ปัญหาของชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะที่ยะลา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาตกต่ำอย่างหนัก ทำให้ราคาทุเรียนหน้าสวนอยู่ที่กิโลกรัมละ 55-80 บาทเท่านั้น
ปัญหาเกิดขึ้นหลังจากมีกรณี จีนตีกลับทุเรียน 4 ตู้ ประมาณ 17,280 กิโลกรัม หรือประมาณ 17 ตันเศษ อ้างว่าตรวจพบหนอนในทุเรียน แม้การตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องพบว่า ทุเรียนทั้งหมดมาจากพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง ไม่ใช่ทุเรียนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และไม่ใช่ทุเรียนจากพื้นที่จังหวัดยะลาก็ตาม แต่ผลสะเทือนก็ลุกลามมาถึงทุเรียนยะลาด้วย
@@ พ่อเมืองออกโรงโต้ “ข่าวเท็จ”
นายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า ทุเรียนของยะลามีรสชาติอร่อย หวาน มัน และมีคุณภาพ เนื่องจากจังหวัดยะลามีมาตรการป้องกันไม่ให้หนอนผีเสื้อเจาะเมล็ด ตั้งแต่ทุเรียนเริ่มออกดอก และได้ใช้นวัตกรรม คือใช้แสงไฟไล่หนอนผีเสื้อที่เจาะทุเรียน
เพราะฉะนั้นรับรองได้ว่า ทุเรียนยะลามีคุณภาพแน่นอน ซึ่งจังหวัดยะลาได้ตัดทุเรียนมีดแรกวันที่ 23 ก.ค.67 ฉะนั้นข่าวที่อ้างว่าพบทุเรียนยะลามีหนอน ขอยืนยันเลยว่าไม่เป็นความจริง
@@ ขอราคาหน้าสวนอย่าต่ำกว่ากิโลฯละร้อย
ขณะที่ นายมะซอบรี ชาวบ้านที่รับซื้อทุเรียนจากหน้าสวนไปขายล้งทุเรียน จังหวัดยะลา กล่าวว่า ตอนนี้ทุเรียนหน้าสวนสามารถรับซื้อได้แค่ในราคากิโลกรัม 55-80 บาท นำไปขายต่อล้งในยะลา ราคาก็จะอยู่ที่กิโลกรัม 80-100 บาท
ขณะที่ค่าใช้จ่ายคนขึ้นตัดลูกทุเรียนลงจากต้นกิโลกรัมละ 2 บาท ขนจากบนภูเขาลงไปที่รถ กิโลกรัมละ 2 บาท ค่ากับข้าว น้ำมันรถอีก รวมๆ ต้องมีต้นทุน 7 บาทต่อกิโลกรัม ได้กำไรไม่เกิน 13 บาทต่อกิโลกรัม
“เรื่องนี้ชาวบ้านก็เข้าใจ แต่ถ้าราคาที่ล้งอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาทขึ้นไป ก็จะทำให้ราคาทุเรียนหน้าสวนไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัมแน่นอน อยากให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยเหลือชาวสวนอย่างเร่งด่วน” เป็นเสียงจากพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อทุเรียน
นายบือราเฮง ชาวสวนทุเรียน บอกวว่า วันนี้ขายทุเรียนลูกสวยๆ เข้าเกณฑ์ ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ส่วนลูกที่ตกไซส์ จะได้ราคาแค่กิโลกรัมละ 55 บาท จริงๆ ถ้าจะให้ดี ราคาต้องไม่ต่ำกว่า 100 บาทต่อกิโลกรัม ไม่ต้องราคาสูงไปถึง 150-180 บาทก็ได้
“ เราก็เข้าใจผู้บริโภค แพงไปเขาจะเอาอะไรมาซื้อ แต่ปัจจุบันทั้งปุ๋ย ยาต่างๆ ในการดูแลสวนทุเรียน ทุกอย่างแพงหมด ทำให้ชาวสวนแทบจะไม่ได้กำไรอะไรเลย ขอฝากปัญหานี้ไปยังรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน เพื่อให้ชาวบ้านได้ลืมตาอ้าปากได้บ้าง พอที่จะหายใจได้ก็ยังดี อย่าให้ภาระหลายๆ ด้านบีบแน่นจนทนไม่ไหวเลย” เป็นเสียงครวญจากชาวสวน
@@ สว.ไชยยงค์ รับฟังความเดือดร้อน
หลังรับทราบปัญหา คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ซึ่งเป็นองค์กรจิตอาสาและสื่อมวลชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เข้าพบ นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) และนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย เพื่อสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนทุเรียน
นายไชยยงค์ กล่าวว่า ทราบจากการรายงานข่าวของสื่อว่า จีนตีกลับทุเรียน โดยอ้างว่ามีหนอน ซึ่งปัญหานี้ปีที่แล้วก็เกิด ไม่ใช่เกิดเฉพาะปีนี้ ฉะนั้นจะต้องหาข้อเท็จจริง ในขณะที่หน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้ว่าราชการจังหวัด เกษตรจังหวัด จะต้องลงไปควบคุมดูแล อย่าให้เรื่องทุเรียนมีหนอนเป็นปัญหาหรือเงื่อนไขในการกดราคารับซื้อทุเรียนจากชาวสวนทุเรียนบ้านเรา
@@ ชาวสวนเบตงเคราะห์ซ้ำ ช้างป่าบุกทำลายต้นทุเรียน
ในพื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา ได้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก เมื่อช้างป่าที่ลงมาจากภูเขา ป่ารอยต่อประเทศมาเลเซีย ได้บุกเข้าไปทำลายสวนทุเรียนของชาวบ้าน ในพื้นที่ หมู่ 4 ต.ยะรม อ.เบตง ทำให้ต้นทุเรียนของชาวบ้านเสียหายจำนวน 9 ต้น และผลทุเรียนเสียหายกว่า 500 ลูก
จากเหตุการณ์ที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติบางลางที่ 3 (บล.3) ร่วมกับกำนันตำบลยะรม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้าน ได้เฝ้าระวังและติดตามช้างป่าอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการบุกรุกพืชสวนของเกษตรกร และผลักดันช้างป่าออกไปจากพื้นที่ โดยวิธีการที่ใช้ต้องคืนช้างสู่ป่าอย่างสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง โดยการใช้แสงไฟร่วมกับเสียงคนในการผลักดันช้างป่า เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อช้างป่าและผู้ปฏิบัติงาน
@@ แห่ชิมทุเรียนฟรีในเทศกาลผลไม้เบตง
อีกด้านหนึ่ง ที่ลานวัฒนธรรมสัมพันธ์เทศบาลเมืองเบตง มีกิจกรรมเบตงสตรีทฟู้ดแอนด์อาร์ต ในเทศกาลผลไม้และของดีเมืองเบตง ระหว่างวันที่ 26-30 ก.ค.67 เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยการใช้ผลไม้ขึ้นชื่อ อาหารและของดีเมืองเบตง เป็นสื่อนำการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน
ภายในงานยังมีการเปิดตลาดนัดผลไม้และของดีเมืองเบตง โดยมีการจำหน่ายผลไม้ขึ้นชื่อเมืองเบตง เช่น ทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำ (โอวฉี่) รวมทั้งมังคุดในสายหมอก มีนักท่องเที่ยวเลือกซื้อและชิมทุเรียนภายในงานอย่างเอร็ดอร่อย
โดยไฮไลต์ของงานคืนแรก มีการแจกทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน พันธุ์มูซังคิง และพันธุ์หนามดำ (โอวฉี่) ให้รับประทานฟรี โดยทุเรียนที่นมาแจก นำมาเป็นกองใหญ่หลายกิโลกรัม เพื่อให้นักท่องเที่ยว “สายทุเรียนเลิฟเวอร์” กินกันแบบจุกๆ มีนักท่องเที่ยวและประชาชนหลายร้อยคนยืนต่อแถวเป็นชั่วโมงเพื่อรอชิมทุเรียนฟรี
@@ “นิพนธ์” แนะเกษตรกรปรับตัวพัฒนาคุณภาพทุเรียน
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (นายก อบจ.สงขลา) เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการ "การฟื้นต้นทุเรียนหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต" ที่เทศบาลตำบลบางกล่ำ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา
นายนิพนธ์ กล่าวว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นที่ต้องการของตลาดส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นที่ชื่อชอบของผู้บริโภคชาวจีนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปยังทุกภูมิภาคในอนาคต
ดังนั้นเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจำเป็นต้องมีการปรับตัว และศึกษาหาแนวทางในการเพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพของทุเรียนให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด ซึ่งปัจจุบันเราส่งออกไปขายต่างประเทศปีละแสนกว่าล้านบาท และภาคใต้มีหลายพื้นที่เหมาะแก่การปลูกทุเรียน เราต้องมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดีต่อกันเพื่อเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในอาชีพการเป็นชาวสวนทุเรียนต่อไป
@@ มท.2 รับปัญหาชาวนราฯ ทั้งค่าไฟ-ประปา-ฮัจย์
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่มัสยิดดารุลนาอีม บ้านบาเละบาโร๊ะ หมู่ 2 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) ได้เดินทางไปร่วมงานการกุศลมัสยิดอารุลนาอีม ซึ่งเป็นงานการกุศลเพื่อหารายได้ซ่อมแซมและต่อเติมมัสยิดให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวน 1,500,000 บาท
นายชาดา กล่าวว่า นอกจากมาร่วมงานการกุศลที่ทางมัสยิดดารุลนาอีมจัดขึ้นแล้ว ยังถือโอกาสมาดูสภาพเศรษฐกิจในพื้นที่ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง โดยเฉพาะในส่วนที่กระทรวงมหาดไทยดูแลอยู่ จะได้นำกลับไปปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งก็มีทั้งปัญหาพื้นฐานอย่างเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปา รวมไปถึงปัญหาราคาค่าเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ที่ยังส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน