ศอ.บต.จับมือสุโขทัยธรรมาธิราช พาณิชย์จังหวัดชายแดนใต้ สัมมนายกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจปลายด้ามขวาน ดันใช้ “อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม” สร้างแบรนด์สินค้าที่แตกต่าง หวังเป็น “ซอฟต์ พาวเวอร์” ตีตลาดโลก พร้อมคุ้มครองนวัตกรรมด้วยทรัพย์สินทางปัญญา
วันเสาร์ที่ 13 ก.ค.2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาวิชาการ "สินค้าชาวไทย มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน" ภายใต้โครงการยกระดับศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชน โดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจ โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ผ่านการสร้างแบรนด์ และคุ้มครองนวัตกรรมนั้น ด้วยทรัพย์สินทางปัญญา
เช่น การจดเครื่องหมายการค้าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการสินค้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้นโยบายของรัฐบาลที่ได้ใช้แนวคิด Soft Power ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเน้นการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านหลายกลยุทธ์หลัก คือการส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและศิลปะ, การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการจัดกิจกรรม ซึ่งสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจประเทศและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยบนเวทีโลก
งานครั้งนี้มี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ผศ.ดร.ภาวิน ชินะโชติ ประธานกรรมการสาขาวิชาวิทยาการ จัดการ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) นายกรัฐมนตรีเมืองปัตตานี ตลอดจน หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการในพื้นที่ ร่วมประชุมอย่างคึกคัก เต็มห้องประชุมน้ำพราว บอลลูม โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี
โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย เป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทาย เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมหลายประการ การสร้างสินค้าชาวใต้เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างโอกาส สร้างทุนทางพื้นที่ ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ วัฒนธรรม เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นและการอนุรักษ์วัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและความสมานฉันท์ของพี่น้องประชาชน
แนวทางนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่สนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ของประเทศ เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านความรู้ และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย ให้เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้มากยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันก็สอดรับกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาศิลปะ วัฒนธรรม และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาต่อยอดในการสร้างหรือพัฒนาแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ และสื่อถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่ม และสามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดในประเทศและระดับนานาชาติ
ด้าน พ.ต.ท.วรรณพงษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การจัดสัมมนาโครงการ “สินค้าชาวใต้ มุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน” เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ศอ.บต. และพาณิชย์จังหวัดในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะและความรู้ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการสร้างแบรนด์ที่มีคุณภาพ
ทิศทางนี้จะช่วยพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์และความสมบูรณ์ของทรัพยากรและวัฒนธรรม นำไปต่อยอดทางเศรษฐกิจและสร้างความอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป
ภายในงานมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทางวิชาการ และร่วมออกบูทกิจกรรม ตลอดจนจัดนิทรรศการ มากกว่า 220 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เกษตรกรจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล รวมถึงประชาชนทั่วไปผู้ที่สนใจ เข้าร่วมเดินชมงานและนิทรรศการอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง