เหตุระเบิด 2 จุดที่นราธิวาส ทั้งที่ อ.เจาะไอร้อง และ อ.สุคิริน ก่อความสูญเสียในระดับที่ทำให้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แสดงความสนใจ
เหตุรุนแรงรอบนี้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต ทั้งหมดเป็นกำลังพลของ อส. หรือ กองอาสารักษาดินแดน ขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย เรียกว่าเป็นกองกำลังของฝ่ายปกครองก็คงไม่ผิด
ที่สำคัญเป็นการก่อเหตุในช่วงที่ “โต๊ะพูดคุยสันติสุข” กำลังทำงาน มีการเวิร์คชอปครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างตัวแทนรัฐบาลกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แม้จะมีเสียงเตือน เสียงคัดค้านจากบางฝ่าย แต่ไม่เป็นผล
การประกาศลงพื้นที่รอบนี้ นายกฯเศรษฐา พูดชัด จะพิจารณามิติด้านความมั่นคง หลังจากเคยลงขับเคลื่อนในมิติเศรษฐกิจมาแล้ว เมื่อปลายเดือน ก.พ.67 และนอนในพื้นที่นอกค่ายทหารด้วย
ห้วงเวลาที่ชายแดนใต้ลุกเป็นไฟ นายกฯเศรษฐา อยู่ระหว่างเดินทางเยือนอิตาลี โดยเจ้าตัวบอกหลังทราบข่าวความรุนแรงในพื้นที่ว่า เตรียมลงจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อไปดูเรื่องความมั่นคงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นล่าสุด มีปัญหา 2 จุด ผู้ได้รับความเสียหาย คือ เจ้าหน้าที่ อส. แล้วเมื่อทหารเข้าไปช่วยก็ถูกระเบิดซ้ำอีก
“ตรงนี้เป็นที่น่ากังวล เพราะจะมีการส่งมอบพื้นที่ให้ อส.ดูแลในปี 2570 เราต้องมาพิจารณาใหม่ว่า จริงๆ แล้วความไม่สงบเกิดขึ้น เมื่อ อส.ที่มีหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชน ถ้าเกิดยังให้ความปลอดภัยไม่ได้ ก็ต้องให้ฝ่ายความมั่นคงหรือฝ่ายทหารเข้าไปช่วยดูแลมากขึ้น”
“ประมาณ 1-2 อาทิตย์หน้าจะลงพื้นที่เพื่อดูความมั่นคง คราวที่แล้วไปดูเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการขาย แต่ครั้งนี้จะไปดูเรื่องความมั่นคงมากขึ้น” นายกรัฐมนตรี ระบุ และว่าการลงพื้นที่จะดูเรื่องกฎหมายพิเศษด้วย ต้องพิจารณาใหม่หมด ต้องมีการพูดคุยใหม่หมด ต้องนำสถานการณ์ทั้งหมดโดยรวมมาพูดคุยกันใหม่อีกรอบ
ถอดรหัสจากนายกฯเศรษฐา คือเตรียมรื้อโครงสร้างการแก้ไขปัญหาครั้งใหญ่ ส่วนเมื่อถึงเวลาลงพื้นที่จริงๆ จะทำได้แค่ไหน ต้องรอดู
แต่ฟังจากหางเสียง ชัดเจนว่ามีแนวโน้มจะชะลอการส่งมอบพื้นที่ให้ฝ่ายพลเรือนดูแล แต่จะใช้กำลังของฝ่ายทหารต่อไป ซึ่งแนวทางนี้สวนทางกับข้อเสนอให้ “ถอนทหาร - ยกเลิกด่านตรวจ” ทั้งของกลุ่มบีอาร์เอ็น คู่เจรจาของรัฐบาลไทย และบรรดาองค์กรเสียงดัง ตลอดจนภาคประชาสังคมบางส่วนในพื้นที่
จึงต้องรอดูว่ารัฐบาลจะฝ่าแรงเสียดทานจากกลุ่มต่างๆ ที่เห็นตรงกันข้ามไปได้แค่ไหน อย่างไร
@@ ฉะรัฐบาลอ่อนแอ ทำกลุ่มป่วนใต้ฮึกเหิม
ด้าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ “เนชั่นทีวี” ถึงสาเหตุของสถานการณ์ไฟใต้ที่ร้อนแรงขึ้นว่า เป็นเพราะฝ่ายรัฐบาลอ่อนแอ ฝ่ายขบวนการเห็นต่างจึงเริ่มปฏิบัติการเพื่อเป็นการดิสเครดิตรัฐบาล
“มันเป็นแนวปฏิบัติ เป็นหลักทฤษฎีที่แน่นอน ชัดเจน แม้กระทั่งเรื่องความมั่นคงตอนนี้ เจ้าภาพหลักยังจบที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพ ท่านนายกฯเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สมช. เป็น ผอ.รมน. (ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) โดยมี ผบ.ทบ.เป็นรอง ผอ.รมน. ฉะนั้นตอนนี้ท่านนายกฯ จึงต้องมากำกับดูแลเอง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะฝ่ายเห็นต่างเห็นแล้วว่ารัฐบาลอ่อนแอ”
“ในทางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 ขา ขาหนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ทางการเมืองและการสงคราม ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในภาพใหญ่ กับขาที่สอง เป็นยุทธศาสตร์ทางการทหาร ยุทธศาสตร์สองขานี้ต้องเดินควบคู่กันไปเสมอ ในการที่จะเผชิญการต่อสู้กัน”
“การพูดคุยสันติภาพถือเป็นกลไกหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางการเมือง ตรงนี้ที่บอกว่ายุทธศาสตร์สองอันต้องเดินคู่กัน พอมีการพูดคุยทางโน้น (ที่มาเลเซีย) ก็มาเกิดเหตุการณ์ทางปฏิบัติการทางนี้ (ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้) เพราะฝ่ายก่อการเขาต้องใช้สองอย่างนี้ควบคู่กันไป เพื่อสร้างดุลอำนาจว่าต้องคุยกัน เพราะเขามีเจ้าหน้าที่ มีทีมปฏิบัติการจริงๆ ฉะนั้นเราต้องคุยกัน”
@@ จุดอ่อนเพื่อไทย กรือเซะ-ตากใบ-ทักษิณ
อดีตเลขาธิการ สมช. กล่าวต่อว่า ต้องยอมรับว่ารัฐบาลเพื่อไทยมีข้อด้อยซึ่งยากที่จะลบเลื่อน เพราะเป็นเหมือนบาดแผล คือเหตุการณ์กรือเซะ กับตากใบ มีการเสียชีวิตของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก
“สองเหตุการณ์นี้ยังตามหลอกหลอนอยู่ และเกิดขึ้นในยุคที่ท่านอดีตนายกทักษิณฯ เป็นผู้กำกับอยู่ ขณะเดียวกันล่าสุดก็ปรากฏข่าวว่า ท่านทักษิณฯ ไปคุยกับท่านนายกฯมาเลเซียหรือเปล่า ที่ภูเก็ต ทำให้ฝ่ายโน้นก็มองว่ามาแนวเดิมอีกหรือเปล่า ประกอบกับพอลึกลงไป ในพรรคเพื่อไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ก็มีอดีตนายทหารใหญ่ที่กำกับดูแลกองทัพภาคที่ 4 เป็น สส.บัญชีรายชื่ออยู่อีก ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์ตากใบ”
“ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลเพื่อไทยทั้งหมด ประกอบกับสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดคือเรื่องของการอำนวยความยุติธรรม ซึ่งเป็นรากแก่นของปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พอล่าสุดช่วงรัฐบาลนี้ต่อกระบวนการยุติธรรม มันสัมพันธ์กันหมด อย่าคิดว่าไม่สัมพันธ์กัน”
“กรณีน้องบุ้ง แล้วมาเทียบเคียงกับกรณีของคุณทักษิณ ก็เกิดภาพความแตกต่างที่ไม่เสมอภาค ฉะนั้นขบวนการเห็นต่างข้างล่างไม่ได้มีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้จะเดินไปสู่การสร้างความยุติธรรมให้กับเขาได้ ตรงนี้เขายังไม่มั่นใจ มันก็กลับเข้ามาเงื่อนไขข้อแรกของการพูดคุยเจรจา องค์ประกอบข้อแรกมันต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อน แต่จากข้อมูลในอดีต ภาพลักษณ์ในอดีต มันเลยทำให้การเริ่มต้น แทนที่จะเดินหน้าไปไกล กลับมาซอยเท้าอยู่กับที่อีกแล้ว”
@@ สงสัยฝีมือ “กลุ่มหน้าขาว” องค์กรนำคุมกันเองไม่ได้
สำหรับการก่อเหตุในช่วงที่กำลังมีการเวิร์คชอประหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น พล.ท.ภราดร บอกว่า เกิดการตั้งข้อสังเกตุว่า เป็นฝีมือของกลุ่มหน้าขาว (กลุ่มที่ไม่มีหมายจับ) เป็นฝีมือแนวร่วมรุ่นใหม่หรือเปล่า ซึ่งบีอาร์เอ็นไม่สามารถควบคุมได้แล้ว จึงเกิดกลุ่มใหม่ที่เกิดจากการพัฒนาการของสถานการณ์ขึ้น
ตรงนี้ถึงเกิดการพูดคุย แล้วจะสืบสภาพไปว่าที่เรามาพูดคุย สุดท้ายในองค์กรนำทางการเมืองของขบวนการผู้เห็นต่าง ยังควบคุมทางปฏิบัติการของกลุ่มตัวเองได้หรือไม่
@@ เสนอใช้ กม.มั่นคงสากล – ตั้งรองนายกฯ คุมใต้
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีแผนจะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอีก 1- 2 สัปดาห์ข้างหน้านั้น พล.ท.ภราดร เสนอว่า หลักการของการพูดคุยสันติสุข ต้องปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุย ซึ่งตรงนี้เป็นศิลปะและขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ หมายความว่าพื้นที่ตรงนั้นจะเอื้อต่อการพูดคุยได้ กฎหมายพิเศษต้องเหลือน้อยหรือไม่เหลือเลย
“กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต้องหายไป รวมถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะจะได้เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุขได้ ตรงนี้ถ้าหายไปมันน่าจะมีกฎหมายความมั่นคงที่เป็นสากลในฉบับใหม่ ในแบบที่อารยประเทศเขามี เพื่อการแก้ปัญหาการก่อการร้าย นำมาชดเชย ก็จะทำให้บรรยากาศ สภาวะแวดล้อมในพื้นที่ไม่มีกฎหมายพิเศษ แล้วมีกฎหมายปกติที่ใช้เป็นสากลทั่วโลกเข้ามาใช้แก้ปัญหา”
อดีตเลขาธิการ สมช. กล่าวทิ้งท้ายว่า มีความจำเป็นอย่างมากที่นายกฯ จะต้องมอบหมายให้รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งเข้ามากำกับและบูรณาการ ทั้ง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และ กอ.รมน.
“ปัจจุบันเก้ๆ กังๆ เพราะท่านนายกฯไปกำกับเอง ในภาคความมั่นคงควรมีเจ้าภาพคนเดียวที่บูรณาการสองขานี้ แล้วให้ฝ่ายทางการเมืองไปเดินในยุทธศาสตร์ใหญ่” พล.ท.ภราดร ระบุ