ต้องยอมรับว่าปัจจัยความยืดเยื้อของปัญหาที่ยาวนานเกิน 20 ปี หรือ 2 ทศวรรษ ทำให้สังคมไทยให้ความสนใจกับปัญหาไฟใต้ลดน้อยลงมาก
แต่ที่เคลื่อนไหวสวนทางอย่าง “คึกคักยิ่ง” กลับเป็นฟากฝั่งขององค์กรในภาคการเมือง และภาคประชาสังคมต่างๆ ซึ่งในบางบริบท หรืออาจเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ กลายเป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ของขบวนการติดอาวุธในภาคใต้เสียเอง ซึ่งวันนี้ระบุชื่อ เปิดตัวกันชัดๆ แล้วว่าคือ “กลุ่ม BRN”
นับเป็นจังหวะก้าวของสถานการณ์ไฟใต้ภายหลังที่ประเทศไทยมีสิ่งที่เรียกว่า JCPP หรือ “แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม” ที่คณะพูดคุยตัวแทนรัฐบาลไทยไปทำความตกลงกับขบวนการ BRN
เนื้อแท้และเบื้องหลังของ JCPP มีมิติที่ซับซ้อน จากรัฐบาลชุดก่อน สู่รัฐบาลชุดนี้...
แต่ความเคลื่อนไหวในทาง “คึกคัก” ของปัญหาไฟใต้ ยังมีอีกหนึ่งหมุดหมายที่ต้องจับตา คือหลังการเลือกตั้งปี 2566 เพราะทำให้เกิดสภาพสอดรับกับการขยายพื้นที่ทางการเมืองของขบวนการติดอาวุธภาคใต้แบบเต็มๆ หลังต่อสู้ด้วยอาวุธและความรุนแรงมา 20 ปีแต่ไม่บรรลุเป้าหมาย
นี่ก็เป็นอีกหนึ่งมิติที่ซับซ้อนของ “สงครามการเมือง” ผ่าน “โต๊เจรจา” ที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าฝ่ายรัฐไทยได้ประโยชน์จริงหรือ
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคงชื่อก้อง เขียนตั้งข้อสังเกต 15 ข้อเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้หลัง JCPP และการเปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างมากมายในแบบไม่เคยปรากฏมาก่อน...
รัฐไทยจะรับมืออย่างไร?
@@ ภาคใต้ใหม่หลัง JCPP
ถ้าติดตามดูสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เราอาจต้องยอมรับว่า หลังจากมีการประกาศถึงสิ่งที่อาจจะเรียกว่า “แผนสันติภาพภาคใต้” ในชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปในสื่อว่า “JCPP” นั้น เหตุการณ์ต่างๆ ดูจะเปลี่ยนไปมาก จนอาจต้องถือว่า การปรากฎตัวของ JCPP เป็นหมุดหมายสำคัญในการกำหนดเวลาของ “สถานการณ์ภาคใต้ชุดใหม่”
ฉะนั้น หากลองพิจารณาแล้ว เราอาจเห็นภาพของสถานการณ์ภาคใต้ชุดใหม่ใน 15 ประเด็น ดังนี้
1.การขับเคลื่อนของขบวนการต่อต้านการก่อความไม่สงบในพื้นที่ มีทิศทางของการรุกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิด “การรุกทางการเมือง” อย่างเห็นได้ชัด
2.การรุกทางการเมืองของขบวนการติดอาวุธ ที่มีนัยหมายถึง กลุ่ม ”BRN” ซึ่งประกาศตัวและมีสถานะเป็นคู่เจรจาของรัฐไทยบนโต๊ะเจรจา จึงเท่ากับว่านับจากนี้ กลุ่มดังกล่าวจะต้องถือเป็น “ภัยคุกคามหลัก” ในฐานะของการเป็นขบวนติดอาวุธหลัก ที่เป็นผู้ก่อเหตุในพื้นที่สามจังหวัด
3.สงครามก่อความไม่สงบที่ดำเนินสู่ปีที่ 21 สะท้อนให้เห็นว่า การเอาชนะด้วย “มาตรการทางทหาร” ของขบวนการติดอาวุธไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร พวกเขาอาจก่อความเสียหายในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการใช้ “การก่อการร้าย” เป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความกลัวในพื้นที่ (แต่ยังไม่อาจบรรลุเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการได้)
4.การรุกทางการเมืองเช่นนี้ ทำให้ขบวนการติดอาวุธสามารถเปิด “แนวรบทางการเมือง” ในหลากหลายรูปแบบ อันเท่ากับเป็นสัญญาณที่ชัดมากขึ้น พวกเขามุ่งเน้นการ “เอาชนะทางการเมือง” มากขึ้น เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐไทย
5.แนวรบทางการเมืองของขบวนการติดอาวุธ เชื่อมต่อกับเงื่อนไขของการเมืองไทยในระบบเปิดหลังการเลือกตั้ง 2566 ได้อย่างลงตัว และการเมืองในระบบเปิดของไทยกลายเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการชูประเด็นการ “ถูกรังแกจากรัฐ” และปัญหาการ “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” ซึ่งเป็นประเด็นที่ขายได้ง่ายในเวทีสาธารณะ
6.แนวรบทางการเมืองของขบวนการติดอาวุธเช่นนี้ เป็นการเพิ่มอำนาจต่อรอง และในอีกด้านหนึ่ง ปัจจัยนี้ทำให้ปีกการเมืองของขบวนการติดอาวุธที่เคลื่อนไหวในเวทีเปิด สามารถขยาย “พื้นที่ทางการเมือง” ได้มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน (เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่เดิมก่อนการเลือกตั้ง 2566) โดยเฉพาะการเปิดพื้นที่ผ่านองค์กรเอกชนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดรวมถึงเปิดผ่านองค์กรในภาคการเมือง
7.การขยายพื้นที่ทางการเมืองสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จใน “งานแนวร่วม” โดยเฉพาะแนวร่วมที่ดำรงอยู่ในโครงสร้างของระบบการเมืองไทยเอง หรือในอีกด้านหนึ่งคือ ขบวนการติดอาวุธนี้สามารถขยายแนวร่วมได้อย่างมากหลังเลือกตั้ง 2566 และแนวร่วมเหล่านี้แสดงบทบาทอย่างชัดเจนในการเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการกดดันรัฐบาล ในอีกทาง…กลไกแนวร่วมเช่นนี้ยังใช้ในการกดดันข้าราชการ และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่อีกด้วย
8.แนวร่วมที่สำคัญของขบวนการติดอาวุธในสงครามก่อความไม่สงบ/สงครามก่อการร้ายทั่วโลก คือ การสร้าง “แนวร่วมในเวทีสากล” ดังจะเห็นได้ว่า JCPP ที่ทางกลุ่ม BRN นำมาใช้ในการกดดันรัฐไทยโดยผ่านกระบวนการเจรจา เป็นผลผลิตด้วยการนำเข้าจากเยอรมนีและสวิสเซอร์แลนด์
9.ในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่ารัฐบาลของประเทศทั้งสองไม่มีส่วนในการให้ความสนับสนุนต่อขบวนการติดอาวุธในภาคใต้อย่างแน่นอน อีกทั้งโดยหลักการแล้ว เชื่อว่ารัฐบาลของยุโรปไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะให้การสนับสนุนต่อการก่อความไม่สงบหรือการก่อร้ายในไทยอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลในยุโรปล้วนมีท่าทีที่ชัดเจนในการต่อต้านการก่อการร้ายของกลุ่มติดอาวุธ เช่นที่รัฐเหล่านี้ล้วนเผชิญกับปัญหานี้มาโดยตลอด
10.ในสภาวะเช่นนี้ การเจรจาระหว่างผู้แทนของรัฐไทยและผู้แทนของ BRN จึงเป็น “สงครามการเมือง” ในตัวเอง การช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองในส่วนหนึ่งคือ การกดดันให้ผู้แทนของรัฐไทยยอมรับผลผลิตจากเยอรมนีและสวิสเซอร์แลนด์ โดยเฉพาะการกดดันผ่านกลไกแนวร่วมทั้ง “บนโต๊ะ-ใต้โต๊ะ” เจรจา
11.น่าสนใจอย่างมากว่า ผู้นำรัฐบาลชุดก่อน “รับรู้” เพียงใดต่อการดำเนินการที่เยอรมนีและสวิสเซอร์แลนด์ ถ้ารับรู้แล้ว เขาได้ให้การรับรองต่อผลเช่นนั้นอย่างไร และ JCPP ที่เกิดจากการดำเนินการของคณะผู้เจรจาชุดก่อนมีสถานะที่ “ผูกพัน” ต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่เกิดหลังเลือกตั้ง 2566 เพียงใด
12.ถ้ายอมรับว่า “กลุ่ม BRN” เป็นภัยคุกคามหลักทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปฏิบัติการก่อการร้ายในพื้นที่ด้วยการลอบสังหาร วางระเบิด และวางเพลิง ฝ่ายรัฐควรต้องเปิดเผยข้อมูลของกลุ่มนี้ และแนวร่วมทั้งในเวทีสาธารณะทั้งในและนอกประเทศ
13.ในสงครามการเมือง ผู้ปฏิบัติงานของรัฐไทยต้องมีความชัดเจนที่จะไม่ทำลายความชอบธรรมของตัวเอง และจะต้องไม่เป็น “แนวร่วมมุมกลับ” ให้กับการก่อความไม่สงบ
14.ปัญหา “มะเร็งร้าย” ที่เป็นปัจจัยใหญ่ของความพ่ายแพ้คือ การคอร์รัปชั่นและการแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ คือต้องคิด “ปิดเหมืองทอง” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
15.ความสัมพันธ์ที่ดีกับมาเลเซียเป็นปัจจัยสำคัญในการยุติสงคราม เพราะความร่วมมือจากมาเลเซียจะมีส่วนอย่างมากในการกดดันขบวนการติดอาวุธ และในสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีในการเปลี่ยนผู้อำนวยความสะดวกไปเป็นประเทศอื่นแต่อย่างใดตาม “ความพอใจส่วนตัว” ของบางคนบางกลุ่ม