ความรุนแรงจากการลอบวางระเบิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้จะผ่านมานานกว่า 20 ปีแล้ว กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงเคลื่อนไหวปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะการวางระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบขึ้นในรถยนต์ ที่เรียกว่า “คาร์บอมบ์” ซึ่งถือเป็นรูปแบบการก่อเหตุโจมตีด้วยวัตถุระเบิดที่ร้ายแรงที่สุดในสถานการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้
ล่าสุดมี “คาร์บอมบ์” เกิดขึ้นอีกครั้งที่บริเวณริมถนนทางเข้าท่าเทียบเรือปัตตานี ติดกับกำแพงรั้วของกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เมื่อช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 9 ส.ค.67
แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย และกำแพงของกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ได้รับความเสียหาย
เหตุการณ์ครั้งนี้ นับเป็นการก่อเหตุระเบิดแบบคาร์บอมบ์ลูกที่ 2 ของปี 2567 ต่อจากระเบิดคาร์บอมบ์ลูกแรกที่เกิดขึ้นบริเวณหน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67 หรือเพียงเดือนเศษที่ผ่านมานี้เอง
โดยเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ที่เกิดขึ้นในปี 2567 ทั้ง 2 เหตุการณ์ มีจุดที่คล้ายคลึงกันก็คือ คนร้ายจงใจก่อเหตุใกล้สถานที่ราชการ โดยมุ่งเป้าหมายไปยังที่ตั้งของตำรวจทั้ง 2 เหตุการณ์ คือ แฟลตตำรวจซึ่งอยู่ใกล้กับโรงพักที่บันนังสตา จ.ยะลา และด้านข้างกองสืบฯ ของตำรวจภูธรปัตตานี
จากการรวบรวมสถิติคาร์บอมบ์ของ “ศูนย์ข่าวอิศรา” นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อช่วงต้นปี 2547 พบว่า คาร์บอมบ์ลูกแรกเกิดขึ้นในปี 2548 และนับจากนั้นเรื่อยมาจนถึงครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นข้างกำแพงรั้วกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี นับรวมได้ทั้งหมด 63 ครั้ง
โดยสถิติคาร์บอมบ์ทั้ง 63 ครั้ง แยกตามจังหวัดได้ดังนี้
จ.นราธิวาส เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 25 ครั้ง
จ.ยะลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 15 ครั้ง
จ.ปัตตานี เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 18 ครั้ง
ส่วน 4 อำเภอของ จ.สงขลา เกิดคาร์บอมบ์มาแล้ว 4 ครั้ง
ทั้งยังมีเหตุคาร์บอมบ์นอกพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 1 ครั้ง คือ ที่ลานจอดรถห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2558 ซึ่งเกี่ยวโยงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน