รัฐมนตรียุติธรรม จับมือ ศอ.บต. แถลงทิศทางนโยบาย Thailand Zero Dropout แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาให้หมดไป ใช้กลไกกองทุนเสมอภาคฯ ขับเคลื่อน ขยายสู่ 3 กรมกระทรวงตาชั่ง “ทวี” ห่วงนราธิวาสรั้งท้าย คนมีการศึกษาแค่ขั้นพื้นฐานกว่าครึ่ง มอบบทบาท ศอ.บต.ช่วยประสานทุกภาคส่วน ปลุกการศึกษาสร้างชีวิตใหม่
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แถลงทิศทางนโยบาย Thailand Zero Dropout “การศึกษาสร้างชีวิตใหม่ คืนพลเมืองคุณภาพสู่สังคม”
อนึ่ง คำว่า Dropout หรือ เด็ก Dropout หมายถึง เด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา นโยบายนี้จัดทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาไม่ให้มีเด็กไทยหลุดจากระบบการศึกษาอีกต่อไป ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุด
นโยบายเป็นของกระทรวงยุติธรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรม กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีเครือข่าย นำเสนอมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา จำนวน 1,020,000 คน ให้กลายเป็นศูนย์
@@ ด้อยการศึกษา...เงื่อนไขเข้าเรือนจำ ผิดซ้ำพุ่ง!
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมมี 3 กรมที่เรียกว่า “กรมพัฒนาพฤตินิสัย” ประกอบด้วย กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยจะต้องพัฒนาคนเป็นรายคน ถ้าเป็นสถาบันการศึกษาถือว่าเป็นสถานศึกษาระดับพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ จะต้องจัดการศึกษาให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ที่มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน จำนวน 230,914 คน จากจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์รวมทั้งหมด 299,449 คน คิดเป็นร้อยละ 77.11 โรงเรียนไหนมีนักเรียน 3 แสนคน น่าจะไม่มี
กรมคุมประพฤติ มีหน้าที่ต้องจัดการศึกษาเช่นเดียวกัน มีถึง 404,000 คน เป็นโรงเรียนที่มีประมาณ 5 แสนคน และกรมพินิจและคุมครองเด็กฯ อาจจะมีอีกหลักหมื่นคน
เฉพาะในส่วนของผู้ต้องราชทัณฑ์ ถูกคุมขังในเรือนจำ 299,449 คน แบ่งเป็น
ไม่ได้รับการศึกษา 28,356 คน คิดเป็นร้อยละ 9.47
ประถมศึกษา 117,415 คน คิดเป็นร้อยละ 39.21
มัธยมศึกษาตอนต้น 55,143 คน คิดเป็นร้อยละ 28.43
มัธยมศึกษาตอนปลาย 40,074 คน คิดเป็นร้อยละ 13.38
ปวช. 10,939 คน คิดเป็นร้อยละ 3.65
ปวส. 8,939 คน คิดเป็นร้อยละ 2.99
ปริญญาตรี 7,565 คน คิดเป็นร้อยละ 2.53
สูงกว่าปริญญาตรี 1,018 คน คิดเป็นร้อยละ 0.34
ผู้ต้องราชทัณฑ์ส่วนใหญ่โดนคดียาเสพติด จำนวนรวมถึง 217,628 คน ในจำนวนนี้มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐาน 166,635 คน คิดเป็นร้อยละ 76.57
ส่วนกลุ่มที่กระทำผิดซ้ำ มีจำนวน 135,269 คน ในจำนวนนี้มีการศึกษาต่ำกว่าขั้นพื้นฐานถึง 107,770 คน คิดเป็นร้อยละ 79.67
@@ วิกฤตที่มองไม่เห็น
“อยากให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นวิกฤต อันตราย เป็นความรุนแรงที่สุดที่เรามองไม่เห็น ถ้าเราแก้ปัญหาการศึกษาได้ั จะแก้ปัญหาผู้ต้องราชทัณฑ์ล้นเรือนจำได้ สมมุติมีคนถามว่ารัฐมนตรีทวีจะแก้ปัญหานักโทษล้นคุกได้อย่างไร คำตอบง่ายนิดเดียวให้กระทรวงศึกษาฯทำให้ไม่มี Dropout ก็จบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ความเสมอภาคไม่ใช่แค่ได้เรียนหนังสือ แต่ความเสมอภาคต้องได้รับการศึกษาที่ดีมีคุณภาพสอดคล้องกับบริบทสังคม ท้องถิ่น และอัตลักษณ์ เป็นการศึกษาที่พัฒนาสติปัญญาคน ไม่ใช่ทำลายสติปัญญาคน
“คิดว่าวันนี้เป็นสิ่งท้าท้าย และท้าทายที่สุดที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั้งหมดในภาคใต้ จบการศึกษาขั้นต่ำ ขั้นพื้นฐานแค่ 55 เปอร์เซ็นต์ นี่คือวิกฤติของพื้นที่นี้” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
@@ เริ่มที่ตัวเอง ครอบครัว ก่อนยกระดับสังคม
ด้าน นายแพทย์สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องมีการบูรณาการในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อคุณภาพที่ดีของประชาชน
“ภาพรวมอาจต้องมีการบูรณาการควบคู่กันกับโครงการอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน เพราะเชื่อว่าหากประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานทำ ครอบครัวจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกๆ ด้านได้ ปัญหาเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษาต้องหายไปอย่างแน่นอน สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องร่วมมือกัน” ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ระบุ
@@ รวมพลคนหลังกำแพงภาคใต้ จุดไฟหวังหลังพ้นโทษ
ช่วงเช้าวันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมรวมพลคนหลังกำแพง” ภายใต้แนวคิด “ราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาส” พร้อมทั้งร่วมเวทีเสวนาพิเศษในประเด็นความท้าทายในการสร้างการยอมรับผู้พ้นโทษ
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นที่ อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK Park ยะลา) ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ถนนสุขยางค์ ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา
งานมหกรรมรวมพลคนหลังกำแพง เป็นการสร้างพื้นที่ในการประสานความร่วมมือและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมกับภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อโอกาสกับผู้ก้าวพลาดที่ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาพฤตินิสัย การปรับทัศนคติ และการฝึกวิชาชีพ จนสามารถออกมาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวและสังคมด้วยการประกอบอาชีพสุจริต สามารถเป็นต้นแบบให้กับผู้ต้องขังได้
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้พ้นโทษที่ออกไปประกอบอาชีพและประสบความสำเร็จเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีพื้นที่ในการบอกเล่าให้กับสังคม การจัดกิจกรรมครั้งนี้จึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและความหวังให้กลุ่มคนหลังกำแพง ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นกับสังคมและกลุ่มผู้พ้นโทษว่า โอกาสที่สังคมหยิบยื่น และโอกาสที่กลุ่มคนเคยก้าวพลาดได้รับ จะเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการสร้างคนดีมีคุณค่าโดยไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ
มหกรรมรวมพลคนหลังกำแพง มีเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ปรึกษารัฐมนตรี ตลอดจนผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
@@ ปิดตำนานราชทัณฑ์ต้องคำสาป - ดินแดนต้องห้าม
พ.ต.อ.ทวี กล่าวตอนหนึ่งว่า “ทุกคนไม่มีใครไม่เคยก้าวพลาด อยากให้พวกเราลองกลับมาคิดว่า การจัดงานราชทัณฑ์แก้ไข คนไทยให้โอกาสนั้น คำว่า คนไทยให้โอกาส เป็นคำที่สูงส่งมาก ผมคิดว่าการให้โอกาสคนหลังกำแพง คือทางรอดของประเทศไทย"
“วันนี้ราชทัณฑ์เปลี่ยนไป ราชทัณฑ์เป็นสถานที่สร้างคน เพื่อให้คนมาสร้างครอบครัว สร้างประเทศชาติ ราชทัณฑ์ไม่ใช่ดินแดนต้องห้าม ไม่ใช่ดินแดนต้องคำสาปอีกต่อไปแล้ว”
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำมีมากกว่า 3 แสนคน ผู้ที่อยู่ในระหว่างควบคุมความประพฤติอีกเกือบ 4 แสนคน บุคคลเหล่านี้เกือบล้านคนต้องการเพียงแค่โอกาส
คำว่า “โอกาส” คือสิ่งที่คนอื่นยื่นให้ คนที่ต้องการโอกาสมากที่สุดคือผู้ที่ก้าวพลาด โอกาสหนึ่งที่ต้องการ คืออยากให้มองพวกเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง และขอพื้นที่ในสังคม อยากให้เรากลับมามองถึงการให้โอกาสบุคคลที่ก้าวพลาด ทั้งที่อยู่ในเรือนจำและพ้นโทษออกมาแล้ว
“การให้โอกาสคือการให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คนเกือบล้าน สามารถเป็นแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนงานที่เหมาะกับความถนัดของเขาได้ นอกจากนี้โอกาสที่เป็นสิทธิมนุษยชน คือโอกาสด้านการศึกษา เพื่อเปลี่ยนชีวิตและสร้างโอกาสของคน ถ้าคนเราขาดโอกาสทางการศึกษา ย่อมเสี่ยงต่อการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเร้าที่ไม่ดี”
“เพราะฉะนั้นอย่างน้อยคนในเรือนจำต้องได้รับการศึกษาตามอัตลักษณ์ วัฒนธรรมที่เหมาะสมในพื้นที่ของตน รวมทั้งหลักคำสอนของศาสนา ทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในฐานะที่เป็นบุคลากรของประเทศไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ