“กมธ.สันติภาพชายแดนใต้“ ตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวคิดร่างกฎหมายสันติภาพชายแดนภาคใต้ “นัจมุดดีน อูมา” นั่งประธาน ร่วมกับคณะทำงานอีก 29 คน ขณะที่เจ้าตัวเปิดเวทีรับฟังความเห็นคนพื้นที่ พระสงฆ์เปิดใจเรียกร้อง “บีอาร์เอ็น” รับฟังศาสนาอื่นด้วย
มีความเคลื่อนไหวของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “กมธ.สันติภาพชายแดนใต้” สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.พรรคเพื่อไทยเป็นประธาน
โดยเมื่อวันพุธที่ 15 พ.ค.67 มีการประชุม กมธ.ครั้งที่ 27 เพื่อพิจารณารายงานความคืบหน้าและสรุปผลการเจรจาสันติภาพ และข้อเสนอทางออกการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งรายงานของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้
ในคราวเดียวกันนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติตั้งคณะทำงานพิจารณาศึกษาแนวคิดร่างกฎหมายสันติภาพชายแดนภาคใต้ ใน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ มีรายนามดังนี้
1.นายนัจมุดดีน อูมา เป็นประธานคณะทำงาน
2.นายซูการ์โน มะทา คณะทำงาน
3.นายวัชระ ยาวอหะซัน คณะทำงาน
4.นายรอมฎอน ปันจอร์ คณะทำงาน
5.นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ คณะทำงาน
6.นายจาตุรนต์ เอี่ยมโสภา คณะทำงาน
7.นายศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี คณะทำงาน
8.นายตูแวดานียา ตูแวแมแง คณะทำงาน
9.นายแวรอมลี แวบูละ คณะทำงาน
10.น.ส.วันรพี ขาวสะอาด คณะทำงาน
11.น.ส.จิราพร งามเลิศศุภกร คณะทำงาน
12.นายอาหมัดบูรฮัน ติพอง คณะทำงาน
13.นายรอมซี ดอฆอ คณะทำงาน
14.นายกิตติ สุระคำแหง คณะทำงาน
15.น.ส.อาดีลา บูเดียะ คณะทำงาน
16.นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ คณะทำงาน
17.นายมะรอนิง สาแลมิง คณะทำงาน
18.ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณะทำงาน
19.พล.ท.ชัชภณ สว่างโชติ คณะทำงาน
20.นายเบลาล ธำรงทรัพย์ คณะทำงาน
21.นายโมหะหมัดซอฮีมี ยา คณะทำงาน
22.นายอิดเร๊ะ สอรี คณะทำงาน
23.นางมาเรียม โสะ คณะทำงาน
24.นายพงษ์ศักดิ์ พรหมสัง คณะทำงาน
25.นายอับดุลปาตะ ยูโซะ คณะทำงาน
26.นางสุดา รองสกุล คณะทำงาน
27.นางซารีนา เจ๊ะเลาะ คณะทำงาน
28.นายอับดุลมุไฮมิน สาและ คณะทำงาน
29.นายชนธัญ แสงพุ่ม เลขานุการคณะทำงาน
30.นายแวอิบรอเฮม แวบือราเอง ผู้ช่วยเลขานุการคณะทำงาน
โดยให้คณะทำงานมีหน้าที่และอำนาจ ดังนี้
1.พิจารณาศึกษาและจัดทำเกี่ยวกับแนวคิดร่างกฎหมายสันติภาพชายแดนภาคใต้ เพื่อส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนำเสนอต่อ กมธ.เพื่อพิจารณาต่อไป
2.พิจารณาดำเนินการอื่นๆ ตามที่ประธาน กมธ. และ กมธ.มอบหมาย
@@ “นักการเมือง - ขรก.” พรึ่บ! “ดร.เจ๋ง” นั่งเลขาฯ
เป็นที่น่าสังเกตว่ารายชื่อคณะทำงานส่วนหนึ่งที่เป็นนักการเมืองนั้น ส่วนมากมาจากพรรคประชาชาติ พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย เช่น นายนัจมุดดีน นายจาตุรนต์ จากพรรคภูมิใจไทย, นายซูการ์โน นายวัชระ จากพรรคประชาชาติ, นายรอมฎอน จากพรรคก้าวไกล เป็นต้น
โดยมีอดีตข้าราชการ และข้าราชการปัจจุบันร่วมด้วยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น นายกิตติ สุระคำแหง อดีตผู้บริาหร ศอ.บต. รวมถึงนายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ ดร.เจ๋ง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้มีบทบาทสูงมากในงานพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน มีชื่อเป็นเลขานุการคณะทำงาน
และยังมี น.ส.วันรพี ขาวสะอาด หนึ่งในคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมเป็นคณะทำงาน
@@ พระสงฆ์เรียกร้องบีอาร์เอ็นรับฟังศาสนาอื่นบ้าง
ก่อนหน้านั้น กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ได้จัดสัมมนา "การมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา 100 คน ประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์ นักวิชาการ นักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวเอกชน นักการเมืองท้องถิ่น นักเรียนนักศึกษา นักการศาสนา และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
นายนัจมุดดีน อูมา กรรมาธิการสันติภาพชายแดนใต้ กล่าวว่า กิจกรรมลักษณะนี้ได้ทำมาแล้ว 7 ครั้ง มีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา
โดยครั้งล่าสุดไปรับฟังความคิดเห็นจากพระสงฆ์ที่ได้ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เช่น การเสนอให้ลืมอดีตแล้วเดินไปข้างหน้า, เน้นงบประมาณด้านการพัฒนามากขึ้น เพราะสัดส่วนที่ลงไปในพื้นที่ ทุ่มเรื่องความมั่นคงมากกว่า, ส่งเสริมการท่องเที่ยววัฒนธรรมเชิงศาสนาให้มากขึ้น เพราะสามจังหวัดมีความเข้มแข็งเรื่องนี้ และควรให้ความยุติธรรมอย่างเสมอภาค
แต่การพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ยังไม่ได้ลงลึกว่าความเป็นธรรมที่ยังไม่ได้รับคืออะไร แค่บอกกว้างๆ ถ้าทุกฝ่ายสามารถสร้างความเป็นธรรมได้ ก็สามารถเดินต่อได้
“อีกประเด็นที่พระสงฆ์บอกคือ ทุกวันนี้ฝ่ายบีอาร์เอ็นเรียกร้องให้รัฐมีความเข้าใจกลุ่มผู้เห็นต่าง พระรูปนี้จึงเสนอว่า อยากให้บีอาร์เอ็นมีความเข้าใจคนศาสนาอื่น เช่น พระในพุทธศาสนาด้วย ต้องเข้าใจซึ่งกันและกันถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ และเรื่องการพัฒนาการศึกษาที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับบริบทคนพื้นที่ ความเห็นตรงนี้ถือว่ามีประโยชน์มาก จากนี้ก็จะเสนอรายงานไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายนัจมุดดีน ระบุ