รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย และการก่อเหตุแบบ “โลนวูลฟ์“ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในสหรัฐในมิติต่างๆ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ลอบยิง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี
อาจารย์ฐิติวุฒิ กล่าวว่า การเมืองสหรัฐก่อนการลอบยิงทรัมป์ มี 2 ประเด็นที่เกิดขึ้น และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์
อย่างแรก คือ กรณีของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นตัวแทนของพรรคเดโมแครต ลงชิงตำแหนงอีก 1 สมัย ปัจจุบันเกิดคำถามและข้อสงสัยเรื่องสมรรถภาพทางร่างกายเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการแสดงออกของภาวะหลงลืมด้วยวัยชราในหลายโอกาส จนอาจจะถึงจุดที่เรียกได้ว่าไม่สามารถเป็นตัวแทนลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐได้อีกต่อไป
อย่างที่สอง คือ กรณีของ ทรัมป์ มีข้อกล่าวหาเรื่องความสุดโต่ง และการเผชิญหน้ากับคดีความไม่โปร่งใสต่างๆ รวมถึงอยู่เบื้องหลังหรือสนับสนุนความรุนแรงทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีมวลชนบุกรัฐสภา
ทั้งสองประเด็นนี้ เป็นปัญหาที่เกิดอยู่แล้วก่อนเหตุการณ์ลอบยิงทรัมป์ และยังไม่มีทางออกที่ดีของการเมืองสหรัฐได้ การเลือกตั้งจึงกลายเป็นการแข่งขันกันของสองผู้นำสูงวัยที่แต่ละคนต่างก็มีปัญหาของตนเอง
อาจารย์ฐิติวุฒิ กล่าวต่อว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ลอบยิงทรัมป์ขึ้นมาอีก ทำให้เกิดภาพสองภาพซ้อนกันในการเมืองสหรัฐ กล่าวคือ
หนึ่ง ทรัมป์มีภาพการเป็นผู้นำสุดโต่งอยู่แล้ว ทั้งยังเคยแสดงออกเรื่องการสนับสนุนการใช้กำลังยึดรัฐสภา รวมถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อแสดงออกทางการเมืองหลากหลายรูปแบบในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริบทการเมืองของสหรัฐ เป็นมูลเหตุของ “อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง”
สอง เมื่อทรัมป์ถูกลอบสังหารเสียเอง จึงเป็นคำถามในมุมกลับว่า ทรัมป์เองก็อาจเป็นเหยื่ออาชญากรรมในรูปแบบนี้ด้วยหรือไม่
ฉะนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนภาพการเมืองของสหรัฐที่เป็นสังคมแห่งความรุนแรงในตัวเอง ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการปลุกระดมแนวคิดสุดโต่ง อาชญากรรมแห่งความเกลียดชัง หรือแม้กระทั่งการอนุญาตให้พกพาอาวุธปืนอย่างถูกกฎหมาย
@@ ยังไม่ชัดโยงก่อการร้าย - ให้น้ำหนักปมรุนแรงการเมือง
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของการก่อการร้าย ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายสากล หรือศัตรูนอกประเทศของสหรัฐ แต่หมายถึง “กลุ่มโลนวูลฟ์” ที่ก่อเหตุโดยตัวเองเพียงลำพัง หรือพวก “โฮมโกรว์น” ซึ่งหมายถึงคนในชาติตัวเองที่ฝักใฝ่แนวคิดก่อการร้าย แล้วตัดสินใจก่อเหตุในครั้งนี้
อาจารย์ฐิติวุฒิ ตอบว่า หากมองความเป็นไปได้ของการก่อการร้ายสากล ยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการสืบหาหลักฐาน และฟังผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่สหรัฐ แต่มีข้อสังเกตว่าหากกลุ่มก่อการร้ายต้องการที่จะสังหารทรัมป์ คำถามสำคัญคือกลุ่มก่อการร้ายมีแรงบันดาลใจในเรื่องอะไร เพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการตัดสินใจก่อเหตุของกลุ่มก่อการร้าย 3 กลุ่มนี้ คือ
-กลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อด้านศาสนา
-กลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชังทางเชื้อชาติ
-กลุ่มก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างประเทศในปัจจุบัน
การประเมินความเป็นไปได้ของทั้ง 3 กลุ่ม ต้องมองอย่างใกล้ชิดและเชิงลึกว่า ทรัมป์เข้าไปเกี่ยวข้องในประเด็นใดจนกลายเป็นแรงขับดันให้ลงมือก่อเหตุ ซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานใดๆ ยืนยันหรืออธิบายได้เลย
“ทรัมป์ห่างหายจากตำแหน่งประธานาธิบดีไปนาน และไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง หากมีแรงบันดาลใจในการก่อเหตุจากกลุ่มก่อการร้าย อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายสากลโดยตรง แต่มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นการกระทำของกลุ่มภายในประเทศที่มีแรงบันดาลใจทางการเมืองมากกว่า”
ส่วนความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นปฏิบัติการของ “โลนวูล์ฟ” อาจารย์ฐิติวุฒิ บอกว่า หากจะเข้าข่าย มือปืนต้องตัดสินใจลงมือด้วยตนเอง และทำด้วยตนเองคนเดียวตั้งแต่ขั้นตระเตรียมการ
แต่ในมุมนี้ตนยังแอบสงสัยในหลายประเด็น โดยเฉพาะการขึ้นไปอยู่บนหลังคาตึกได้พร้อมอาวุธปืน เหตุใดระบบรักษาความปลอดภัยจึงหละหลวมขนาดนั้น ฉะนั้นจึงค่อนข้างยากที่จะปฏิบัติการได้เพียงลำพัง
แต่ประเด็นที่ อาจารย์ฐิติวุฒิ ซึ่งศึกษาเรื่องก่อการร้ายมานาน ฝากทิ้งท้ายเอาไว้ก็คือ ”ในยุคนี้ใครๆ ก็เป็นกลุ่มก่อการร้ายได้ ถ้ามีแนวคิดสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาหรือเสรีนิยมเองก็ตาม”
อ่านประกอบ : "โฮมโกรว์น – โลนวูล์ฟ" จิ้งจอกเดียวดายกับลัทธิก่อการร้าย...อันตรายทุกพื้นที่ในโลก