ภารกิจสร้างความเข้าใจ ทั้งในมิติความมั่นคง งานพัฒนา และงานเยียวยา เป็นกุญแจสำคัญของการจุดประกายสันติสุขในดินแดนปลายด้ามขวานในความรับผิดชอบของ ศอ.บต.
โดยมี “บัณฑิตอาสา” เป็นกลไกสำคัญ ทำหน้าที่เป็น “ข้อต่อ” ขับเคลื่อนภารกิจให้ลงถึงระดับหมู่บ้าน
นอกจากจะช่วยให้งานของ ศอ.บต. หรือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ บรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างงาน และเพิ่มบทบาทให้กับบัณฑิตในพื้นที่ชายแดนใต้ด้วย
แต่การทำงานให้ได้ผลสัมฤทธิ์ ย่อมต้องมีการอบรมทักษะอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ก็ได้พบปะกับ “บัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิ” ในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส ภายใต้กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพการปฏิบัติงานของบัณฑิตอาสาฯ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2567 ที่โรงแรม บีพี สมิหลา จังหวัดสงขลา
โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ฝึกทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานและสร้างภาวะการเป็นผู้นำในการจัดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ ตลอดจนการฝึกอบรมทักษะเพื่อยกระดับสู่การเป็นนักจัดการและนวัตกรชุมชน
ภายในงานมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายสมาคมพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้แก่ งานออกแบบหลักสูตรพัฒนาบุคลากร บริษัทศูนย์วิชาการอาคเนย์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เข้าร่วมเวิร์คชอป บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมว่า บัณฑิตอาสาถือเป็นสมาชิกครอบครัว ศอ.บต.มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2552 ดีใจที่มีโอกาสได้พบปะกันในกิจกรรมในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่บัณฑิตอาสาได้ทำงานให้กับพื้นที่ในนาม ศอ.บต. ที่ขาดไม่ได้เลยคือการทำงานต้องมีการพัฒนาทักษะ ระยะเวลาที่ผ่านไปในแต่ละปี มีเนื้อหาและมีประเด็นใหม่ๆ ที่บัณฑิตอาสาควรได้รับการส่งเสริม ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตอาสาถือว่ามีส่วนสำคัญในการบริหารพื้นที่ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญในการพัฒนาและบริหารจัดการในระดับหมู่บ้าน
สำหรับรูปแบบการจัดการ รูปแบบของการแก้ไขปัญหาต่างๆนั้น ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง วิทยากรที่มาให้ความรู้ในครั้งนี้ก็มีความชำนาญ และผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะสามารถเพิ่มองค์ความรู้เพื่อนำไปใช้ในการทำงานได้ เชื่อมั่นในศักยภาพของบัณฑิตอาสาว่าทำได้แน่นอน
“บัณฑิตอาสาถือเป็นแกนหลักในการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล เป็นผู้ช่วยประจำพื้นที่ในการร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หรือนโยบายของผู้บริหารของ ศอ.บต.ลงไปสู่พี่น้องประชาชนในระดับหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการเป็นผู้รับชอบจัดเก็บรวบรวมสอบทานข้อมูลของหมู่บ้าน สนับสนุนภารกิจ ตลอดจนการติดตามผลการดำเนินงาน การประเมินผลโครงการและกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ เพื่อสามารถนำข้อมูลมาปรับปรุง ประยุกต์ด้านการพัฒนาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้” เลขาธิการ ศอ.บต. ระบุ
@@ ถกหน่วยงานพันธมิตรจัดทำฐานข้อมูลกลาง “เหยื่อไฟใต้”
ภารกิจสำคัญประการหนึ่งที่ ศอ.บต.มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และมุ่งมั่นดำเนินการให้ครอบคลุมต่อเนื่อง ก็คือ การเยียวยาและติดตามดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ซึ่ง “บัณฑิตอาสา” ก็เป็นกลไกหนึ่งที่ช่วย ศอ.บต.ในการเข้าถึง รับฟังปัญหา และสร้างความเข้าใจ
แต่การจะเยียวยาได้อย่างครบถ้วน ไม่ตกหล่น เรื่องฐานข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อเร็วๆ นี้ ศอ.บต.เพิ่มประชุมการจัดทำฐานข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย
- ศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
- สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 11
- ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
โดยมี นายนันทพงศ์ สุวรรณรัตน์ รองเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นประธานการประชุม ที่ห้องประชุมน้อมเกล้า ชั้น 1 ศอ.บต.
นายนันทพงศ์ กล่าวว่า การพูดคุยในวันนี้นับเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นและบรรลุผลให้สำเร็จตามหน้าที่และบทบาทต่างๆ ภายใต้ฐานข้อมูลที่ตรงกันของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ โดยภาครัฐจะต้องดำเนินการช่วยเหลือต่อไปในอนาคต
ในการนี้ได้มีการออกแบบชุดข้อมูลให้สามารถตอบโจทย์ที่สมบูรณ์และเป็นกลางจากทุกหน่วยงาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยศอ.บต.จะเป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาระบบงานในภาพรวม โดยเชื่อมโยงข้อมูลเก่าและบูรณาการทำงานร่วมกันกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป