แม่ทัพน้อยที่ 4 นำคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายเทคนิคประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์กับฝ่ายเทคนิคบีอาร์เอ็นที่มาเลเซีย เพื่อวางกรอบแผนการทำงานก่อนร่วมเดินหน้าลดสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ คาดหวังปีกทหารบีอาร์เอ็นขานรับแนวทางการพูดคุย
ในระหว่างวันที่ 19 - 21 พ.ค.67 พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 / รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข นำคณะฝ่ายเทคนิคประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งแรกกับฝ่ายเทคนิคบีอาร์เอ็นที่มาเลเซีย เพื่อวางกรอบแผนการทำงานในทีโออาร์ ( “ขอบเขตของการหารือ” หรือ “ขอบเขตของการพูดคุยทำข้อตกลง” ) ก่อนร่วมกันเดินหน้าลดสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ในช่วงลดความรุนแรงและแผนการหารือสาธารณะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดหวังปีกทหารของฝ่ายบีอาร์เอ็นจะขานรับแนวทางการพูดคุยแก้ปัญหาขัดแย้งขององค์กรนำในฝ่ายบีอาร์เอ็น
โอกาสนี้ พล.ท.ปราโมทย์ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 19 - 21 พ.ค.67 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการทำเวิร์คชอปหารือของหัวหน้าฝ่ายเทคนิคจากทั้งสองฝ่าย เพื่อวางกรอบการทำงานร่วมกันในทีโออาร์ ซึ่งจะเป็นรายละเอียดที่ทั้งสองฝ่ายต้องปฏิบัติร่วมกันในช่วงของการลดสถานการณ์ความรุนแรง ซึ่งจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญไปสู่การลงนามในข้อตกลงสันติสุข และเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ในช่วงที่มีการลดความรุนแรง ส่วนในประเด็นของการหารือสาธารณะ จะมีการพูดคุยในภาพกว้างถึงแนวทางที่จะดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
“ในการหารือของฝ่ายเทคนิคอยู่ภายใต้ 3 สารัตถะของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP (JOINT COMPREHENSIVE PLAN TOWARDS PEACE) ที่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของทั้งสองฝ่าย ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของการลดความรุนแรง หารือสาธารณะ เปิดเวทีพูดคุย ในเรื่องรูปแบบการกระจายอำนาจหาทางออกจากความขัดแย้งและโอกาสความเป็นไปได้ในเรื่องการลงนามใน JCPP หลังการหารือในครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการหารือของฝ่ายเทคนิค จะสามารถได้ข้อยุติร่วมกันในรายละเอียดของทั้ง 3 สารัตถะหรือไม่ หากยังไม่สามารถลงนามใน JCPP กระบวนการสร้างสันติสุขในช่วงแรก ที่จะเริ่มจากการลดความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คาดว่าจะใช้เวลา 3 – 4 เดือน ก็ยังเกิดขึ้นไม่ได้
หัวหน้าฝ่ายเทคนิคคณะพูดคุยฯ กล่าวอีกว่า คาดหวังในการพูดคุยครั้งนี้ คนไทยทั่วประเทศทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะช่วยหนุนเสริมในกระบวนการพูดคุย และมีความหวังในเรื่องเอกภาพของบีอาร์เอ็น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตปีกทหารไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยของฝ่ายการเมืองจากการก่อเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องในระหว่างช่วงที่มีการพูดคุย ซึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ คาดหวังทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันในแผน JCPP สามารถขับเคลื่อนสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สามารถปฏิบัติได้จริง ตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน และความคาดหวังของประชาชนทั้งในและนอกจังหวัดชายแดนภาคใต้