ข่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชายแดนใต้ออกไปอีก 3 เดือนรอบนี้ มีข้อมูลน่าสนใจ
ไม่ใช่แค่เป็นการต่ออายุ ขยายเวลาครั้งที่ 77 (ใกล้หลักร้อยเข้าไปทุกที...) เท่านั้น
แต่มีการระบุเหตุผลของการต่ออายุ ขยายเวลา ว่าได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่
ไม่ได้พูดกันปากเปล่า แต่มีผลสำรวจคล้ายๆ โพลมาด้วย
แถมยอดผู้สนับสนุน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สูงถึงร้อยละ 66.20
ข้อมูลนี้มาจากรายงานของ สมช. หรือ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่อ้างอิงจากข้อมูลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ( กอ.รมน. ภาค 4 สน.) ที่ได้สรุปผลการปฏิบัติงานเพื่อประกอบการพิจารณาขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ในท้องที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 77
เหตุผลคือ...
- สถานการณ์การก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ห้วงวันที่ 20 เม.ย.67-13 มิ.ย.67 ปรากฎการก่อเหตุรุนแรงจำนวน 10 เหตุการณ์ ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การก่อเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับห้วงระยะเวลาก่อนหน้า
- มาตรการลดผลกระทบต่อการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แบ่งเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ การสร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติการ และการสร้างความโปร่งใสในการจับกุมตัวและควบคุมตัว
- การประเมินผล พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คิดเป็นร้อยละ 66.20
โดยในการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ครั้งที่ 3/2567 วันที่ 25 มิ.ย.67 เห็นว่า การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการป้องกัน ระงับ ยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากที่สุด
ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน จึงมีมติเสนอให้ ครม. พิจารณาขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้น 15 อำเภอ ออกไปอีก 3 เดือน
15 อำเภอประกอบด้วย...
อ.ยี่งอ, อ.สุไหงโก-ลก, อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส
อ.ยะหริ่ง, อ.ปะนาเระ, อ.ไม้แก่น, อ.มายอ, อ.ทุ่งยางแดง, อ.กะพ้อ และ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
อ.เบตง, อ.รามัน, อ.กาบัง และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา
@@ โพลนี้ท่านได้แต่ใดมา?
หลายคนเห็นผลสำรวจ น่าจะเกิดคำถามว่า ใครเป็นคนทำวิจัยหรือเก็บข้อมูล และเก็บจากประชาชนกลุ่มใดบ้าง พื้นที่ไหน กระจายตัวอย่างไร และจำนวนเท่าไร
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบเรื่องนี้ ได้ข้อมูลว่า ทีมที่ทำสำรวจเป็นอาจารย์จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ และเครือข่ายบัณฑิตชายแดนใต้
เมื่อได้ข้อมูลมา ก็วิเคราะห์ร่วมกันกับศูนย์ประเมินผลของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ส่วนรายละเอียดทั้งหมด มีการนัดหมายกับทีมข่าวว่า จะให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้ โดยเฉพาะหัวข้อสำรวจอื่นๆ นอกเหนือจากการสนับสนุน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ