สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อนแรงและตึงเครียดขึ้นมาอีกครั้ง
เมื่อมีกลุ่มคนร้ายแต่งกายคล้ายทหารพราน ก่อเหตุปล้นปืน ชรบ. หรือ ปืนของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จำนวน 4 จุด ในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดยะลา ได้อาวุธปืนลูกซองของทางราชการไปรวม 4 กระบอก และปืนพกส่วนตัวของ ชรบ.อีก 3 กระบอก พร้อมวิทยุสื่อสารอีก 1 เครื่อง
เหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อค่ำของวันอังคารที่ 9 ก.ค. โดยคนร้ายที่ปฏิบัติการแต่ละจุดมีพฤติการณ์คล้ายกัน คือ
หนึ่ง รวมตัวกันจุดละ 7-15 คน
สอง แต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่ทหารพราน
สาม ปิดบังใบหน้า สวมไอ้โม่งบ้าง พันผ้าบ้าง
สี่ มีอาวุธสงครามครบมือ
ห้า จุดที่ปล้น กระจาย 3 อำเภอ คือ กรงปินัง ยะลา และอำเภอเมือง มีทั้งป้อม ชรบ. และบ้านของผู้ใหญ่บ้าน
ทั้งนี้ เนื่องจาก ชรบ. เป็นกองกำลังภาคประชาชนที่ขึ้นกับฝ่ายปกครอง มีผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้า หลายพื้นที่จึงใช้บ้านผู้ใหญ่บ้านเป็นศูนย์กลาง หรือฐานปฏิบัติการของ ชรบ. เป็นจุดนัดพบและเก็บอาวุธปืน
สาเหตุของการปล้นปืน มีการวิเคราะห์ของฝ่ายความมั่นคงและหน่วยข่าวในพื้นที่ โดยให้น้ำหนักไปที่ 2-3 เรื่อง คือ
1.เป็นการตอบโต้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง หลังมีการกวาดจับผู้ต้องสงสัยเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์คาร์บอมบ์ หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จังหวัดยะลา ซึ่งมีการจับกุมไปแล้ว 8 คน ปล่อยตัว 1 คน
ประเด็นน่าสังเกตคือ จุดที่เกิดเหตุปล้นปืน คือ จังหวัดยะลา จังหวัดเดียวกับที่เกิดคาร์บอมบ์ และกวาดจับผู้ต้องสงสัยทั้งหมด แต่เป็นคนละอำเภอกัน
2.ก่อเหตุเพื่อท้าทายและเย้ยเจ้าหน้าที่ เนื่องจากมีโครงการฝึกกองกำลังภาคประชาชน และ อส.เพิ่มขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบต้องการดิสเครดิตรัฐ และสร้างเครดิตให้ตัวเองว่าไม่กลัวกองกำลังที่ฝึกขึ้นใหม่
3.มีปัญหาเชิงลึกในพื้นที่ โดยเฉพาะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพราะเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก็เพิ่งมีเหตุปล้นปืนเกิดขึ้น โดยผู้ก่อเหตุได้ปืนเอ็ม 16 ไปด้วย พร้อมเครื่องกระสุนอีกจำนวนมาก
การก่อเหตุปล้นปืน ส่งผลดิสเครดิตเจ้าหน้าที่ได้หลายมุม ได้แก่
หนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐอ่อนแอ โดนปล้นอาวุธไปได้ ทั้งๆ ที่ไม่ควรเกิดขึ้นในพื้นที่ขัดแย้งและมีการสู้รบแบบนี้
สอง เมื่อคนร้ายได้ปืนไป ก็จะมีศักยภาพมากขึ้นในการก่อเหตุตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ หรือทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์
สาม เจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยรายงานความคืบหน้าคดีปล้นปืน และมีปัญหาเรื่องข้อมูลว่าติดตามปืนคืนได้กี่กระบอกแล้ว
ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามรวบรวมตัวเลขเหล่านี้ แต่ไม่สามารถหาตัวเลขที่แท้จริงได้ ทำให้ไม่มีใครรู้ว่า ปืนของรัฐไปอยู่ในมือคนร้ายกี่กระบอกกันแน่ หายเพราะขโมยกันเองไปขาย แล้วโยนบาปให้สถานการณ์ความไม่สงบหรือไม่ หรือมีการร่วมมือกับโจร กับคนร้าย ในการก่อเหตุชิงปืน
อ่านประกอบ : "ปืนหาย" กับความอ่อนไหว และข้อควรระวังเรื่อง "โจรปลอม"
ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ ยิ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายความมั่นคงเสียเครดิตมากขึ้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืน!