มีความพยายามตรวจสอบสาเหตุของการวางระเบิด “คาร์บอมบ์” ที่หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา จ.ยะลา เพราะถือเป็นเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ เป็น “คาร์บอมบ์” ลูกแรกของปี 67 โดยที่สถานการณ์ในภาพใหญ่ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่ชัดเจน
ภาพรวมไฟใต้ขณะนี้อยู่ในภาวะ “นิ่งรอดูทิศทาง” เพราะ
1.งบประมาณปี 67 เริ่มใช้แล้ว งบประมาณปี 68 ก็ผ่านการพิจารณาของสภาวาระแรกแล้ว จึงไม่มีเงื่อนไขสร้างสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับงบประมาณของรัฐ
2.กระบวนการพูดคุยสันติสุขฯ กำลังเดินหน้า และฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐ ไม่ได้เสียเปรียบ
3.คณะทูตจากชาติมุสลิมที่เป็นสมาชิกโอไอซี หรือ องค์การความร่วมมืออิสลาม เพิ่งลงพื้นที่และเดินทางกลับไปด้วยความประทับใจ โดยช่วงที่เยือนชายแดนใต้ กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แทบไม่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นเลย
คำถามจึงดังระงมว่า “เกิดอะไรขึ้น?”
ข้อมูลจาก “หน่วยข่าวความมั่นคง” วิเคราะห์ว่า ช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเกิดคาร์บอมบ์ มีเหตุการณ์ที่อาจเป็นเงื่อนไขในพื้นที่ได้ 2 เหตุการณ์ ซึ่งอาจนำมาสู่การสร้างสถานการณ์ขนาดใหญ่
เหตุการณ์แรก คือการลอบยิง นายรอนิง ดอเลาะ เสียชีวิต เหตุเกิดในพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา
หลังเกิดเหตุ ไม่ได้เป็นข่าวใหญ่ เพราะเจ้าหน้าที่ระบุสถานะของนายรอนิงว่า เป็น “ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย” ทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอยะรัง
แต่ในเวลาต่อมา มีการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาสังคม และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ โดยมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แท้ที่จริงแล้ว นายรอนิง คือ ผู้ประสานงาน “กลุ่มด้วยใจ” ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมชื่อดังในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กร เช่น ยูนิเซฟ
ขณะเดียวกัน นายรอนิง ยังเคยออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็น “เหยื่อซ้อมทรมาน” เคยถูกควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ ตั้งแต่ก่อนกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ จะมีผลบังคับใช้ จนมีคดีฟ้องร้องกับฝ่ายความมั่นคงมาแล้ว
การลอบสังหารนายรอนิง จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา และมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนออกมาเรียกร้องให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงเรื่องนี้ พร้อมเปิดทางให้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาตรวจสอบหาสาเหตุการลอบสังหาร
ด้าน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่ได้รับลูกตามคำเรียกร้อง แต่กลับมีการแถลงผลตรวจอาวุธปืนที่ใช้ยิงนายรอนิง ปรากฏว่าเคยก่อคดีสำคัญมาอย่างน้อย 8 คดี เป็นคดีสังหารเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้บริสุทธิ์ จึงฟันธงว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการสร้างสถานการณ์ของกลุ่มก่อความไม่สงบ แล้วโยนบาปให้เจ้าหน้าที่รัฐ และฝ่ายความมั่นคง
เรื่องนี้แม้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จะมีคำชี้แจง แต่บรรยากาศในพื้นที่ก็ยังร้อนระอุอยู่
เหตุการณ์ที่ 2 การปิดล้อมตรวจค้นบ้านต้องสงสัยในพื้นที่ตำบลบาเจาะ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 4 ราย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา
ปากคำจากชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า ปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างใหญ่โต มีการใช้กำลังค่อนข้างมาก สร้างความตื่นตกใจให้กับประชาชนที่รู้เห็นเหตุการณ์พอสมควร
ที่สำคัญ หลังจากนั้นเพียง 2 วัน คือ วันที่ 29 มิถุนายน เจ้าหน้าที่ได้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม 2 จาก 4 รายเป็นอิสระ
ตรวจสอบประวัติของทั้ง 2 คน ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา คนหนึ่งอายุ 47 ปี เป็นนักกิจกรรมช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้านกฎหมายความมั่นคง ขณะที่อีกคนหนึ่ง อายุ 37 ปี เป็นอาสาสมัครยะลาสันติสุข
หลังได้รับการปล่อยตัว 1 ใน 2 คนให้สัมภาษณ์สื่อทันที โดยอ้างข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่จับกุมพวกตนไป โดยไม่ได้แจ้งข้อหา และเจ้าหน้าที่เองยังไม่รู้เลยว่าจับกุมไปด้วยข้อหาอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ซักถาม (ตั้งอยู่ในค่ายทหาร เป็นสถานที่ควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษ) ยังมาถามตนด้วยซ้ำว่า “โดนข้อหาอะไรมา?” ปฏิบัติการเช่นนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิชัดเจน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ และถัดจากนั้นเพียง 1 วัน ก็เกิดเหตุ “คาร์บอมบ์” ครั้งรุนแรง หนำซ้ำยังเกิดในพิ้นที่อำเภอบันนังสตา ที่มีการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 4 คนนั่นเอง
เบื้องต้น ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ให้น้ำหนัก 2 เหตุการณ์นี้ว่าน่าจะเป็นชนวนเหตุของ “คาร์บอมบ์” หน้าแฟลตตำรวจ สภ.บันนังสตา โดยพุ่งเป้าไปที่การตอบโต้การควบคุมตัว 4 ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงมากกว่า
“เป็นการตอบโต้จากสมาชิกกลุ่ม หลังเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ 4 ราย” เป็นคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวชายแดนใต้
เจ้าหน้าที่รายเดิม ยังเผยด้วยว่า อำเภอบันนังสตาเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของ นายอับดุลเลาะ ตาเปาะโต๊ะ หรือ “แบเราะ” อายุ 36 ปี สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการ
@@ นักกิจกรรมดักคอรัฐ อย่าจับโยงคาร์บอมบ์บันนังสตา
กรณีการควบคุมตัว 4 ผู้ต้องสงสัยจากปฏิบัติการปิดล้อม ตรวจค้น ในพื้นที่อำเภอบันนังสตา กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา เมื่อมีการปล่อยตัว 2 ใน 4 คนเป็นอิสระ จากนั้นไม่ถึง 24 ชั่วโมง ก็เกิด “คาร์บอมบ์” ขึ้นในพื้นที่บันนังสตาเช่นกัน
หนึ่งในผู้ได้รับการปล่อยตัว เป็นหนุ่มใหญ่วัย 47 ปี และเป็น “นักกิจกรรม” ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายความมั่นคง ซึ่งพิจารณาจากกิจกรรมที่ทำก็ไม่ได้อยู่ฝั่งเดียวกัน หรือสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอยู่แล้ว
ที่สำคัญ หนุ่มใหญ่รายนี้ เมื่อเป็นอิสระ ก็เคลื่อนไหวให้ข่าวทันที และได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ทีมข่าวอิศรา”
นักกิจกรรมวัย 47 ปี เล่าว่า “2 คืนที่ถูกควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ไม่ได้ซักถามอะไรเลย หนำซ้ำเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยซักถามได้สอบถามว่าโดนข้อหาอะไร ผมจึงตอบไปว่า...มาถามเรา แล้วจับเรามาทำไม นี่คือกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างไม่ยุติธรรม จริงๆ ก็อยากรู้เหมือนกันว่าจับผมไปทำไม ก็อยากให้เจ้าหน้าที่ที่จับกุมตอบคำถามนี้ด้วย”
ทีมข่าวรายงานว่า วันที่ 30 มิถุนายน ซึ่งเกิดเหตุคาร์บอมบ์ ปรากฏว่า นักกิจกรรมที่เพิ่งได้อิสรภาพเดินทางไปร่วมงาน “ตาดีกาสัมพันธ์” ที่ อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี เพื่อขอเข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดย นักกิจกรรมบอกว่า รัฐมนตรีทวีได้ช่วยประสานงานให้ตนได้รับอิสรภาพ และได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ เพราะรัฐมนตรียุติธรรมรับผิดชอบการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานฯ
ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อได้ทราบข่าวว่า เกิดคาร์บอมบ์ขึ้นที่อำเภอบันนังสตา นักกิจกรรมรายนี้ให้สัมภาษณ์ดักคอทันทีว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะส่งคนไปเยี่ยมตนที่บ้านหรือไม่
“ได้ข่าวว่าเกิดเหตุที่บันนังสตา ขณะที่ผมเดินทางมาขอบคุณท่านรัฐมนตรีในพื้นที่ปัตตานี ผมก็ไม่รู้ว่าเหตุครั้งนี้ เขา(เจ้าหน้าที่) จะไปเยี่ยมผมที่บ้านอีกเมื่อไหร่”
@@ เตือนรัฐเลิกใช้ “กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” เป็นโล่มนุษย์
อย่างไรก็ดี นักกิจกรรมวัย 47 ปี ยอมรับว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐดีขึ้นในช่วงหลัง โดยเฉพาะหลังจากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ.2565
“ก็ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่มากที่ปฏิบัติตามกฎหมายซ้อมทรมานฯ กระบวนการดีตั้งแต่ปิดล้อม ตรวจค้น การส่งตัวไปแต่ละจุด ดูแล้วเจ้าหน้าที่ให้ความร่วมมือกับประชาชนเป็นอย่างดี เจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และคิดว่าเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีกฎหมายนี้”
แต่สิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เคยเปลี่ยน ในความรู้สึกของนักกิจกรรมวัย 47 ปีก็มีเหมือนกัน
“สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเลย และรู้สึกว่าเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงสมควรให้เกียรติมากกว่านี้ ก็คือผู้นำในพื้นที่ เพราะผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ก็มีกฎหมายควบคุมเขา แต่เวลามีการปิดล้อมตรวจค้นซึ่งเกิดขึ้นบ่อยมาก เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงมักใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นโล่นำเจ้าหน้าที่ในการเข้าพื้นที่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่เองก็มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทันสมัยควรจะเลิกใช้ให้ผู้นำเป็นโล่มนุษย์เข้าจุดเกิดเหตุได้แล้ว“
คำสัมภาษณ์ของนักกิจกรรมวัย 47 ปี คืออีกหนึ่งภาพสะท้อนความรู้สึกบางด้านของคนในพื้นที่ที่มีต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง!