จบไปแล้วอย่างไม่เป็นทางการ สำหรับกระบวนการเลือก สว.67 ซึ่งวิจารณ์กันว่า กติกาการเลือกสุดแปลกประหลาดพิสดาร มีเฉพาะที่เมืองไทยประเทศเดียวในโลก
และเมื่อโฉมหน้า สว.67 ปรากฏออกมา ก็มีการให้ “นิยาม” สว.ชุดใหม่ ตามที่มาที่ไป และภาพสุดท้ายที่เห็น
“นิยาม” เหล่านี้ สั้นบ้าง ยาวบ้าง เรารวบรวมมาจาก “ผู้นำทางความคิด” ของสังคม ซึ่งเกาะติดการเลือก สว.มาตลอด เอ่ยชื่อไปทุกคนต้องรู้จัก
เพียงแต่ “นิยาม” เหล่านี้ บางข้อความถูกสรุปอย่างตรงไปตรงมา บาง “นิยาม” จึงออกสื่อลำบาก จึงขอนำมาแค่ “นิยาม” แต่ไม่บอกชื่อคนให้นิยาม ยกเว้นแค่บางท่านที่อนุญาตเปิดเผยที่มาได้
“สภาสูงสีน้ำเงิน”
“เครือข่ายภูมิใจไทยเข้าเยอะมาก”
“เพื่อไทยพ่ายเกมภูมิใจไทย”
“ฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายเกมหักหลัง”
“อ.มีชัย...ชนะเลิศ”
“มีดีล สมชายหลุด ไม่ให้บางตระกูลคุมสองสภา”
นิยามแบบยาวๆ ในมุมความหลากหลายทางอาชีพอย่างไม่น่าเชื่อ...
“คนขับรถ
สื่อสาขาช่างเย็บผ้า
พิธีกรงานแต่งงานบวช
เสียงตามสายประจำหมู่บ้าน
นักเดาะบอล
นางฟ้าเซาะกราว
ฯลฯ
หลากหลายความงดงาม 'สภาสูง' ตามวิถีประชาธิปไตย”
นิยามในมุมมองของเกมการต่อสู้ทางการเมือง
“สว.ชุดใหม่ คือการโอนอำนาจจาก คสช. ไปสู่ภูมิใจไทย เพราะพรรคทหาร 2 พรรครอล่มสลาย”
ขณะที่ “มั่ว ฮั้ว หัก จ่าย!” คือนิยามการเลือก สว.67 ของ อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ชื่อก้อง...
วันที่ 26 มิถุนายน เป็น “วันตัดสินอนาคตประเทศ” อีกครั้งหนึ่ง จากการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่เกิดขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สว. เป็นตัวแสดงสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตการเมืองของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่การออกแบบกติกาการเลือกตั้ง สว. ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นกติกาที่มีปัญหาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อกฎหมายเลือก สว. ได้ถูกประกาศออกมาแล้ว ตามมาด้วยข้อถกเถียงและคำถามมากมายในกระบวนการที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทุกคนที่ติดตามจะมีความเห็นตรงกันว่า ถ้ากติกาการเลือกเป็นแบบนี้ จะทำให้เกิดการร้องเรียน หรือฟ้องร้องตามมา อันเป็นผลโดยตรงจากการออกแบบของ คสช. และคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งทำหน้าที่อย่างดีในการออกแบบ และสร้างกติกาที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองประสบปัญหาในตัวเอง
การออกแบบเช่นนี้ ทำให้ความหวังในทางทฤษฎีรัฐศาสตร์ว่า “สภาสูง” หรือวุฒิสภาจะทำหน้าที่ในการเป็น “พี่เลี้ยง” สำหรับ “สภาล่าง” หรือสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในเรื่องของการตรวจสอบในเรื่องของกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับสังคม … ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์เป็นเช่นนั้น หรือในบางประเทศ สภาสูงจะมีสถานะของการเป็น “สภาผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่เป็นที่รวมของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อช่วยในเหลือในการมีบทบาทของ “ฝ่ายนิติบัญญัติ” (รัฐสภา) ที่มีหน้าที่หลักในการออกกฎหมาย และตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของ “ฝ่ายบริหาร” (รัฐบาล)
แต่ทฤษฎีหลักรัฐศาสตร์ที่เป็นวิชาพื้นฐานที่นักเรียนรัฐศาสตร์ได้เรียนในชั้นต้นนั้น มีสภาพ “ตกม้าตาย” กับการออกแบบของคุณมีชัย และ “ตาย” ในแบบที่คาดเดาได้ตั้งแต่ต้น … ว่าที่จริงก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะคุณมีชัยและคณะรัฐประหาร คสช. ไม่ได้ต้องการการออกแบบให้ สว. ชุดใหม่ ที่จะกำเนิดขึ้นในยุคหลังการสิ้นสุดอำนาจของ คสช. นั้น เป็นไปเพื่อเสริมสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย
หลายครั้งที่มีคำถามในทางวิชาการว่า ประเทศใดใช้กติกาการเลือกตั้ง สว. ในแบบของประเทศไทยบ้าง หรือว่า กติกานี้ออกแบบเพื่อใช้กับการเมืองไทยในยุคหลัง คสช. เท่านั้น และการใช้กฎหมายนี้ เป็นภาพสะท้อนว่า อิทธิพลของคณะรัฐประหาร หรืออาจต้องเรียกกติกาแบบนี้ว่า “ทายาทอสูร” ของ คสช. ยังหลงเหลืออยู่ในการเมืองไทย และเห็นได้ถึงความสำเร็จ เพราะ “สายการเมือง” จาก “พรรคสีแดง” และ “พรรคสีส้ม” ไม่ชนะ แต่ “พรรคสีน้ำเงิน” ชนะ หรือโดยนัยของผลคือ พรรคฝ่ายตรงข้าม คสช. ไม่ชนะ แต่อีกด้านหนึ่ง เรากำลังเห็น “ฐานกำลังใหม่” ในวุฒิสภา หรือ “พรรคสีนำเงิน สาขา2” … การเมืองไทยจากนี้ จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง
ดังจะเห็นได้ว่า ทุกคนที่เห็นกฎหมายนี้ มีความรู้สึกว่า กติกานี้ถูกออกแบบให้เกิดความ “มั่ว” ในตัวเอง และหลายเรื่องที่เกิดขึ้นไม่มีความชัดเจน และต้องให้ กกต. ที่เป็นผู้ถือกฎนี้ตัดสิน หรือความมั่วในเรื่องของอาชีพของบุคคลในแต่ละสาขา ดังที่ปรากฏเป็นข่าว เช่น คนประกาศเสียงตามสายในระดับหมู่บ้าน จะถือเป็นอาชีพสื่อหรือไม่ หรืออาชีพเช่นไรที่จะลงในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น
ในอีกด้านหนึ่งของกติกาเลือกไขว้ ก็เกิดการ “ฮั้ว” การฮั้วยังมีนัยถึงคำสัญญาที่จะช่วยกาคะแนนให้ แต่ก็กลายเป็นการ “หักหลัง” กัน เพราะไม่มีใครยอมใคร ในบางกรณี อาจตามมาด้วยการ “จ่าย” ซึ่งปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ ไม่เป็นภาพลักษณ์ที่ดีของวุฒิสภาในอนาคตแต่อย่างใด จนทำให้เกิดภาพหลักของการเลือก สว. ชุดนี้ ด้วยปัญหา 4 คำ คือ “มั่ว-ฮั้ว-หัก-จ่าย”
ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างมีนัยสำคัญว่า คำว่า “สว. ประชาชน” จะยังมีความหมายเพียงใดในการเมืองไทย ยกเว้นจะคิดแบบปลอบใจตัวเองว่า อย่างน้อยคนพวกนี้ก็ไม่ใช่ “สว. 3 ลุง” คิดเช่นนี้แล้ว ก็อาจสบายใจไปอีกอย่าง
กระนั้น ก็มีบางท่านที่สามารถฝ่าฟันด่านต่างๆ เข้ามาได้ด้วยคุณสมบัติของตนเอง ซึ่งก็คงพอเป็นความหวังเล็กๆ ที่อาจจะเป็นดัง “หิ่งห้อย” ในกระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทย แต่อย่างน้อยก็พอเป็นความหวัง ไม่ให้สังคมต้องหดหู่เกินไปในยามนี้ !
นับจากนี้ การเมืองไทยจะมี “ขั้วอำนาจ” ในวุฒิสภาเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อาจเรียกได้ว่า “ขั้วอำนาจใหม่” เพราะการโยงกับพรรคการเมืองหลักในสภาล่าง จนอาจเกิด “การเมืองสาขา 2” ในระบบรัฐสภาไทย !