เคยสังเกตหรือไม่ว่า สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงนี้รุนแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร บินไปพบผู้นำมาเลเซีย นายอันวาร์ อิบราฮิม ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ห้วงเดือนเมษาฯ อดีตนายกฯแสดงบทบาทเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงทั้งในและต่างประเทศ 2 เรื่องสำคัญ ทั้งๆ ที่ยังมีสถานะเป็น “นักโทษที่ได้รับสิทธิพักโทษ” หรีอ “พักการลงโทษ” เท่านั้น ไม่ใช่ผู้ที่ “พ้นโทษแล้ว” อันมีสิทธิเสรีภาพจะทำอะไรก็ได้เหมือนคนไทยทั่วไป
บทบาทเกี่ยวกับงานด้านความมั่นคงที่สำคัญ 2 เรื่อง ก็คือ
1.ประเด็นสันติภาพเมียนมา ซึ่งสถานการณ์แหลมคมอย่างยิ่ง เนื่องจากกำลังประเทศเพื่อนบ้านของเรากำลังเผชิญสงครามกลางเมืองอย่างหนักหน่วง และมีการสู้รบอย่างดุเดือดหลายพื้นที่
แต่จู่ๆ กลับมีข่าวอดีตนายกฯของเรา บินไปเชียงใหม่ แล้วนัดพบปะผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ และพยายามต่อสาย เสนอตัวกับรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อเป็น “คนกลางเจรจา” แต่สุดท้ายถูกปฏิเสธ มีหลักฐานเป็นเอกสารยืนยันชัดเจน จนถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางจากหลายฝ่าย
2.ประเด็นสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งสถานการณ์แหลมคมไม่แพ้กัน เนื่องจากผ่านวาระ 20 ปีไฟใต้มาแล้ว หมดงบไปกว่า 500,000 ล้านบาท ปัญหายังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง
ที่สำคัญ ไฟใต้รอบนี้ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี ถูกจุดขึ้นในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยที่มี นายทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 กับปฏิบัติการปล้นปืนครั้งมโหฬาร 413 กระบอก จากค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส คือ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือ “ค่ายปิเหล็ง” ถือเป็น “วันเสียงปืนแตก” หรือ “ปฐมบท” ของความรุนแรงรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
มองในมุมนี้ จึงไม่แปลกที่อดีตนายกฯทักษิณ ได้พยายามแสดงบทบาทเพื่อยุติความรุนแรงในดินแดนปลายด้ามขวานของไทย เพราะตนเองเสมือนมี “ตราบาป” ในปัญหานี้ เพราะนอกจาก “วาทกรรมโจรกระจอก” สวนทางไฟใต้ที่ปะทุขึ้นในช่วงที่ตนเองเป็นนายกฯแล้ว ยังมีเหตุรุนแรงครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดตลอด 20 ปี เกิดขึ้นในปี 2547 ที่นายทักษิณเป็นนายกฯด้วย
นั่นก็คือ เหตุการณ์กรือเซะ มีผู้เสียชีวิต 108 ราย และเหตุการณ์ตากใบ มีผู้เสียชีวิต 85 ราย
คำถามที่น่าสนใจก็คือ การสอดตัวเข้าไปมีบทบาทในงานด้านความมั่นคง 2 เรื่องสำคัญ ทั้งๆ ที่ตนเองไม่ได้มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบใดๆ เรียกว่าใช้สิ่งที่เรียกว่า “การทูตทางข้าง” โดยหวังให้สถานการณ์ดีขึ้น หรือตัวเอง “เด่นดัง” ขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ สิ่งที่ทำนั้นประสบผลสำเร็จมรรคผลมากน้อยแค่ไหน เพียงใด
เรื่องแรก การเสนอตัวเป็นคนกลางเจรจายุติสงครามกลางเมืองในเมียนมา ถูกปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย ทั้งจากรัฐบาลทหาร และแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์
เรื่องที่ 2 “ไฟใต้” ในบ้านของเราเอง ปรากฏว่าสถานการณ์นับจากนั้นไม่ได้ดีขึ้น แถมแย่ลงถึงขั้นนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ออกปากเตรียมลงพื้นที่ในเร็ววันนี้ หลังกลับจากปฏิบัติภารกิจที่อิตาลี
จริงๆ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่อดีตนายกฯทักษิณ แสดงบทบาทเกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้ ทั้งๆ ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ
เพราะช่วงปลายปี 2554 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2555 ในยุครัฐบาล คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคุณทักษิณ ปรากฏข่าวและมีการยืนยันข้อเท็จจริงว่า อดีตนายกฯทักษิณบินไปมาเลเซีย ในยุครัฐบาล นาจิบ ราซัค ซึ่งมีสายสัมพันธ์ดียิ่งกับอดีตนายกฯ จากนั้นได้เปิดวงพูดคุยกับแกนนำขบวนการแยกดินแดนหลายกลุ่ม เพื่อหาทางออกยุติปัญหาไฟใต้ให้ได้ในรัฐบาลน้องสาวของตนเอง
แต่ผลของการพูดคุยเจรจาไม่ค่อยน่าประทับใจ มีข่าวยืนยันชัดเจนว่า บรรยากาศออกแนว “วงแตก”
นับจากนั้นไม่นาน ได้เกิดเหตุระเบิด “คาร์บอมบ์” ครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย ที่โรงแรมลีการ์เด้นส์ โรงแรมหรูชื่อดังกลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งไม่ต่างกับเมืองหลวงทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บจำนวนมาก และทรัพย์สินเสียหายอย่างหนัก สภาพเศรษฐกิจพังยับเยิน
มีข่าวในเวลาต่อมาว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้น ซึ่งวันที่เกิดเหตุ คือ 31 มีนาคม เป็นวัน “เลขกลับหลัง” ของ 13 มีนาคม วันคล้ายวันสถาปนาบีอาร์เอ็น เป็นการวางระเบิดเชิงสัญลักษณ์ว่า ไม่พอใจบทบาทของอดีตนายกฯทักษิณ
แต่เจ้าตัวยังไม่ละความพยายาม ยังคงนัดพบกับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนอีกหลายกลุ่ม และไปตกปากรับคำครั้งสำคัญให้มีการเปิดโต๊ะเจรจาแบบ “เปิดเผย-เป็นทางการ” มีตัวแทนรัฐบาลร่วมพูดคุยกับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ “บีอาร์เอ็น” และผลักดันให้มีกระบวนการทางกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ตกลงกันลอยๆ
เรื่องนี้มีหลักฐานยืนยันการตกปากรับคำของอดีตนายกฯ จากแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่เรียกตัวเองว่า “จูแว” (นักรบ นักต่อสู้) ให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยกลุ่มหนึ่งเอาไว้ จากนครเมดาน ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปี 2556 หลังเปิดโต๊ะพูดคุยสันติภาพเรียบร้อยแล้ว
โดยผลจากการตกปากรับคำที่ว่านั้น ทำให้เกิดการพูดคุยสันติภาพขึ้นเป็นครั้งแรก แบบ “เปิดเผย-บนโต๊ะ” ระหว่างรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 โดยการลงนามในข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ เกิดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนมาเลเซียในวันเดียวกัน เพื่อยืนยันความตกลง โดยให้มาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยสันติภาพ
คณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้น เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนฝ่ายบีอาร์เอ็น มีนายฮัสซัน หรือ ฮาซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการ เป็นหัวหน้าคณะ
การพูดคุยในครั้งนั้น มีเสียงวิจารณ์ว่าทำให้รัฐไทยเสียเปรียบ และเป็นสถานการณ์ภาคบังคับให้ต้องพูดคุย ติดล็อกมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งๆ ที่มองอย่างไรฝ่ายไทยก็เสียเปรียบ และเป็นการยกระดับขบวนการบีอาร์เอ็นให้มีตัวตนในเวทีสากล ในฐานะคู่ต่อสู้ที่เท่าเทียมกับรัฐไทย และต้องการปลดปล่อยดินแดนปัตตานี หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สุ่มเสี่ยงเข้าเงื่อนไขขอสิทธิปกครองตนเองในอนาคต
นับถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยมาแล้ว 4 คณะ เวลานี้เป็นคณะที่ 5 นำโดย นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการ สมช. แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และกรอบการพูดคุยถูกวิจารณ๋์จากผู้รู้หลายฝ่ายว่าทำให้ไทยเสียเปรียบ
ล่าสุดมีข่าวอดีตนายกฯทักษิณ พบปะหารือกับผู้นำมาเลเซีย ช่วงปลายเดือนเมษายน ทว่านับจากนั้นก็มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าช่วงกลางเดือนพฤษภาคม จะมีการประชุม “เวิร์คชอป” ระหว่าง “คณะทำงานเทคนิค” หรือ “คณะพูดคุยชุดเล็ก” ของรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็นก็ตาม
เป้าหมายความรุนแรงอยู่ที่ อส. หรือ สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งเป็นกำลังพลของกระทรวงมหาดไทย ที่ระยะหลังมีบทบาทสูงในการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ชายแดนใต้ เป็นกำลังหลักประจำ “ชุดคุ้มครองตำบล” หรือ ชคต. 164 แห่งจากเป้าหมายกว่า 200 แห่ง ครบทุกตำบลของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา
โดย ชคต.ที่นำโดย อส. เป็นกองกำลังประจำถิ่นที่เตรียมไว้รับผิดชอบพื้นที่หลังจากถอนทหารหลักทั้งหมดออกจากปลายด้ามขวาน ตามแผนงานความมั่นคงในปี 2570
วันที่ 20 พฤษภาคม เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและซุ่มโจมตี เจ้าหน้าที่ อส. ชุดคุ้มครองตำบลจวบ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นการจุดระเบิดซ้อนถึง 3 ลูก ทำให้ อส.ได้รับบาดเจ็บรวดเดียว 6 นาย
วันเดียวกัน คนร้ายลอบวางระเบิดและซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ อส. ชุดคุ้มครองตำบลเกียร์ อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ทำให้ อส.เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บอีก 5 นาย ทหารบาดเจ็บ 1 คน และเจ้าหน้าที่อีโอดี ที่เข้าตรวจจุดเกิดเหตุ โดนระเบิดลูกสอง ขาขาดทั้ง 2 ข้าง
วันที่ 30 พฤษภาคม คนร้ายตามประยิง สมาชิกเอก อัฎฮาร์ หะมะ อายุ 34 ปี อส.อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี เสียชีวิตในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
เหตุการณ์สังหาร อส.เป็นวันเดียวกับที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะ “นายกองใหญ่ กองกำลังอาสารักษาดินแดน” ลงพื้นที่ชายแดนใต้เพื่อตรวจเยี่ยมบำรุงขวัญ รวมถึงเยี่ยมชมการฝึกทบทวนของ อส.ชายแดนใต้ พร้อมรับปากดูแลสวัสดิการให้สมกับภารกิจเป็น “กำลังหลัก” ดูแลพื้นที่แทนทหาร
เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิด อส.ชุดคุ้มครองตำบล 2 แห่งในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ปรากฏว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างเดินทางเยือนอิตาลี ได้แสดงความกังวลกับปัญหาชายแดนใต้ และเตรียมลงพื้นที่รอบใหม่หลังเดินทางกลับจากยุโรป
“ตรงนี้เป็นที่น่ากังวล เพราะจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ อส.ดูแลในปี 2570 เราต้องมาพิจารณาใหม่ว่า จริงๆ แล้วความไม่สงบเกิดขึ้น เมื่อ อส.ที่มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน ถ้าเกิดยังให้ความปลอดภัยไม่ได้ ก็ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายทหารเข้าไปช่วยดูแลมากขึ้น”
เป็นท่าทีสำคัญของนายกฯเศรษฐา เพราะที่ผ่านมาเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาความมั่นคงชายแดนใต้มาโดยตลอด การลงพื้นที่ก่อนหน้านี้ก็มุ่งเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเท่านั้น
แต่นัยที่สื่อออกมาจากคำสัมภาษณ์ล่าสุด คือ แนวโน้มการคงบทบาทของทหารในดินแดนปลายด้ามขวานเอาไว้ต่อไป
เป็นการส่งสัญญาณในสถานการณ์ล่อแหลมที่กำลังมีการพูดคุยสันติสุขกับขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งพรรคตนเองเริ่มต้นและแสดงท่าทีสนับสนุนมาตลอด โดยกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐไทยมีข้อเรียกร้องหลักให้ไทยถอนทหารพ้นพื้นที่
คำสัมภาษณ์ของนายกฯเศรษฐาจะส่งผลดีกับสถานการณ์จริงหรือไม่ หรือจะยิ่งซ้ำเติมให้เลวร้ายหนักกว่าเก่าเหมือนกับที่อดีตนายกฯทำเอาไว้หลายครั้ง...ต้องรอดู!