มุมวิเคราะห์ว่าด้วย “ทิ้งไพ่ใบสุดท้าย” ซึ่งหลายสื่อและหลากหลายนักวิเคราะห์เปิดประเด็นนี้ทันทีตั้งแต่ได้เห็นชื่อ “แพทองธาร ชินวัตร” ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทยนั้น
สอดรับทัศนะและข้อมูลในมือกับ อาจารย์กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระจากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
อาจารย์วิเคราะห์ประเด็น “ไพ่ใบสุดท้าย” ว่าเป็นเดิมพันเป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือ ฟื้นคะแนนนิยม
โดยอาจารย์รวบรวมข้อมูลจากชุมชนคนไทย และนักศึกษา นักวิชาการในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ผ่านการประชุมออนไลน์ รวมทั้งพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ
พิเคราะห์ตัวเลือกของเพื่อไทย 2 ตัวเลือก พบว่ามีปัญหาทั้งคู่ ทั้งผู้ใหญ่ และผู้เยาว์
ผู้ใหญ่ : ชัยเกษม นิติสิริ
- ติดขัดที่สุขภาพ
- ความเสี่ยงจากปัญหากฎหมายเรื่องเดิมในอดีต
ผู้เยาว์ : แพทองธาร ชินวัตร
- วุฒิภาวะที่ไม่เพียงพอและไม่มีความนิยม
- ปัญหาส่วนตัวที่ครอบครัว(เคย)ไม่พร้อมให้เสี่ยง
ฯลฯ
พิจารณาสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อคาดคะเนไปถึงอนาคต จะเห็นได้ว่าน้ำหนักของการตัดสินใจเสนอชื่อ แพทองธาร ชินวัตร จุดที่เป็นเดิมพันสูงสุดคือ “คะแนนนิยม”
อาจารย์กฤษฎา พาย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งปีที่แล้ว เทียบกับ “นิด้าโพล” เมื่อเร็วๆนี้
การเลือกตั้ง พ.ค.66
- ก้าวไกล 151 ที่นั่ง (+70 จากครั้งที่แล้ว)
- เพื่อไทย 141 ที่นั่ง (+5)
- ภูมิใจไทย 71 ที่นั่ง (+20)
ทั้งสามพรรคนี้ได้คะแนนเพิ่ม เนื่องจากสองพรรคแรกหาเสียง “อิงประชาธิปไตยและไม่สังฆกรรมสามลุง” ส่วนภูมิใจไทยใช้สไตล์บ้านใหญ่ลงพื้นที่
ส่วนพลังประชารัฐ ได้เพียง 40 ที่นั่ง (-76) เพราะ “ความเป็นลุง”
ประชาธิปัตย์ ได้ 25 ที่นั่ง (-28) เพราะขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและไม่มีความชัดเจนเรื่องนโยบาย (Old party in no man’s land)
รวมไทยรักษาชาติ เป็นพรรคใหม่ได้ +36 แม้เป็นลุง แต่ก็ได้คะแนนเสียงเพิ่ม “เพราะมีเครือข่าย เครดิต และต้นทุนจากการเป็นรัฐบาล”
เลือกตั้ง 2566 สีส้มเป็นผู้ชนะแบบเซอร์ไพรส์ โดยเฉพาะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งใช้เป็นตัววิเคราะห์ความนิยมของพรรคการเมืองโดยเฉพาะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้
ก้าวไกล 14.4 ล้านเสียง (37.99%)
เพื่อไทย 10.97 ล้านเสียง (28.84%)
รวมไทยสร้างชาติ 4.7 ล้านเสียง (13%)
ภูมิใจไทย 1.1 ล้านเสียง (2.99%)
ส่วนการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ใช้วิเคราะห์ประสิทธิภาพในการหาเสียงบนพื้นที่จริง เช่น การจัดตัวผู้ลงสมัครและการเข้าถึงประชาชน
ผ่านไป 1 ปี “สีส้ม” ยิ่งมาแรงขึ้น ทั้งคะแนนพรรคและคะแนนผู้นำอย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
เมื่อประกอบกับการสำรวจคะแนนนิยมของนิด้าโพล 14-18 มิ.ย.67 แสดงว่าโมเมนตัมของ “สีส้ม” แรงมากอย่างน่าทึ่ง
และนี่ “อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มอำนาจต้องการบั่นทอนโมเมนตัมของสีส้ม นำมาสู่การยุบพรรค”
โดยเฉพาะข้อสังเกตเรื่องปาร์ตี้ลิสต์ของก้าวไกล จาก 37.99% พ.ค.66 เพิ่มมาเป็น 49.20% มิ.ย. 67
เพื่อไทยลดลงเหลือ 16.85%
ที่ยังไม่ระบุพรรคการเมืองที่เหมาะสม 15%
รวมไทยสร้างชาติ 7.55%
ประชาธิปัตย์ 3.75%
ภูมิใจไทยหายไปไหน ?
อาจารย์กฤษฎา สรุปว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า หากเงื่อนไขปัจจัยไม่แตกต่างจากปัจจุบันมากนัก และยังเป็นเทรนด์นี้
1.พรรคประชาชนจะชนะ โดยกวาดที่นั่งได้ประมาณ 45% ขึ้นไปในเงื่อนไขปัจจุบัน และอาจขยับขึ้นได้ถึง 55% ขึ้นไป หากประชาชนผิดหวังกับรัฐบาลของนายกฯคนที่สองจากพรรคเพื่อไทย
ส่วนพรรคประชาชนจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ “เงื่อนไขปัจจัยพิเศษของไทย”
2.เพื่อไทยอาจถูกลงโทษโดยประชาชน คะแนนเสียงอาจลดลงเป็นพรรคที่ 3
เนื่องจากทำให้ผิดหวังโดยเปลี่ยนนายกฯ 2 คน แต่โครงการที่หาเสียงไว้ทำไม่สำเร็จ
และการที่คนเป็นจำนวนมากเชื่อว่าอดีตนายกฯทักษิณอยู่เบื้องหลัง ทำให้เป็นปัญหาที่แบ่งแยกสังคมไปครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย เพราะอดีตนายกฯมีทั้งคนรักและคนชัง
3.พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสชนะเป็นที่ 2 แต่คงยังแซง “สีส้ม” เป็นที่หนึ่งไม่ได้
และหากปัจจัยพิเศษของการเมืองไทยปิดกั้นพรรคประชาชนไม่ให้เป็นรัฐบาล ก็จะบังคับสถานการณ์เปลี่ยนมาเป็นภูมิใจไทยเป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาล และได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีเพื่อไทยเป็นตัวรอง
แต่การที่จะชนะเป็นหมายเลข 2 ได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขปัจจัยหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันมาก เนื่องจากพรรคภูมิใจไทยมีคะแนนนิยมต่ำมากในระดับชาติ (2.99% เมื่อปี 66 และปัจจุบันไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร)
แม้ภูมิใจไทยมีความสามารถในการหาเสียงโดยลงพื้นที่แบบใช้บ้านใหญ่ และการมีต้นทุนในการเป็นผู้คุมกระทรวงมหาดไทยก็ตาม ก็ยังต้องระวังเรื่องปัญหากฎหมายที่ยังคั่งค้างอยู่ ซึ่งอาจนำมาสู่การยุบพรรค หรือดำเนินคดีอาญาของบุคคลสำคัญในพรรคได้เช่นกัน
ทว่าจังหวะก้าวที่น่าสนใจคือ การพยายามชูความโดดเด่นของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้โดดเด่นขึ้นทีละนิด
โดยเฉพาะในนิยามของความเป็น “สุภาพบุรุษทางการเมือง” ซึ่งถูกจริตคอการเมืองไทย
นับเป็นการขยับตัวที่น่าจับตามอง!
ด้าน ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล กล่าวว่า จากผลสำรวจชี้ชัดว่า คะแนนนิยมของ “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร” ช่วงที่เปิดตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯของเรพรรคเพื่อไทย เคยอยู่ในระดับสูง แต่จุดตัดที่แท้จริงอยู่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง ช่วงที่พรรคก้าวไกลประกาศจุดยืน “มีเรา...ไม่มีลุง” แต่พรรคเพื่อไทยไม่มีความชัดเจน นับจากนั้นคะแนนของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกลก็พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทย ทั้ง แพทองธาร และอดีตนายกฯเศรษฐา
“ฉะนั้นการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนี้ของคุณอุ๊งอิ๊ง จึงมีความท้าทายเรื่องคะแนนนิยม แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่จะพลิกฟื้นคะแนนขึ้นมาได้ โดยสิ่งแรกที่จะต้องสร้างความชัดเจนให้ได้ ก็คือ โครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะทำต่อหรือไม่ รวมถึงนโยบายอื่นๆ ที่ได้หาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะค่าแรงขั้นต่ำ ถ้าทำได้ คะแนนก็น่าจะค่อยๆ ฟื้นกลับมา”