กฤษฎา บุญเรือง นักวิชาการอิสระชาวไทย จากแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เขียนบทความไขปริศนาว่า “ทำไมนักการเมืองจึงมักโกหกเรื่องวุฒิการศึกษา”
เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ แต่เป็นประเด็นที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย
บทความของอาจารย์กฤษฎา ระบุเอาไว้แบบนี้
...เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการตำหนิเฉพาะตัวบุคคล หรือต้องการนำภาพลักษณ์ทางลบมาสู่ท่านที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียอย่างหนักเรื่องข้อสงสัยว่าปลอมแปลงวุฒิการศึกษา
แต่เราคงเห็นกันมาแล้วหลายครั้งว่า นักการเมืองก็คงคล้ายกับอีกหลายอาชีพ และเรื่องนี้เราไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อาจเพียงยอมรับว่าเราจะต้องรู้ทันเพื่อปรับตัวไม่ให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพและความมั่นคงของบ้านเมืองเราก็เพียงพอ
ทำไมหลายอาชีพจึงต้องโกหกเรื่องวุฒิการศึกษา?
ตามหลักจิตวิทยาแล้วเป็นเรื่องของ “การขาดความซื่อสัตย์และมีความอ่อนแอด้านอุปนิสัย”
ใครที่มีจุดอ่อนสองอย่างนี้ก็มักชอบเติมแต่งสร้างภาพลักษณ์ให้ตนดูดีเกินกว่าความเป็นจริง หรือถึงขั้นโกหก “เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันในสิ่งแวดล้อมที่มีความซับซ้อนและมีผลประโยชน์รออยู่ชัดเจน”
นักเรียนนักศึกษาสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหรือจบการศึกษาแล้วสมัครเข้าทำงาน ก็มักจะมาถึงทางแพร่งให้เลือก คือมีโอกาส
1.แสดงความซื่อสัตย์ หรือ
2.เสริมสวยคุณสมบัติของตนเอง
แต่ละคนก็จะทำไม่เหมือนกัน บางคนบอกว่าตนซื่อสัตย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ส่วนบางคนก็คิดว่าถ้าเลือกเส้นทางนั้น ก็คงจะสู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นในเมื่อคนอื่นเขาแต่งเสริมขึ้นมา เราก็ต้องทำบ้าง
การสมัครงานในระดับสากลก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยปรุงแต่งให้ใช้คำที่คัดสรร และมีประสิทธิภาพที่สุดในการสื่อสารคุณสมบัติของผู้สมัคร ซึ่งการเขียนคำหรือวลีที่โปรแกรมบางอย่างหรือผู้เชี่ยวชาญในการเสริมแต่งแนะนำให้ ก็อยู่ที่ตัวผู้สมัครเองต้องตัดสินใจว่าเราจะเสนอตัวในกาลเทศะนั้นอย่างไร
จะเป็นคนที่ซื่อสัตย์และถ่อมตน หรือจะซื่อสัตย์และแต่งเติม หรือโกหกพกลมไปเลย และหวังว่าเขาคงจะจับไม่ได้
ผู้นำแทบทุกระดับตั้งแต่หมายเลขหนึ่งในสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก จนถึงครูบาอาจารย์ และนักวิจัยระดับซุปเปอร์สตาร์ ก็ถูกโซเชียลมีเดียตรวจสอบและจับพิรุธได้
อย่างเช่นกรณีของประธานมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ต้องลาออกหลังจากที่ไม่สามารถจะปฏิเสธการย้อนไปค้นคว้าหลักฐานการแต่งเติมผลงานการวิจัย ซึ่งผู้ที่นำมาเปิดโปงนั้นเป็นนักศึกษาสแตนฟอร์ดปี 1
ตัวอย่างมีนับไม่ถ้วนในแทบทุกวงการ และทำให้เราตกใจหลายครั้งเมื่อเรื่องมาอยู่ใกล้ตัวเรา หรือเกิดในสถาบันที่เราไม่คิดว่าควรจะเป็น เช่น สถาบันศาสนาซึ่งต้องมีจริยธรรม ศีลธรรมสูง ก็มีการเล่นพรรคเล่นพวก ใช้สินจ้างรางวัลเอาข้อมูลเท็จหรือหลักฐานเท็จมาแย่งชิงอำนาจในสถาบันเป็นต้น
ถ้าเรามองเห็นบุคคลที่มีบุคลิกทั้งวาจาใช้ภาษาตอบโต้กับสื่อมวลชน ใช้โซเชียลมีเดียหรือวางตัวในหลายวาระซึ่งดูแล้วก็เหมือนกับเขาไม่ใช่ตัวของตัวเอง แต่เป็นบุคคลที่เคว้งคว้าง ขาดความมั่นใจ และเมื่อถูกทักท้วงก็ยังหาหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือหรือหลักฐานปลอมมาแก้ตัว
และมองย้อนกลับมาที่องค์กรหรือสถาบันที่บุคคลเหล่านั้น ใช้หลักฐานปลอมมาสมัครงาน และใช้หลักฐานปลอมมาแก้ตัว แล้วสถาบันนั้นหรือสังคมนั้นยังปล่อยให้ผ่านไปโดยที่ไม่ยึดหลักของความซื่อสัตย์ หรือพลาดโอกาสทองในการใช้โอกาสนี้ปรับปรุงอุปนิสัยของผู้เกี่ยวข้อง ก็เตรียมตัวเตรียมใจไว้ว่าสังคมจะเสื่อมไปข้างหน้า
ยืนหน้ากระจกเงาแล้วก็ถามตนเองว่าเรามีความซื่อสัตย์หรือเรามีอุปนิสัยที่เข้มแข็งเพียงพอหรือยัง?
เมื่อผู้อื่นมองเรา เขาเห็นสิ่งที่เราเสริมสวยหรือเปลือกที่เรานำเสนอ?
หรือช่างมันเถอะ เพราะเราต้องทันโลกและแข่งขันแบบเฉลียวฉลาดดีกว่าทื่อๆ
หรือเราจะใช้โอกาสนี้มาปรับปรุงตัวเราเองให้มีความเคารพในหลักการ และมีความภูมิใจลึกๆ ในวันนี้และในวันหน้า ไม่ว่าจะต้องแข่งขันอะไรกับใคร ในเมื่อการแข่งขันที่ว่านั้น แม้ถึงเส้นชัยก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ...