ปฏิบัติการปิดล้อมพื้นที่ “แนวป่า” กลางทุ่งโล่ง หรือป่าละเมาะขนาดใหญ่ โดยใช้เวลาติดต่อกันหลายๆ วัน และมักมีความสูญเสียเกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายนั้น ฝ่ายความมั่นคงเคยเปิดยุทธการมาแล้วหลายครั้ง
“ทีมข่าวอิศรา” รวบรวมยุทธการสำคัญมาได้ 3 ครั้ง มีกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยถูกวิสามัญฆาตกรรม หรือเสียชีวิตจากการปะทะมากถึง 13 ราย ส่วนฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็มีสูญเสีย ทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
โดย 3 ยุทธการที่ต้องบันทึกเอาไว้ ได้แก่
ส.ค.63 => ยุทธการบ้านบือแนจือแร อ.ยะรัง จ.ปัตตานี
-เจ้าหน้าที่เข้าบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
-ปิดล้อมพื้นที่ 3 วันต่อเนื่อง (14–17 ส.ค.63)
-ยิงปะทะตอบโต้กันตลอด 3 วัน
ผล => เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 3 นาย ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 7 คน (มีหมายจับ 5 คน สูงสุด 12 หมาย, ไม่มีหมายจับ 2 คน)
-ยึดอาวุธปืนของกลางได้ 10 กระบอก ครึ่งหนึ่งเป็นอาวุธสงคราม
ขณะเกิดเหตุ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นรองแม่ทัพ
ก.ย.64 => ยุทธการฮูแตยือลอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส
-เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
-หลบหนีอยู่ในพื้นที่ป่าเสม็ด
-ปิดล้อมนาน 18 วัน (28 ก.ย.-15 ต.ค.64)
ผล => เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 นาย ผู้ก่อเหตุรุนแรงเสียชีวิต 6 ราย (ทุกคนมีหมายจับ สูงสุด 6 หมาย)
-ยึดอาวุธสงครามได้ 6 กระบอก ระเบิดขว้าง 2 ลูก
พื้นที่นี้อยู่ติดกับ “บ้านยือลอ” ที่กลุ่มก่อความไม่สงบเคยบุกโจมตีฐานทหาร แต่เจอโต้ดับ 17 ศพ
ขณะเกิดเหตุ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เป็นแม่ทัพภาคที่ 4
ก.ค.67 => ยุทธการบ้านคลองช้าง ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี
-เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง
-หลบหนี/ซ่อนตัวในป่ายาง กลางพื้นที่โล่ง
-ปิดล้อมแล้ว 3 วัน
-ยังไม่จบภารกิจ
ผล => เจ้าหน้าที่เสียชีวิตแล้ว 1 นาย บาดเจ็บ 2 นาย (สาหัส 1)
ยังไม่พบศพกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัย และไม่มีใครออกมามอบตัว พบเพียงรองเท้า และกระเป๋าเป้ 3 ใบ
พบความเคลื่อนไหวมีกลุ่มติดอาวุธซ่อนตัวอยู่ 3-4 คน
ขณะเกิดเหตุ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค เป็นแม่ทัพภาคที่ 4
@@ รู้จัก “ฐานกึ่งถาวร” ทำไมเลือกพื้นที่ป่ากลางทุ่ง
ย้อนกลับไปที่ “ยุทธการบ้านบือแนจือแร” ที่ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2563 นั้น สภาพพื้นที่เป็นแนวป่ากลางทุ่งนาชัดเจน และเมื่อเข้าเคลียร์พื้นที่ พบหลุมฝังซ่อนอาวุธยุทโธปกรณ์ และเสื้อผ้า อุปกรณ์ดำรงชีพในป่า มากถึง 9 หลุม
สะท้อนว่าที่นั่นคือ “ฐานปฏิบัติการกึ่งถาวร” มีสภาพเป็นทั้ง “ฐานพักชั่วคราว” เป็นจุดซ่อนตัวก่อนและหลังก่อเหตุ โดยเชื่อมโยงกับหมู่บ้าน และ “แหล่งพักพิง” หรือ Support Site จุดอื่นๆ ด้วย
ฐานปฏิบัติการลักษณะนี้มีหลายแห่ง กระจายไปตามเขตงานของกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งจะแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ ไม่ทับซ้อนหรือข้ามเขตกัน
ฐานปฏิบัติการการกึ่งถาวรใช้เป็นที่วางแผน เตรียมตัวก่อเหตุ และกบดานหลังก่อเหตุแล้ว รวมทั้งใช้เป็นจุดแวะพักเพื่อเปลี่ยนเสื้อผ้า พรางตัว ก่อนหลบหนีต่อ กรณีก่อเหตุรุนแรงตามแผนเรียบร้อยแล้ว
การใช้พื้นที่แนวป่าละเมาะกลางทุ่งนากว้าง ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง เป็นฐานปฏิบัติการและแหล่งซ่อนตัว โดยไม่ได้ไปหลบตามป่าลึกหรือบนภูเขา สะท้อนให้เห็นอีกหนึ่งยุทธวิธีของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง กล่าวคือ
-การเลือกพื้นที่ลักษณะนี้ในการตั้งฐาน เพราะคาดว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ให้ความสนใจ
-ขณะเดียวกันหากมีเจ้าหน้าที่ผ่านมา กลุ่มติดอาวุธที่ซ่อนอยู่ หรือที่เข้าเวรยามอยู่ จะมองเห็นเจ้าหน้าที่ก่อน เนื่องจากพื้นที่โล่ง
-จุดตั้งฐานไม่ไกลจากหมู่บ้าน จึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ “เกาะติดมวลชน” ของกลุ่มก่อความไม่สงบด้วย โดยหมู่บ้านที่อยู่โดยรอบแนวป่าที่ใช้เป็นจุดตั้งฐาน มักจะเป็น “หมู่บ้านสีแดง” ที่คนในหมู่บ้านเป็นมวลชนของขบวนการแบ่งแยกดินแดน
-เหตุนี้กลุ่มก่อความไม่สงบจึงอาศัยหมู่บ้านในการส่งเสบียง บางหมู่บ้านอาจมีลูกเมียของนักรบ หรือมีแนวร่วมอาศัยอยู่ ก็จะคอยส่งข้าวส่งน้ำ และส่งข่าว ตลอดจนอำนวยความสะดวกต่างๆ
-ฐานปฏิบัติการกึ่งถาวรจะเชื่อมโยงกับ “ฐานพักบนภูเขา” ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานถาวร และมีการแบ่งโซนพื้นที่เป็นเครือข่ายเดียวกันกับ Support Site ตามเชิงเขา เพราะมีการแบ่งพื้นที่ปฏิบัติการกันอย่างชัดเจนดังกล่าว รวมถึงเส้นทางหลบหนี ตลอดจน “ฐานพัก” ที่เตรียมไว้รองรับในเส้นทางของตัวเองด้วย