ค่ำวันเสาร์ที่ 3 ส.ค.67 มีเซอรไพรส์เล็กๆ เมื่อ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปเยี่ยมชมบูธจัดจำหน่ายสินค้า ในงาน "มหกรรมรวมพลัง ผู้ประกอบการชายแดนใต้เครือข่าย ศอ.บต." ด้วยตนเอง
เป็นการไปเดินชมงานหลังจากเพิ่งเสร็จภารกิจ นายกฯเศรษฐา พบ นายกฯอันวาร์ ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และฝั่งรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ไม่กี่ชั่วโมง
งานมหกรรมรวมพลังผู้ประกอบการชายแดนใต้เครือข่าย ศอ.บต. เป็นงานรวมตัวของผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกบูธแสดงและจำหน่ายสินค้า
งานจัดระหว่างวันที่ 2-4 ส.ค.67 โดยกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต.
วัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยแพร่และสร้างโอกาสในการขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ พร้อมส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการปลายด้ามขวาน
ทั้งยังเป็นการจัดกิจกรรมเชิงกลยุทธ์ เพราะเชื่อมโยงกับเทศบาลนครยะลาที่กำหนดจัดงาน “ยะลามาราธอน 2567” ด้วย
ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงที่ดีให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ และดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวในพื้นที่มากขึ้น
เที่ยวไม่เที่ยวเปล่า ยังได้รู้จักสินค้าของจังหวัดชายแดนแพร่หลาย ทั้งชิม ทั้งช้อป ปลุกเศรษฐกิจให้คึกคัก
พื้นที่จัดงานคือถนนหลังศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา อำเภอเมือง จ.ยะลา
ผู้ประกอบการที่ไปร่วมจัดจำหน่ายสินค้าภายในงาน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, ผู้ประกอบการที่เป็นเครือข่ายของ ศอ.บต. และผู้ประกอบการครัวเรือนยากจน
ทั้งหมดนี้สะท้อนความละเอียดอ่อนในงาน ศอ.บต.ที่มุ่งเน้นนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่จับมือทุกคนเดินไปด้วยกัน เพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความต่อเนื่องของการจำหน่าย สร้างเครือข่ายสินค้าชายแดนใต้ และพัฒนาด้านการท่องเที่ยวแก่ชุมชนในพื้นที่อีกด้วย
โอกาสนี้ ศอ.บต. ได้นำสินค้าของดีที่ขึ้นชื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าให้กับประชาชนด้วย
บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่เปิดงาน ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ร่วมชม ชิม ช้อป กับสุดยอดของสินค้า เครื่องดื่ม สินค้าภูมิปัญญา เสื้อผ้า ข้าวยำปักษ์ใต้ อาหารภาคใต้ ของใช้ ของที่ระลึก อาหาร เครื่องดื่ม และขนมพื้นเมืองอร่อยๆ จาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวนกว่า 75 ร้านค้า
และยังมีกิจกรรมลด แลก แจก แถม แก่ผู้เข้ามาเที่ยวในงาน และยังมีการแจกของที่ระลึกจาก ศอ.บต.อีกด้วย
บรรยากาศในวันเปิดงานมี นายแพทย์ สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นประธาน มีรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ยะลา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และ EXIM Bank หรือธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมในพิธี
นายแพทย์ สมหมาย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การสร้างโอกาสและการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง
การดำเนินกิจกรรมในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายตลาดและเพิ่มยอดขาย มีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดการขยายฐานลูกค้า และเกิดเครือข่ายทางธุรกิจ เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ สร้างเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
อันจะส่งผลให้ประชาชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการธุรกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถพัฒนาด้านธุรกิจฮาลาลได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นตามลำดับต่อไป
ภายในงานมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 250 คน ประกอบกอบด้วย ผู้ประกอบการ จำนวน 70 ราย ได้แก่
- ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์แปรรูป จำนวน 29 ราย
- ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 13 ราย
- ผู้ประกอบการเครื่องดื่ม จำนวน 4 ราย
- ผู้ประกอบการอาหารปรุงสด จำนวน 24 ราย
- สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน สาขายะลา ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขายะลา EXIM BANK และห้างสรรพสินค้า ได้แก่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (Lotus's/ โลตัส)
ทั้งยังมีส่วนราชการ สมาคมธุรกิจภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมอีกคับคั่ง
กิจกรรมไฮไลต์นอกจาก “ชม-ชิม-ช้อป” และที่จะขาดไม่ได้ในยุคเช็คอิน คือ “แชะ” หรือถ่ายภาพเช็คอิน ก็คือ กิจกรรมให้คำปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน การส่งออก และกิจกรรม Pitching ของผู้ประกอบการชายแดนใต้เครือข่าย ศอ.บต. เสนอต่อห้างสรรพสินค้าโลตัส และบิ๊กซี
ศอ.บต.มีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่า งานที่จะขึ้นนี้จะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ ทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมได้ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการฮาลาลจากจังหวัดชายแดนใต้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วไปที่เข้าร่วมงาน ตลอดจนเพิ่มโอกาสการติดต่อเจรจาธุรกิจกับลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจฮาลาลได้อย่างเป็นรูปธรรม