แม้ปัจจุบันจะมีกฎหมาย กยศ.ฉบับใหม่ บังคับใช้มากกว่า 1 ปีแล้ว
โดยกฎหมายใหม่มีหลักการลดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ เหลือเพียงไม่เกิน 1% และ 0.5% หรือรวมไม่เกินร้อยละ 1.5 ซึ่งต่ำกว่าเดิมมาก รวมทั้งปลดภาระผู้ค้ำประกันทันที เพราะไม่ต้องมีผู้ค้ำ และให้ย้อนหลังครอบคลุมไปถึงผู้ที่กู้ไปก่อนหน้านี้
ที่สำคัญคือ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ผู้กู้ชำระหนี้ไป ให้นำไปตัดเงินต้นก่อน แล้วจึงค่อยชำระดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับ ซึ่งสวนทางกับวิธีการเดิมที่นำยอดชำระไปตัดดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับก่อน ทำให้ผ่อนเท่าไหร่ก็ไม่หลุดหนี้เสียที
สาเหตุที่ฝ่ายการเมือง นำโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นผู้นำในการแก้ไขกฎหมาย กยศ. ก็เพราะเล็งเห็นว่า หนี้ กยศ.กลายเป็นภาระสำหรับคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน และลามไปถึงครอบครัว เนื่องจากติดกับอยู่ใน “วังวนหนี้” ทั้งๆ ที่ต้นเหตุของการเป็นหนี้คือ “อยากเรียนหนังสือ” ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี
และเมื่อเรียนจบมา การศึกษาก็พัฒนาให้เป็นคนมีคุณภาพ ถือว่ารัฐได้ประโยชน์มหาศาล จึงควรช่วยคลายทุกข์ของผู้กู้ กยศ. เพื่อให้คนรุ่นใหม่วัยทำงาน เป็นพลังในการสร้างครอบครัว สร้างชาติต่อไป
แต่ที่น่าเสียดายคือ แม้จะมีกฎหมายใหม่ดังกล่าว แถมบังคับใช้มานานกว่า 1 ปีแล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังไม่หมดทุกข์ เพราะยังมีกระบวนการที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกมาก ทั้งปรับโครงสร้างหนี้ ปรับปรุงยอดหนี้ และกระบวนการผ่อนชำระที่เปลี่ยนแปลงไป
กลายเป็นว่ากฎหมายใหม่ออกมา ผู้กู้ กยศ.อีกจำนวนไม่น้อยก็ยังไม่ได้ประโยชน์ ที่โดนหักเงินเดือนจนแทบหมดตัวก็ยังเหมือนเดิม ที่ยังผ่อนชำระดอกเบี้ยกับเบี้ยปรับ โดยเงินต้นไม่ลดลงเลย ก็ยังเหมือนเก่า
วันนี้เราจึงนำคำถามไปถามกับผู้รับผิดชอบ ทั้งกรมบังคับคดี, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และ กยศ.เอง เพื่อไขข้อข้องใจของผู้กู้ทั้งหมด ทุกข้อ ทุกประเด็น จะได้เริ่มตั้งต้นได้ถูกต้อง ว่าจะต้องทำตัวอย่างไร และทำแบบไหนจึงจะได้ประโยชน์จากกฎหมาย กยศ.ฉบับใหม่มากที่สุด
หนึ่ง “รีแคล” ถึงไหน อย่างไร ทำไมช้า
ถาม : ประเด็นที่ผู้กู้พูดกันมากขณะนี้ คือ การปรับปรุงยอดหนี้ หรือ “รีแคล” ที่ค่อนข้างล่าช้า และตัวเลขไม่ค่อยเสถียร สาเหตุเกิดจากอะไร และทางออกจะเป็นอย่างไร?
ตอบ : การรีแคลหนี้ ทางกยศ.จะส่งตัวเลขและข้อมูลของลูกหนี้ทั้งหมด 7 ล้านกว่าคนให้ทางธนาคารกรุงไทยทำระบบคำนวณยอดหนี้ใหม่ตาม พ.ร.บ. กยศ.ฉบับใหม่
ในส่วนของกรมบังคับคดีจะมีรายชื่อลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดี ประมาณ 40,000 ราย ทางกรมฯได้ขอความร่วมมือจาก กยศ.และธนาคารกรุงไทยให้รีบรีแคลยอดหนี้ของลูกหนี้กลุ่มนี้ก่อน เพื่อที่จะชะลอการอายัดบัญชี ลูกหนี้ที่อยู่ในชั้นบังคับคดีจะได้รับการรีเแคลแล้วเสร็จก่อน เพื่อให้กรมบังคับคดีรับเรื่องไปทำต่อ เพื่อลดการขายทอดตลาดทรัพย์สิน (เช่น บ้าน รถ และอื่นๆ ของตัวผู้กู้ หรืออาจจะรวมผู้ค้ำด้วย) และถอนการอายัดบัญชีลูกหนี้
เมื่อการรีแคลเสร็จสิ้นแล้ว กยศ.จะรับข้อมูลกลับมาทำต่อ กยศ.จะได้ตัวเลขยอดหนี้ของลูกหนี้ที่คำนวณใหม่ตาม พ.ร.บ. กยศ.ฉบับใหม่ ว่าเหลืออยู่เท่าไหร่ ซึ่งลูกหนี้ทุกกลุ่มจะได้รับการรีแคลหนี้เหมือนกันทั้งหมด
ถาม : ระหว่างรอรีแคล ลูกหนี้ยังต้องชำระหนี้ตามปกติไปก่อนหรือไม่?
สำหรับลูกหนี้ที่มีการชำระหนี้เข้ามาในระบบ หรือถูกหักจากบัญชีเงินเดือน ก็ยังต้องชำระตามปกติไปก่อน จนกว่าจะมีการรีแคลเสร็จสิ้นทั้งหมด
แต่หากลูกหนี้มีการชำระไม่ต่อเนื่อง แล้วกังวลว่าจะถูกฟ้อง ให้ลูกหนี้ไปปรับโครงสร้างหนี้ไว้ก่อน เพื่อชะลอการฟ้อง
ลูกหนี้สามารถเข้าไปลงทะเบียนปรับโครงสร้างหนี้ได้ที่หน้าเว็บไซต์ กยศ. หรือลงทะเบียนใน “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สิน” ที่จังหวัดของท่าน หรือจังหวัดใกล้เคียง (กระทรวงยุติธรรมจัดมหกรรมทุกสัปดาห์ ตรวจสอบกำหนดการได้ที่หน้าเว็บไซต์กระทรวงยุติธรรม หรือกรมบังคับคดี)
สำหรับลูกหนี้ที่ไม่อยู่ในชั้นบังคับคดี สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลกับทางคอลเซ็นเตอร์ของ กยศ.ได้และขอให้เช็คข่าวสารที่ถูกต้องที่หน้าเว็บไซต์ของ กยศ. หรือโทรสอบถามผ่านคอลเซ็นต์เตอร์ของ กยศ.
สอง ติดต่อ กยศ.ทำไมยากนัก ยอดหนี้ใหม่เมื่อไหร่จะชัดเจน
ถาม : ทำไมการติดต่อ กยศ.ถึงยากและล่าช้า รอมานานร่วมปียังไม่เห็นความชัดเจนอะไรเลย เรื่องไม่ขยับเท่าไหร่เลย ทั้งที่กฎหมายออกมาบังคับใช้แล้ว?
ตอบ : การรีแคลมีการดำเนินการแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง) ได้ให้ความสำคัญกับลูกหนี้ และกำชับให้ระมัดระวังการเสียสิทธิของลูกหนี้ ได้มีการมอบนโยบายให้กรมบังคับคดี และกรมคุ้มครองสิทธิเสรภาพ ประสานงานกับ กยศ.และเร่งรัดเรื่องนี้อยู่เสมอ
แต่เนื่องจากลูกหนี้มีจำนวนเยอะมาก กว่า 7 ล้านราย และทาง กยศ. มีบุคลากรจำนานไม่มากนัก จึงทำให้การทำงานล่าช้า
ถาม : ทำไมคอลเซ็นเตอร์โทรติดยากเหลือเกิน?
ตอบ : เนื่องจากมีคู่สายลูกหนี้จำนวนมาก คู่สายที่ให้ข้อมูลมีน้อย ลูกหนี้บางรายสอบถามเยอะ คุยนาน ไม่เข้าใจขั้นตอน ก็ทำให้คู่สายโทรติดยาก แต่ละรายแต่ละกรณีใช้เวลาในการถาม-ตอบไม่เท่ากัน ฉะนั้นเบื้องต้นจอให้ลูกหนี้ติดตามข้อมูลที่หน้าเว็บไซต์ กยศ.จะดีที่สุด
ถาม : การคำนวนหนี้ใหม่ตาม พ.ร.บ. กยศ. กำหนดวันที่ชัดเจนเมื่อไหร่?
ตอบ : ขณะนี้ทาง กยศ.ก็ได้มีการเร่งรัดเรื่องนี้อยู่ตลอด เนื่องจาก กยศ.จะต้องทราบยอดหนี้ที่คงเหลือของลูกหนี้ (ต้องรอตัวเลขจากธนาคารกรุงไทย) เคสไหนต้องฟ้อง เคสไหนจ่ายเกินยอดแล้ว จะได้แจ้งให้ลูกหนี้หยุดชำระ ขณะนี้ยังไม่มีวันที่ที่ชัดเจน
สาม สถานะลูกหนี้แต่ละคนไม่เหมือนกัน กระบวนการจะต่างกันอย่างไร
ถาม : จ่ายบ้าง ไม่จ่ายบ้าง แต่ไม่โดนฟ้อง ควรไปปรับโครงสร้างหนี้ไหม ปรับโครงสร้างหนี้ดียังไง?
ตอบ : สิ่งที่ลูกหนี้ทุกคนควรทำ คือการไปทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ก่อน ลูกหนี้จะได้รับผลประโยชน์ที่ดีทันทีจาก พ.ร.บ. กยศ.ฉบับใหม่ เช่น งดการบังคับคดี (บ้านกำลังจะถูกยึด ก็จะถอนอายัด พ.ต.อ.ทวี สั่งให้แล้ว)
แต่ถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้จะไม่ทราบเลยว่า ณ ปัจจุบันยอดหนี้คงเหลืออยู่ที่เท่าไหร่ ขาดหรือเกินอยู่ (ถ้าผ่อนเกินแล้วจะมีลุ้นได้เงินคืน)
สำหรับลูกหนี้บางกลุ่มที่ กยศ.เห็นข้อมูลจากการปรับโครงสร้างหนี้ และการรีแคลยอดใหม่ ถ้ายอดของลูกหนี้เกินจำนวนแล้ว กยศ.จะหยุดการเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ทันที
ถาม : ถ้าจ่ายหนี้เกินยอดหนี้ไปแล้ว (ชำระท่วมต้น) เมื่อปิดยอดเรียบร้อย หลังปรับโครงสร้างหนี้และรีแคล มีโอกาสจะได้เงินคืนใช่ไหม?
ตอบ : ถ้ารายชื่อของลูกหนี้ไม่ได้อยู่ในชั้นบังคับคดี ให้ติดต่อทาง กยศ.ได้เลย จะเป็นเรื่องของ กยศ. เจ้าหน้าที่อาจจะต้องไปค้นดูว่ามีเงินเหลือ หรือไม่มีเงินเหลือ
แต่ถ้าลูกหนี้อยู่ในชั้นบังคับคดี (โดนฟ้องจบแล้ว คือจบกระบวนการทางศาลแล้ว) สามารถติดต่อที่กรมบังคับคดีที่ดำเนินคดีได้เลยเช่นกัน
สี่ อยู่ต่างจังหวัด เริ่มที่ไหน ยังไง
ถาม : บ้านอยู่ต่างจังหวัด จะปรับโครงสร้างหนี้ ต้องไปเริ่มต้นที่ไหน ติดต่อหน่วยงานใด?
ตอบ : ให้ยื่นจองคิวออนไลน์ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ กยศ.
ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือ ลงทะเบียนในงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กับกรมบังคับคดี ซึ่งตระเวนจัดขึ้นในแต่ละจังหวัด จะมีการเชิญทาง กยศ.มาร่วมปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ และไกล่เกลี่ยคดีความ ลูกหนี้สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ทำสัญญาใหม่ได้ในงานเลย
ห้า คดีจบแล้ว โดนบังคับคดี ยึดทรัพย์ ทำอะไรได้อีกไหม
ถาม : กรณีถูกบังคับคดี โดนแจ้งยึดทรัพย์ (แต่ยังไม่ได้ถูกขายทอดตลาด) แต่เป็นช่วงระหว่างที่กฎหมายใหม่ประกาศออกมา ยังมีโอกาสได้ทรัพย์สินคืนไหม?
ตอบ : กรณีแรก ลูกหนี้ถูกยึดที่ดิน หรือบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ในชื่อของตัวเอง หรือผู้ค้ำ เช่น พ่อแม่ แล้วลูกหนี้ไปทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทันทีหลังกฎหมายใหม่บังคับใช้ จะมีการรีแคล ถ้าลูกหนี้ผ่อนชำระจนเกินยอดหนี้แล้ว กยศ.ก็จะถอนการบังคับคดี
กรณีที่สอง หากรีแคลแล้วพบว่าลูกหนี้ยังมีหนี้เหลืออยู่ จะต้องไปปรับโครงสร้างหนี้ก่อน แล้วจากนั้น กยศ.จะแถลงของดการบังคับคดี หากมีการงดบังคับคดี ทรัพย์นั้นจะไม่มีการขาย
ตรงนี้ต้องเน้นย้ำ คือ ในรายละเอียดของการบังคับคดี ต้องได้รับการยินยอมจากทุกฝ่ายในคดี เช่น ที่ดินแปลงที่นำมาค้ำประกัน เป็นของแม่ของลูกหนี้ แม่ต้องมาเซ็นยินยอมก่อน (แม้จะเป็นแม่ลูกกัน ก็ต้องมา) และหากที่ดินแปลงนั้นมีการติดจำนองธนาคาร ธนาคารต้องมาให้ความยินยอมด้วย ถึงจะงดการบังคับคดีได้ หากธนาคารไม่ยินยอม จะงดการบังคับคดีไม่ได้ และทรัพย์นั้นจะถูกยึดและขายทอดตลาด
ทางออกที่ดีคือ ลูกหนี้ต้องเจรจาขอความยินยอมกับทางธนาคาร และให้กรมบังคับคดีช่วยไกล่เกลี่ยเพื่อถอนการชำระหนี้