ผ่านมาเกือบ 1 ปีของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบาย “ควิกวิน” ที่เป็นวาระแห่งชาติ และประชาชนตั้งความหวังอย่างมาก ก็คือ นโยบายปราบปรามยาเสพติดที่แพร่ระบาดอย่างหนัก
รัฐมนตรีคนสำคัญที่รับผิดชอบภารกิจนี้ คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เนื่องจากกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ตลอดจนกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน รวมไปถึงกรมราชทัณฑ์
หน่วยงานเหล่านี้ล้วนมีบทบาทในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ทวี ยังได้ประกาศมาตรการเร่งด่วนปราบยาเสพติด พุ่งเป้า 25 จังหวัดแพร่ระบาดรุนแรง เพื่อเร่งกลไกการจัดการปัญหาให้ตรงเป้าและเห็นผลมากขึ้น
พื้นที่เป้าหมายพื้นที่หนึ่ง แม้บางจังหวัดจะไม่ได้อยู่ใน 25 จังหวัดนำร่อง แต่ก็ถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ นั่นก็คือ จังหวัดชายแดนภาคใต้
และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการทำงาน พ.ต.อ.ทวี สรุปบทเรียนแล้วว่า ยาเสพติดไม่ได้กลัวทหาร ไม่ได้กลัวตำรวจ ไม่ได้กลัวกฎหมายพิเศษ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือกฎอัยการศึก แต่ยาเสพติดกลัว “แม่” หมายถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูก และกลัว “ชุมชนเข้มแข็ง”
เหตุนี้เอง กระทรวงยุติธรรมจึงจับมืออย่างแนบแน่นกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายภาคใต้ หรือ ศอ.บต. จัดกิจกรรมปลุกพลังชุมชนเพื่อช่วยสกัดกั้นยาเสพติด โดยเฉพาะในโมเดล “จิตอาสา”
เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ก.ค.2567 พ.ต.อ.ทวี ลงพื้นที่พบปะจิตอาสาภาคประชาชน สมาคมเมืองดาหลาพัฒนาพี่น้องไทยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ที่สมาคมเมืองดาหลาพัฒนาพี่น้องไทย บ้านเกาะแลหนัง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เพื่อเสริมสร้างมิติใหม่ในการรวมพลังเครือข่ายนอกภาครัฐแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยใช้หลักศาสนาและบทบาทผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน กลไกหมู่บ้านและตำบลอย่างมีเอกภาพภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐบาลเชื่อว่ามนุษย์มีคุณค่าและความสำคัญที่จะต้องได้รับการพัฒนาโดยจะต้องทำหน้าที่คืนคนที่มีคุณภาพให้กับสังคมและชุมชน โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด หากใครคนใดคนหนึ่งถูกปล่อยไว้ ทั้งประเทศจะได้รับผลกระทบ เพราะยาเสพติดคือเชื้อโรค เราจะต้องช่วยกันและลุกขึ้นต่อสู้เพื่ออนาคตของลูกหลาน
“การร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ขอชื่นชมชาวบ้านที่นี่ที่ร่วมกันทำหน้าที่ในการเป็นจิตอาสาดูแล เป็นผู้ปกครอง และเป็นที่พึ่งพาให้กับผู้ที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อเป้าหมายในการสร้างปอเนาะให้เป็นโมเดลการแก้ไขปัญหา นำพาคนที่เดินทางผิดกลับคืนสู่สังคมต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุ
จากนั้น พ.ต.อ.ทวี ได้ลงเรือไปเยี่ยมและให้กำลังใจผู้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด ที่ปอเนาะญาลันนันบารู เกาะแลหนัง โดยมีผู้เข้ารับการบำบัดจำนวน 150 คน ใช้แนวทางหลักศาสนานำจิตใจ และมีการฝึกอาชีพให้กับผู้ที่เข้ารับการบำบัดยาเสพติดทุกคน เมื่อกลับสู่ชุมชนจะได้มีอาชีพในการสร้างรายได้ให้กับตนเอง
อนึ่ง ปอเนาะญาลันนันบารู เป็นสถานบำบัดผู้เสพยาเสพติด ซึ่งดำเนินการโดยภาคประชาชน โดยใช้หลักศาสนาอิสลามเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยมี บาบอ อับบาส บิน อิบรอเฮม เป็นผู้ดูแล
ปอเนาะแห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) สำนักงาน ป.ป.ส. รวมทั้ง ศอ.บต. ผู้เข้ารับการบำบัดของปอเนาะจึงมีส่วมในกิจกรรมของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่หลากหลายกิจกรรม เช่น กิจกรรมในวันต่อต้านยาเสพติดสากล 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นต้น
สำหรับผู้เสพยาที่ต้องการเข้ารับการบำบัด ทางปอเนาะไม่มีเงื่อนไขเรื่องอายุหรือฐานะ เคยมีเด็กวัยรุ่นอายุน้อยที่สุดเพียง 11 ปี และอายุมากที่สุดถึง 58 ปีเข้ารับการบำบัด โดยแทบไม่มีค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าอาหาร และรายจ่ายอื่นที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น