่คือเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งในการขยายเครือข่ายขบวนการก่อความไม่สงบมานานหลายปี
เมื่อประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินคดี และคดีไม่ได้สิ้นสุดที่ศาล กระทั่งสุดท้ายชาวบ้านต้องฟ้องเองหลังรอนานเกือบ 20 ปี ใครควรรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้...
หรือประเทศนี้ไม่ต้องมีความรับผิดชอบ!?!
---------------------
ขอบคุณภาพกราฟฟิกรายการข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี