เปิดกำหนดการคณะทูตโอไอซี จากชาติมุสลิม 15 ประเทศเยือนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกิจกรรมสร้างความรับรู้และเข้าใจอัตลักษณ์สังคมพหุวัฒนธรรม และการดำเนินการแก้ปัญหาไฟใต้ของรัฐบาลตามแนวทางสันติวิธี
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เทศบาลนครยะลา และภาคส่วนต่างๆ ได้กำหนดจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 11–13 มิ.ย.67 ภายใต้หัวข้อ “การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
ถือเป็นกิจกรรมสำคัญระดับนานาชาติที่มีเอกอัครทูตจากกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ โอไอซี ที่ประจำการในประเทศไทย จำนวน 15 ประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม
ได้แก่ บาห์เรน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บรูไน, อียิปต์, กาตาร์, ปากีสถาน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, บังกลาเทศ, คาซัคสถาน, อุซเบกิสถาน, ไนจีเรีย, อิหร่าน และมัลดีฟส์ รวมไปถึงเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำการในต่างประเทศ จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน และอียิปต์
การจัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในบริบทและอัตลักษณ์สังคมพหุวัฒนธรรมของพื้นที่ นโยบายรัฐบาล และการดำเนินงานของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลตามแนวทางสันติวิธีในเวทีนานาชาติ
และรวมไปถึงการสร้างความร่วมมือในมิติต่างๆ อาทิ ด้านการต่างประเทศ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างกลุ่มประเทศมุสลิมกับภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
สำหรับกำหนดการสำคัญๆ ในการลงพื้นที่ของคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม มีดังนี้
- เยี่ยมชมนิทรรศการผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายชบาปัตตานี” และผลิตภัณฑ์ชุมชน
- เยี่ยมชมการสาธิตทำผ้าบาติกของกลุ่มยาริงบาติก จ.ปัตตานี
- ฟังบรรยายสรุปภาพรวมเชิงนโยบายและการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งในมิติความมั่นคงและมิติการพัฒนา
- พบปะพูดคุยกับกลุ่มนักธุรกิจส่งออกไปยังกลุ่มประเทศโอไอซี และกลุ่มสถาบันการศึกษาที่มีความร่วมมือกับกลุ่มประเทศโอไอซี
- เยี่ยมชมชุมชนที่เป็นพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรมที่มีชาวไทยพุทธและมุสลิมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขใน ต.โกตาบารู อ.รามัน จ.ยะลา
- เยี่ยมชมและฟังบรรยายสรุปข้อมูลการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 และข้อมูลด้านการค้า ส่งออก-นำเข้าของด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
- เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภัร์อัลกุรอานที่ อ.ยี่งอ จ.นราธิวาส
- เยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
@@ พาเยือนสะพานโก-ลก สะท้อนความร่วมมือไทย-มาเลย์
พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต เปิดเผยว่า คณะทูตจะได้เดินทางลงพื้นที่สะพานโก-ลก หรือ สะพานรันเตาปันจัง - สุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่เชื่อมระหว่างเมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย กับ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ประเทศไทย ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2513 ตามมติข้อเสนอแนะของคณะกรรมการการขนส่งและโทรคมนาคมอาเซียน ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียน ครั้งที่ 2 ณ กรุงจาร์กาต้า และเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.2516
ปัจจุบันเปิดใช้งานมาแล้วเป็นระยะเวลา 51 ปี ซึ่งถือเป็นสะพานที่มีความสำคัญในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและด้านการขนส่งคมนาคมเชื่อมต่อระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมาอย่างยาวนาน
ต่อมาในปี พ.ศ.2551 ประเทศไทยและประเทศมาเลเซียมีการขยายการค้าการลงทุนร่วมกันเพิ่มมากขึ้น จึงเริ่มศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างสะพานคู่ขนานเพิ่มเติม เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
โครงการสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ อ.สุไหงโก-ลก ถือเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซียที่เชื่อมโยงกันในการร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและการขนส่ง เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศในอนาคต
การนำเสนอข้อมูลดังกล่าว เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมว่า ประเทศไทยก็ทำงานร่วมกับมาเลเซียในฐานะประเทศมุสลิมด้วยดีเสมอมา