การลงพื้นที่ชายแดนใต้อีกครั้งของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ผ่านไปด้วยดี และเป็นไปอย่างชื่นมื่น สมดังความตั้งใจ
การลงพื้นที่รอบนี้ เป็นการพบปะกับ นายกฯอันวาร์ อิบราฮิม แห่งมาเลเซีย ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับไทย และเป็นเพื่อนร่วมประชาคมอาเซียนด้วยกันแล้ว
มาเลเซียยังมีบทบาทในกระบวนการพูดคุยดับไฟใต้ เพราะเป็น “ผู้อำนวยความสะดวก” หรือ Facilitator เพื่อขับเคลื่อน “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” ระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นด้วย
มาเลเซียจึงมีบทบาทอย่างสำคัญต่อสถานการณ์ไฟใต้ของไทย
การลงพื้นที่และพบปะกันระหว่างผู้นำสองชาติในครั้งนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการหารือในประเด็นความมั่นคง
@@ 4 ประเด็นความมั่นคง - พัฒนา
ไฮไลต์ที่ถอดรหัสออกมาจากคำสัมภาษณ์ของนายกฯเศรษฐา มี 4 เรื่องด้วยกัน ทั้งมิติความมั่นคงโดยตรงและมิติของเศรษฐกิจกับการพัฒนา ซึ่งก็จะส่งผลบวกกับงานความมั่นคงทางอ้อมเช่นกัน
1.มอบหมายให้ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย มีบทบาทเรื่องการเจรจาดับไฟใต้ และทำงานร่วมกับฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย
2.หารือนายกฯมาเลย์ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย มีรายได้ต่อหัวต่ำที่สุดของทั้งสองประเทศ
3.การหารือแบบ four eyes (เฉพาะผู้นำ 2 คนเท่านั้น) มีการพูดคุยถึงเรื่องความมั่นคง ยกระดับการเจรจา และการรับฟังแผนการก่อสร้างโครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2
4.หารือเรื่อง “เขตอุตสาหกรรมพิเศษ” ที่ทั้งสองประเทศจะพัฒนาร่วมกัน คือ เขตอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และโรงงานผลิตยางพารา
@@ “บิ๊กรอย - ฉัตรชัย” ร่วมคณะล่องใต้-มาเลย์
อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้เนื้อหาการพูดคุยระหว่างผู้นำของสองประเทศ ก็คือ ใครบ้างที่ร่วมคณะลงพื้นที่กับนายกฯเศรษฐา
เช็คชื่อดูแล้ว มองข้ามไม่ได้จริงๆ เพราะแต่ละชื่อมีนัย ทั้งทางการเมือง และการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้
1.นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย
2.นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ
3.พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
4.นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
5.พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ลงพื้นที่ล่วงหน้าก่อนคณะนายกฯ)
สำหรับนายอนุทิน เป็น รมว.มหาดไทย ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองอาสารักษาดินแดน หรือ อส.โดยตำแหน่ง
นโยบายปัจจุบัน คือการเร่งสร้างกองกำลัง อส. เพื่อปฏิบัติหน้าที่ทดแทนทหาร รองรับการถอน “ทหารหลัก” ออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ในปี พ.ศ.2570
ส่วนการปรากฏชื่อและตัว นายฉัตรชัย บางชวด ลงพื้นที่พร้อมคณะนายกฯเศรษฐา และได้พบกับคณะของนายกฯอันวาร์ของมาเลเซีย ชัดเจนว่าต้องมีการหารือกันเกี่ยวกับโต๊ะพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียเพิ่งเปลี่ยนตัว “ผู้อำนวยความสะดวก” จากอดีตทหาร เป็นพลเรือนอดีตทูต เมื่อไม่นานมานี้
โดยมีการวิเคราะห์จากนักวิชาการไทย ซึ่งเชี่ยวชาญการเมืองมาเลเซีย อย่าง ผศ.ดร.ชัยวัฒน์ มีสัณฐาน ว่า ทำให้เห็นหมุดหมายและทิศทางของ “โต๊ะพูดคุย” ชัดเจตนามากขึ้น
และยังเชื่อว่า อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ซึ่งพบและหารือกับนายกฯอันวาร์ ที่ จ.ภูเก็ต ก่อนวาระที่นายกฯเศรษฐานัดพบผู้นำมาเลเซียในครั้งนี้ น่าจะมีบทบาทต่อการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกโต๊ะพูดคุยด้วย
@@ ปฏิบัติภารกิจบนแผ่นดินของทั้งสองประเทศ
การพบปะกันของผู้นำสองชาติครั้งนี้ ได้ปฏิบัติภารกิจและรับประทานอาหารร่วมกันในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ถือเป็นประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้เช่นกัน
โดยในช่วงแรก นายกฯเศรษฐา กับ นายกฯอันวาร์ พบปะและหารือกันที่ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
จากนั้นช่วงบ่าย นายกฯเศรษฐา ข้ามแดนไปที่ Pasir Mas District and Land Office รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยมีการแสดง “เครื่องคอมปัง” ต้อนรับผู้นำไทย
“คอมปัง” เป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของมาเลเซียที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มักใช้ในงานรื่นเริง เช่น ในขบวนพาเหรดงานวันชาติ งานเลี้ยงที่เป็นทางการ เป็นต้น
จากนั้น นายกฯเศรษฐา ได้ลงนามในสมุดเยี่ยม และนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน
@@ ไม่ทิ้งความมั่นคง - เสริมหลักสูตรปอเนาะ
นายกฯเศรษฐา และนายอนุทิน ให้สัมภาษณ์บนเครื่องบินระหว่างเดินทางกลับจากชายแดนใต้
นายกฯเศรษฐา : (เรื่องการเปลี่ยนตัวผู้อำนวยความสะดวกฯ) มีการพูดคุยโดยตลอด และเน้นย้ำว่าต้องคุยกันเชิงลึกให้มากขึ้น ซึ่งในวันที่ 5-6 ส.ค.นี้ รมว.ต่างประเทศจะเดินทางไปยังกัวลาลัมเปอร์ เพื่อหารือเรื่องนี้ต่อ
“การพูดคุยสันติสุขฯมีความคืบหน้า และรัฐบาลไม่ทอดทิ้งในเรื่องของความมั่นคง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณอนุทิน ก็ลงพื้นที่มาคุยเรื่องอาสาสมัครรักษาดินแดน ซึ่งในส่วนนั้นก็มีปัญหา แต่เป็นธรรมดา เพราะเราต้องการดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และเราต้องการให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง จึงให้ความสำคัญทั้งเรื่องโรงเรียน และเรื่องหลักสูตร”
นายอนุทิน : กำลังเสริมหลักสูตรโรงเรียนปอเนาะ ให้นักเรียนได้เข้าใจถึงความเป็นประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จึงนำการศึกษาเข้ามา เพิ่มวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการประกอบอาชีพ