“Outside ชายแดนใต้” คือ คอลัมน์ใหม่ของ ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา จะสรุปประเด็นข่าวน่าสนใจที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เกี่ยวข้องกับปัญหาในพื้นที่ มาสรุปเสนอคุณผู้อ่านสัปดาห์ละครั้ง เน้นช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์
OO สัปดาห์นี้เริ่มจาก เมื่อวันที่ 9 ก.ค.67 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอาศัยอำนาจตาม “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.67 ถึงวันที่ 19 ต.ค.67 ซึ่งเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 77 นับตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อเดือน ก.ค.2548 เป็นต้นมา
สำหรับพื้นที่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำกัดเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งมีทั้งสิ้น 33 อำเภอ แต่ยกเว้น 15 อำเภอ เพราะได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว ได้แก่ จ.นราธิวาส ยกเว้น อ.ยี่งอ, อ.สุไหงโก-ลก, อ.แว้ง และ อ.สุคิริน จ.ปัตตานี ยกเว้น อ.ยะหริ่ง, อ.ปะนาเระ, อ.ไม้แก่น, อ.มายอ, อ.ทุ่งยางแดง, อ.กะพ้อ และ อ.แม่ลาน จ.ยะลา ยกเว้น อ.เบตง, อ.รามัน, อ.กาบัง และ อ.กรงปินัง
OO วันที่ 10 ก.ค.67 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบด้วยมติเอกฉันท์ ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงวันที่ 4 เม.ย.2559
โดยมีสาระสำคัญ คือ เป็นการคืนคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กับกลไกการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกำหนดกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ หลังจากกลไกนี้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 ถูกเปลี่ยนแปลงโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าว ซึ่งส่งผลเป็นการตัดองค์ประกอบและอำนาจตัวแทนภาคประชาชนในสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไปให้อำนาจ กอ.รมน.แทน
สำหรับร่างกฎหมายใหม่ กำหนดให้มีสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนร่วมกับระบบสรรหาแบบเดิม ภายใน 120 วัน และให้คำนึงถึงความเท่าเทียมกันระหว่างเพศและมีตัวแทนเยาวชนเป็นกรรมการ หลังจากนี้จะส่งร่างกฎหมายให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป
OO วันที่ 11 ก.ค.67 นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ครั้งที่ 1/2567 ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลชุดนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า จะผลักดันให้เกิด “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล” โดยกำหนดผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเป้าหมาย ระยะแรก เอาไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.อาหารฮาลาล เช่น เนื้อสัตว์ อาหารแปรรูป อาหารทะเล อาหารพร้อมรับประทาน อาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ และอาหารมุสลิมรุ่นใหม่ 2. แฟชั่นฮาลาล ประกอบด้วย สิ่งทอ อัญมณี เครื่องหนัง 3.ยา สมุนไพร เครื่องสำอางฮาลาล 4.โกโก้และผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง 5.บริการและการท่องเที่ยวฮาลาล
สำหรับ (ร่าง) แผนปฎิบัติการผลักดันศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล กำหนดกรอบเวลาไว้ระหว่างปี 2567-2570 และวางกรอบการใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,230 ล้านบาท
OO นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบท ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสายบ้านวังไทร - บ้านปะเด็ง (ตอน 2) ตำบลแม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร ผิวจราจร กว้าง 6 เมตร ไม่มีไหล่ทาง ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 39.8 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ถนนสายนี้เป็นเส้นทางผ่าน 2 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านวังไทร และบ้านประเด็ง เนื่องจากถนนเดิมเป็นป่ารก และเป็นถนนลำลอง ต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อในการสัญจรเท่านั้น ทั้งยังตัดผ่านภูเขา เมื่อถึงฤดูฝนทำให้การเดินทางสัญจรของประชาชนในพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทางกรมฯจึงพัฒนาเส้นทางให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรไป-มาได้อย่างสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น