สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) แถลงผลการจับกุมเครือข่ายค้าแรงงานข้ามชาติเมื่อวันก่อน มีประเด็นน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะ “หัวโจก” รายหนึ่งที่ถูกจับกุม คือ “บังหยัน” หรือ นายซัฟยัน (สงวนนามสกุล) โดยตำรวจรวบตัวได้ขณะกบดานที่บ้านหลังหนึ่งใน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
“บังหยัน” แม้จะอายุเพียง 24 ปี แต่ประวัติไม่ธรรมดา และพบเส้นทางการติดต่อ รวมทั้งเส้นทางเงินเชื่อมโยงกับ “เครือข่ายค้าแรงงานข้ามชาติ” ที่เป็น “มดงาน” คอยส่งแรงงานผิดกฎหมายจาทุกภาคทั่วประเทศ มายังจุดนัดพบที่ภาคใต้ จ.สงขลา ก่อนกระจายไปยังผู้ที่ต้องการแรงงาน และส่งต่อข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย
“บังหยัน” มีหมายจับของศาลจังหวัดสงขลา ลงวันที่ 5 ก.ค.67 ข้อหากระทำความผิดฐาน “ช่วยเหลือซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใดๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.คนเข้าเมืองฯ พ้นจากการจับกุม"
การติดตามจับกุม “บังหยัน” ตำรวจแกะรอยมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
21 พ.ย.66 ชุดสืบสวน ตม.จว.สงขลา จับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติบังกลาเทศหลบหนีเข้าเมือง จำนวนถึง 19 คน พร้อมผู้ให้ความช่วยเหลือ 2 คน ที่ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เมื่อสืบสวนขยายผล พบว่า “บังหยัน” อยู่เบื้องหลัง จึงเสนอหลักฐานขอศาลออกหมายจับ
กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ตำรวจสืบทราบว่า “บังหยัน” หลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในเขต อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จึงส่งกำลังเข้ารวบตัวได้สำเร็จ
ตรวจสอบประวัติเพิ่มเติมพบว่า “บังหยัน” มีหมายจับอีก 2 หมาย เป็นกลไกสําคัญระดับสั่งการในการลําเลียงแรงงานต่างด้าวสัญชาติบังกลาเทศจากประเทศกัมพูชา ผ่านประเทศไทย และส่งต่อไปยังประเทศมาเลเซียทางช่องทางธรรมชาติ
พฤติการณ์ของ “บังหยัน” คือจัดหารถขนแรงงานต่างด้าว ครั้งละ 15-20 คน จากพื้นที่ตอนบน (ข้ามแดนมาจากกัมพูชา) ลงมายังภาคใต้ และส่งข้ามไปประเทศมาเลเซีย
เครือข่ายของ “บังหยัน” เคยถูกจับกุมมาแล้ว 3 คดี ลำเลียงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย รวม 52 คน ยึดยานพาหนะที่ใช้ขนส่งได้ 8 คัน แต่ตำรวจไม่เคยได้ตัว “บังหยัน” ซึ่งเป็นหัวโจกระดับสั่งการเลย กระทั่งมาถูกจับในครั้งนี้
@@ แกะรอยจากเครือข่ายภาคเหนือ - กลาง - ตต.
เส้นทางการค้าแรงงานเถื่อน และลักลอบเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายของ “บังหยัน” เชื่อมโยงถึงเครือข่ายทางภาคเหนือ อีสาน ภาคกลาง และภาคตะวันตก
ก่อนหน้านี้ ตำรวจ สตม. ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม. ตามรวบขบวนการขนคนต่างด้าวขึ้นเหนือล่องใต้ โดยมีโปรไฟล์เป็นที่รับรู้กันในวงการว่า “รับขนส่งแรงงานเถื่อนทั่วไทย”
4 ก.พ.67 ตม.จว.น่าน จับกุม นายจิระวัฒน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 50 ปี พร้อมคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา จํานวน 6 คน
นายจิระวัฒน์ รับสารภาพว่ารับงานมาจาก นายหนูเรียง (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี ค่าจ้าง 18,000 บาท สำหรับการขนส่งต่างด้าว 6 คน ต้นทาง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ปลายทางชายแดนบ้านแหลม อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
ต่อมาตำรวจจึงขยายผลจับกุม นายหนูเรียง ซึ่งมีพฤติการณ์ค้าแรงงานเถื่อนใน อ.เวียงสา จ.น่าน แต่เจ้าตัวหนีไปหลบอยู่ที่ จ.สุรินทร์ ตำรวจจึงตามไปรวบตัวไว้ได้ที่ อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ โดยเครือข่ายของ นายหนูเรียง เคลื่อนย้ายแรงงานลงใต้ มีหมายจับของศาลจังหว้ัดทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราชด้วย
@@ รถขนต่างด้าวคว่ำ ส่งผลทลายเครือข่าย “อนุรักษ์-ฮาวาย”
ถนนสายใต้คือเส้นทางลำเลียงต่างด้วยเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพื่อนำส่งข้ามแดนไปมาเลเซีย ซึ่งเป็นปลายทาง และมีความต้องการแรงงานเถื่อนข้ามชาติ
1 พ.ย.66 รถกระบะตู้ทึบขนคนต่างด้าวชาวเมียนมา เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำในพื้นที่ ต.สลุย อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร พบคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย จํานวน 18 คน ทั้งหมดได้รับบาดเจ็บ และสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 คน คือ นายสิทธิศักดิ์ หรือบาส (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี
ตำรวจสืบสวนขยายผลจนทราบว่า นายบาสได้รับการว่าจ้างให้ไปรับคนต่างด้าวชาวเมียนมา ที่ ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เพื่อนำไปส่ง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีรถรับแรงงานต่างด้ว 2 คัน เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ 1 คัน ทำให้นายบาสถูกจับกุม
ส่วนอีก 1 คันที่รอดไปได้ มี นายธีรพงษ์ (สงวนนามสกุล) เป็นผู้รับจ้างนำแรงงานไปส่ง ตรวจสอบเส้นทางเงินพบว่า รับโอนเงินค่าน้ํามันมาจาก นายฮาวาย (สงวนนามสกุล) ตำรวจจึงวางแผนจับนายฮาวายได้ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี
นายฮาวาย ทำหน้าที่เป็นนายหน้าจัดหารถขนแรงงานต่างด้าวจากพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ลงไปยังพื้นที่ภาคใต้ โดยร่วมกับ นายอนุรักษ์ หรือบอย (สงวนนามสกุล) ได้ค่าจ้างหัวละ 1,000 บาท
ตรวจสอบย้อนหลังพบว่า นายฮาวายและนายอนุรักษ์ ยังเกี่ยวข้องกับคดีขนแรงงานต่างด้าวอีก 3 คดี
หนึ่ง คดีที่ จ.พัทลุง ขนส่งชาวเมียนมาลักลอบเข้าเมืองถึง 58 คน ใช้รถกระบะรั้วคอก 3 คันเป็นพาหนะ โดย นายอนุรักษ์ ร่วมมือกับ น.ส.เพ็ญ (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นภรรยา ในลักษณะแบ่งงานกันทำ โดยรับจ้างมาจากนายหน้าใน จ.สมุทรสาคร ให้นำแรงงานส่งไป จ.สงขลา
สอง คดีที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตำรวจจับกุม นายวีระพล (สงวนนามสกุล) ขณะนำพาชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง จำนวน 15 คน ไปส่งที่ จ.สงขลา สอบสวนขยายผลทราบว่ารับจ้างมาจากนายอนุรักษ์ รับคนต่างด้าวจากต้นทาง จ.สมุทรสาคร เพื่อส่งยังจังหวัดเป้าหมาย ซึ่งภายหลังนายอนุรักษ์ถูกจับจากคดีนี้
สาม ตม.จว.นครศรีธรรมราช จับกุม นายอัสดา และภรรยา ขณะนำพาชาวเมียนมาหลบหนีเข้าเมือง 11 คน จากต้นทาง จ.สมุทรสาคร นำส่ง จ.สงขลา โดยใช้รถกระบะตู้ทึบ 1 คัน
สอบสวนขยายผลทราบว่า นายอัสดา รับจ้างมาจากนายอนุรักษ์ อีกทอดหนึ่ง
@@ สงขลา “จุดพัก-ปลายทางในไทย” ก่อนส่งต่อข้ามแดน
เครือข่ายนายอนุรักษ์ เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 65 รับแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาจาก จ.สมุทรสาคร นำส่งสงขลา โดยเชื่อมโยงกับ นายฮาวาย ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในภาคกลาง เคลื่อนย้ายชาวเมียนมาจากภาคตะวันตก ฝั่ง จ.กาญจนบุรี ปลายทางสงขลาเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าเส้นทางเคลื่อนย้ายแรงงานเถื่อนไปบรรจบที่สงขลา หาดใหญ่ จากนั้นก็จะมีเครือข่ายของ “บังหยัน” รับช่วงต่อ เพื่อส่งเข้ามาเลเซีย โดยผ่านพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
และ “บังหยัน” ยังค้าแรงงานชาวบังกลาเทศที่หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา เพื่อส่งมาเลเซียโดยใช้เส้นทางเดียวกัน
@@ โยงอีก 4 เครือข่าย “กาญจน์-ตาก” ก่อนส่งลงใต้
เครือข่ายของนายอนุรักษ์ ขนส่งแรงงานต่างด้าวเฉพาะที่ถูกจับกุมได้ 102 คน ตำรวจยึดยานพาหนะได้ 6 คัน
เครือข่ายนี้ยังเชื่อมโยงกับเครือข่ายที่ สตม. และหน่วยงานความมั่นคงจับกุมกลุ่มลักลอบขนคนต่างด้าว โดยใช้เส้นทางด้าน อ.สังขละบุรี จว.กาญจนบุรี ประกอบด้วย
- เครือข่ายนายวิทยา จับกุมเมื่อวันที่ 5 เม.ย.66 พื้นที่ สภ.เมืองกาญจนบุรี
- เครือข่ายซูก้า-นิตาเว จับกุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.66 พื้นที่ สภ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร
- เครือข่ายวุธ แม่กลอง จับกุมเมื่อวันที่ 7, 25 มิ.ย.66 พื้นที่ สภ.รัตภูมิ จ.สงขลา
นอกจากนั้นยังมีเครือข่ายลักลอบขนคนต่างด้าวที่ใช้เส้นทางผ่าน จ.ตาก ได้แก่
- เครือข่ายซูซูมา จับกุมเมื่อวันที่ 15 มี.ค.66 พื้นที่ สภ.บางกล่ำ จ.สงขลา
@@ ผ่าแผนประทุษกรรม “เครือข่ายมดงาน” ขนแรงงานเถื่อน
กลุ่มเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้มีการกระทําในลักษณะขบวนการ เป็น “องค์กรอาชญากรรม” แบ่งหน้าที่กันทํา ประกอบด้วย
- นายหน้าประสานงานแนวชายแดน
- นายหน้าประสานงานพื้นที่ชั้นใน จ.กาญจนบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร สงขลา และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
- นายหน้าเหล่านี้จะมีลูกทีมจัดหารถ ดูแลจุดพักคอย มีหัวหน้าทีมขนและทีมขน ส่งต่อกันระหว่างพื้นที่ตอนบนกับตอนล่าง กระทั่งข้ามแดนผ่านช่องทางธรรมชาติไปมาเลเซีย