“ที่บ้านมีหลาน 11 คน เปิดเทอมทุกครั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียนต่างๆ…”
ความจริงจากปากของ “ผู้ปกครอง” คนหนึ่งจากดินแดนปลายด้ามขวาน อาจเป็นคำอธิบายอย่างดีว่า เหตุใดคนยุคนี้ถึงไม่ค่อยอยากมีลูก
ส่งผลให้อัตราการเกิดของประเทศไทยลดต่ำอย่างน่าใจหาย และกลายเป็นตัวเร่งให้เมืองไทยกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” หรือ Aging Society
แต่สำหรับครัวเรือนที่ถอยหลังกลับไม่ได้แล้ว เพราะมีลูก มีหลานกันไปเรียบร้อย ก็ต้องแบกภาระ รับผิดชอบ และเอาตัวรอดกันต่อไป
สามจังหวดชายแดนภาคใต้เป็นอีกเพียงไม่กี่พื้นที่ของประเทศไทยที่อัตราการเกิดของประชากรยังค่อนข้างสูง
แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ...ความยากจน
ช่วงใกล้เปิดเทอมจึงได้เห็นกิจกรรมดีๆ จากผู้ใหญ่ใจดี เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้พ่อแม่ผู้ปกครอง
อย่างที่หอประชุมมูลนิธิตุ้ยบ๋วยเต็งเนี่ยง ศาลเจ้าแม่ทับทิมยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ณัฐฎ์โชติ รุจิจินดาวรรณ์ จัดกิจกรรม "พี่ดูแลน้อง ปี 3" รับบริจาคชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน รองเท้า กระเป๋า ทั้งของใหม่ และมือสอง เพื่อส่งต่อให้น้องๆ ในพื้นที่ จ.ยะลา ก่อนเปิดเทอมปีการศึกษา 2567
เป้าหมายก็เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน, สมาคมฟ้าใส ส่งเสริมส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ ร่วมบริจาคสนับสนุน
บรรยากาศของกิจกรรมเต็มไปด้วยความคึกคัก ทั้งผู้ที่นำสิ่งของมาร่วมบริจาค และผู้ที่เดินทางการรับบริจาค
“เราได้เห็นน้ำใจของคนยะลาที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แม้บางคนจะไม่ได้บริจาคอุปกรณ์การเรียน เช่น ร้านอาหารต่างๆ ในจังหวัด แต่ก็ได้นำขนม อาหาร น้ำดื่ม มาบริการ นับเป็นกิจกรรมจิตอาสาอย่างแท้จริง” ณัฐฎ์โชติ กล่าว
ด้านความรู้สึกของผู้ปกครองของเด็กๆ ที่เดินทางมารับของบริจาค เผยว่า เป็นกิจกรรมที่ดีมากๆ เป็นการช่วยแบ่งภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม เพราะที่บ้านมีหลาน 11 คน เปิดเทอมทุกครั้งจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทั้งค่าเทอม ค่าชุดนักเรียน รองเท้า อุปกรณ์การเรียนต่างๆ
“เมื่อมีกิจกรรมนี้จึงรีบเดินทางมาเพื่อเลือกชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน ทั้งของใหม่และของมือสอง เพื่อให้กับหลานๆ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ขอบคุณสำหรับกิจกรรมดีๆ แบบนี้มากๆ” ผู้ปกครองรายนี้ กล่าว
อีกหนึ่งกิจกรรมเป็นของ ศูนย์พัฒนาอาชีพ กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้ ได้จัดทุนการศึกษา รองเท้า ชุดนักเรียน และอุปกรณ์การเรียน มอบให้เด็กๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ถึงกว่า 1,500 คน
กิจกรรมดีๆ เกิดขึ้นได้จากการ “ร่วมด้วยช่วยกัน” ตามชื่อกลุ่ม โดยมีผู้ใหญ่ใจดีอย่าง ธีระชัย รัตนกมลพร ผู้ก่อตั้ง บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน), ฐกร รัตนกมลพร จากบริษัทเดียวกัน, ตัวแทนสื่อมวลชนทั้งในกรุงเทพฯและในพื้นที่ ระดมทั้งกำลังทรัพย์และกำลังแรง ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้พี่น้องชายแดนใต้
รอกีเยาะ อาบู ประธานศูนย์พัฒนาอาชีพฯ บอกว่า นอกจากอุปกรณ์การเรียนแล้ว ยังได้มอบสิ่งของที่จำเป็นให้เด็กและผู้สูงอายุ ทั้งที่ป่วยติดเตียงและด้อยโอกาสด้วย
ด.ญ.อามานี แวจิ ซึ่งได้รับมอบรองเท้า เผยความรู้สึกว่า ดีใจมากที่จะได้มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียนเหมือนเพื่อนๆ ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่มอบทุนการศึกษาให้พวกเราด้วย
กิจกรรมของกลุ่มร่วมด้วยช่วยกันฯ ผสานพลังจากภาครัฐ ทั้ง ศอ.บต. และ กอ.รมน.
“การสร้างรอยยิ้มและความสุขให้ประชาชนในพื้นที่ คือแนวทางของการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพราะสังคมดีต้องมาจากชุมชนดี ครอบครัวดี สิ่งที่ทุกคนทำ คือตัวชีวัดของเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือความสงบสุข”
เป็นคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ที่มาร่วมกิจกรรม
และเป็นหมุดหมายของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยที่ปฏิบัติงาน ณ ปลายด้ามขวาน