แม้กระบวนการเลือก สว.จะถูกวิจารณ์ยับเยิน แต่ก็ไม่สามารถหยุดความตั้งใจของหลายๆ คนที่อยากเข้าไปทำงานในสภาสูง ในฐานะ “ท่านผู้ทรงเกียรติ” ได้
แม้ในพื้นที่ชายขอบอย่างปลายด้ามขวาน ก็ยังมีคนแสดงความต้องการอย่างเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่น้อยทีเดียว
“ทีมข่าวอิศรา” ตามติดชีวิตคนอยากเป็น สว. ปรากฏว่ากฎ กติกา และเงื่อนไขการสมัคร ไม่ง่ายเลยจริงๆ
ณ ที่ว่าการอำเภอเมือง จ.ยะลา เจ้าหน้าที่เปิดให้ทุกคนที่สนใจ เข้ารับใบสมัคร สว.ได้แล้ว ซึ่งก็มีคนอยากเป็น สว. ไปรับเอกสารอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในนั้นคือ อะหมัด รามันห์สิริวงศ์ หรือ “เฮียมาร์ค” กรรมการบริหารสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ผู้สื่อข่าวของสื่อหลายแขนง ต้องการลงสมัคร สว.ในกลุ่มอาชีพสื่อมวลชน
อะหมัด อายุ 40 ปีในปีนี้พอดี จึงคิดว่าด้วยวัยวุฒิ และคุณวุฒิของตนไม่น่าเป็นปัญหา แต่เมื่อไปสอบถามเจ้าหน้าที่อำเภอ ปรากฏว่าสอบตกตั้งแต่ยังไม่เริ่มสมัคร
“ผมไปอำเภอเมืองเพื่อจะไปรับใบสมัคร ตั้งใจจะสมัคร สว. แต่เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ได้ขอบัตรประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูลในระบบ ปรากฏว่าไม่สามารถสมัครได้ แจ้งว่าผมอายุไม่ถึง ก็เสียดาย เพราะก่อนหน้านี้ได้หาข้อมูลเรื่องของการสมัคร สว. ได้เตรียมตัวมา 2-3 วันแล้วที่จะไปรับใบสมัคร สว. แต่ปรากฏว่าอายุไม่ถึง 40 ปี ทั้งๆ ที่ปีนี้เป็นปีที่ผมอายุ 40”
“ก็รู้สึกเหมือนกันว่า ไม่ทันจะทำอะไรเลย มาถึงด่านแรกก็ไม่ได้แล้ว เสียดายมาก เพราะผมทำหน้า สื่อมวลชนอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานเกือบ 20 ปี เรื่องของหน้าที่การงานก็เหมาะสมแล้ว เพื่อนสื่อหลายคนพร้อมใจสนับสนุน แต่ก็เสียดายเรื่องอายุ ไม่น่าจะนับถึงหลักเดือน แค่ปีนี้อายุครบก็น่าจะสมัครได้ หากลดอายุผู้สมัครได้ จะเพิ่มโอกาสให้ได้คนรุ่นใหม่ และมีความหลากหลายเข้าไปทำงานมากขึ้น”
วันเดียวกัน มีผู้ประกอบวิชาชีพสื่ออีกคนไปยื่นใบสมัคร แต่ก็ฟาวล์อีก โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เป็นลูกจ้างกรมประชาสัมพันธ์ ต้องไปลาออกมาก่อน
นพพร หนูเพชร นายอำเภอเมืองยะลา เผยว่า ได้เตรียมความพร้อมทั้งบุคคลากรและสถานที่ เพราะเมืองยะลาเป็นอำเภอใหญ่ มีความตื่นตัวมาก มีผู้สนใจมารับใบสมัครทุกวันจำนวนมากพอสมควร
“จากการพูดคุยกับคนมาขอใบสมัคร ก็มาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งอาชีพอิสระ ข้าราชการบำนาญ ผู้นำท้องที่ มีความตื่นตัวพอสมควร เราก็มีการประชาสัมพันธ์อย่างเต็มที่ เพื่อเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ เราก็คาดหวังว่าจะมีประชาชนจากทุกกลุ่ม จากทุกภาคส่วน 20 กลุ่มอาชีพที่เขากำหนด มาเป็นตัวแทนของประชาชน มาทำงานเพื่อพัฒนาบ้านเมือง”
อาซัน เด็งระกีนา หัวกลุ่มทะเบียนและบัตร ที่ว่าการอำเภอเมืองยะลา เผยว่า อำเภอเมืองได้ดำเนินการเปิดให้รับใบสมัครตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.เป็นต้นมา ไม่เว้นวันหยุดราชการ วันแรกมารับ 2 ราย วันที่ 11 พ.ค. มารับ 6 ราย วันที่ 12 พ.ค. มารับ 11 ราย และวันที่ 13 พ.ค.ก็มีคนมารับเอกสารเรื่อยๆ
“เรื่องผู้สมัครที่มีคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่สามารถวิจารณ์ได้ ก็อยากขอประชาสัมพันธ์ไปยังผู้ที่สนใจ สามารถมาสอบถามหลักเกณ์และมารับใบสมัครได้ที่อำเภอทุกวัน ไม่เว้นหยุดราชการ”
ส่วน จ.นราธิวาส ที่ อ.สุไหงโก-ลก นายนิเมธ พรหมพยัต อายุ 75 ปี อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส และเป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองสุไหงโก-ลก ไปขอรับใบสมัคร สร้างกระแสฮือฮาได้พอสมควร
มีรายงานด้วยว่า พบความเคลื่อนไหวสมาชิกพรรคการเมืองหลายพรรคเดินทางไปแจ้งความประสงค์กับ กกต.จังหวัด เพื่อลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแล้วจำนวน 13 คน คาดว่าเพื่อเตรียมลงสมัคร สว.
นอกจากนั้นยังพบว่า จ.นราธิวาส มีประชาชนสนใจมายื่นขอใบสมัคร สว. ในระยะเวลา 3 วัน จำนวน 171 คน ติดอับดับ 6 ของประเทศ
อนิรุทร บัวอ่อน นายอำเภอสุไหงโก-ลก เผยว่า กรรมการทุกคนต้องมีความโปร่งใส เช่น กฎหมายกำหนดชัด ห้ามเปิดเผยข้อมูลให้กับคนที่จะมาสมัคร ว่ามีการสมัครในกลุ่มนั้นๆ แล้วกี่คน
“ผมต้องกำชับน้องๆ ที่ทำหน้าที่รับสมัครห้ามเปิดเผยข้อมูลให้คนอื่นทราบโดยเด็ดขาด” นายอำเภอ กล่าว
นี่ก็เป็นความยากอีกเรื่องหนึ่งของกระบวนการเลือก สว. เพราะการเก็บความลับในโลกยุคนี้ เป็นงานหินจริงๆ