พูดถึง “แนวทาง” หรือ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้”
จะว่าไปจนถึงป่านนี้ ผ่านมา 20 ปีแล้ว ยังถกเถียงกันอยู่ว่า รัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมามี “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ในบริบทของการ “เอาชนะสงครามที่ปลายด้ามขวาน” แล้วหรือยัง
แน่นอนว่า ยุทธศาสตร์ที่เป็นกรอบกว้างๆ นั้นมีแน่นอน ทั้งแผน 5 ปี แผน 3 ปี แต่คำถามคือยุทธศาสตร์ที่เท่าทันกับปัญหา เท่าทันยุทธศาสตร์ของกองกำลังติดอาวุธ เพื่อเอาชนะสงครามซึ่งเราไม่คุ้นชิน เป็น “สงครามอสมมาตร - สงครามความไม่สงบ” นี้ให้ได้…เรามีแล้วหรือยัง
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อเสนอ 10 ข้อ สำหรับ “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ซึ่งผู้ที่สนใจพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง
โดยเฉพาะการทำความเข้าใจสงครามให้ถ่องแท้ ต้องรู้จักและเท่าทัน “ยุทธศาสตร์แนวร่วม” ซึ่งมีทั้งภายในและภายนอกพื้นที่ ภายในและภายนอกประเทศ
ต้องจัดการกระบวนการบ่มเพาะความรุนแรงอย่างเท่าทันและเข้าใจ
และสุดท้าย ต้องไม่มี “กลุ่มราชการสายกิน” เรื่องนี้น่าจะสำคัญที่สุดไม่แพ้ทุกๆ ข้อ
ไม่ใช่ลงใต้กันที อ้วนพีกลับมา แบบนี้ต้องเลิก ไม่อย่างนั้นไฟใต้ไม่มีทางดับมอด...มีแต่เลี้ยงไข้ไปชั่วนิรันดร์!!!
@@ ยุทธศาสตร์ภาคใต้ @@
เสียงเรียกร้องให้มีการกำหนด “ยุทธศาสตร์ในการเอาชนะสงครามก่อความไม่สงบ” ในภาคใต้ มีมานาน และมาจากหลายฝ่ายที่ห่วงใยสถานการณ์ เพราะสำหรับผู้ที่ติดตามปัญหาการใช้ความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น มีมุมมองที่ไม่แตกต่างกันว่า รัฐไทยขาดยุทธศาสตร์ … ขาดกรอบคิดที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ดังนั้น บทความนี้จะทดลองนำเสนอ “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” หรือหากเรียกด้วยสำนวนของยุค 66/23 แล้ว คงต้องเรียกว่า “ยุทธศาสตร์ในการเอาชนะสงครามภาคใต้” แม้หลายท่านอาจจะไม่ชอบการเรียกสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ว่าเป็น “สงคราม” แต่หากมองผ่านมิติทางยุทธศาสตร์แล้ว ปัญหาภาคใต้มีความเป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” (insurgency warfare) อย่างชัดเจน จึงทำให้การกำหนดยุทธศาสตร์ต้องเริ่มจากความเป็นจริงของ “ธรรมชาติสงคราม” ชนิดนี้ เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ของรัฐ
1.สงครามก่อความไม่สงบเป็น “สงครามต่อต้านรัฐ” หรือมีนัยของการต่อสู้กับรัฐด้วยกำลังอาวุธ ไม่ใช่การต่อสู้กับรัฐในทางการเมืองผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ซึ่งสภาวะที่เกิดของความรุนแรงมีลักษณะเป็น “การลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ” (armed insurrection) การกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการต่อสู้จึงต้องการชุดความคิดอีกแบบ จะคิดอยู่ในกรอบสงครามแบบเดิมไม่ได้
2.การลุกขึ้นสู้ด้วยกำลังอาวุธของฝ่ายต่อต้านรัฐนั้น พวกเขาไม่อาจเอาชนะรัฐด้วยอำนาจทางการทหาร เพราะความอ่อนแอกว่าในมิติต่างๆ พวกเขาจึงมุ่งเอาชนะทางการเมือง ด้วยการทำลายความชอบธรรมของรัฐ
ถ้าการเอาชนะทางการเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาดแล้ว ฝ่ายรัฐจะต้องคิดใหม่เพื่อเปลี่ยน “มุมมองสงคราม” และตระหนักว่า สงครามนี้เป็น “สงครามการเมือง” จึงต้องมี “ยุทธศาสตร์การเมือง” ในการแก้ปัญหา หรือที่ถือเป็นเข็มมุ่งหลักคือ “การเมืองนำการทหาร” และต้องไม่ใช้ “การทหารนำการเมือง” ในการแก้ปัญหา
3.ความอ่อนแอกว่าฝ่ายรัฐ ทำให้การต่อสู้เช่นนี้ มีสภาวะที่เกิดเป็น “สงครามอสมมาตร” (Asymmetric Warfare) เพราะฝ่ายที่อ่อนแอกว่าไม่เอาชนะด้วยเงื่อนไขสงคราม ธรรมชาติของสงครามดังกล่าวมีความแตกต่างกับสงครามที่รัฐและกองทัพมีความคุ้นชินในแบบเดิมที่เป็น “สงครามสมมาตร” (Symmetric Warfare)
การต่อสู้ในสงคราม 2 แบบ มีความแตกต่างกันอย่างมาก จึงต้องการยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันในกระบวนการคิดและการวางแผน
4.การเอาชนะทางการเมืองของฝ่ายต่อต้านรัฐในอีกส่วนคือ การสร้างมวลชนที่ให้การสนับสนุนการต่อสู้ที่เกิดขึ้น มวลชนจึงมีทั้งผู้ที่เข้าร่วมการต่อสู้โดยตรงในฐานะสมาชิกขององค์กร ผู้สนับสนุนทางวัตถุ และผู้ที่ให้ความเห็นใจ และรวมถึงแนวร่วมในต่างประเทศที่ให้การสนับสนุน
คนเหล่านี้แสดงบทบาทของการมีส่วนร่วมในสงครามที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขของตน ซึ่งเราอาจกล่าวในอีกมุมหนึ่งได้ว่า สงครามก่อความไม่สงบเป็น “สงครามชิงมวลชน” และขับเคลื่อนการต่อสู้โดย “แนวร่วม” ที่ดำรงบทบาทอยู่ตามปกติในสังคม การกำหนด “ยุทธศาสตร์แนวร่วม” ต่อกลุ่มภายในและภายนอก เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐต้องคิด
5.สงครามนี้ในอีกมุมหนึ่งเป็น “สงครามของมวลชน” หรือเป็นตามที่ประธานเหมาเจ๋อตงกล่าวไว้เป็นเข็มมุ่งของ “สงครามประชาชน” ว่า “ประชาชนเป็นน้ำ ทหารเป็นปลา”
ข้อสรุปของหลักการนี้คือ ปลาขาดน้ำตายฉันใด นักรบกองโจรขาดประชาชนก็ตายฉันนั้น อันอาจกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การสนับสนุนของมวลชนในพื้นที่มีความสำคัญต่อการเอาชนะสงคราม ฉะนั้น โจทย์ยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ รัฐจะเอา “ชนะใจ” มวลชนในพื้นที่การต่อสู้อย่างไร หรืออีกนัยหนึ่งคือ รัฐต้องมี “ยุทธศาสตร์ชิงมวลชน” ในสงครามชุดนี้ให้ได้
6.ความอ่อนแอของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐ ทำให้สงครามไม่มี “การรบแตกหัก” เช่นในสงครามตามแบบ เพราะระดับของกำลังไม่มีทางที่จะสามารถทำการรบได้ทัดเทียมกับกองทัพของฝ่ายรัฐ
สงครามของผู้ที่อ่อนแอกว่าจึงเกิดสภาวะที่ประธานเหมาฯ เรียกว่า “สงครามยืดเยื้อ” (Protracted War) เพราะสงครามรบต่อเนื่องไปเรื่อย จนกว่าอีกฝ่ายจะหมดขีดความสามารถในการทำสงคราม
ฉะนั้น ฝ่ายรัฐต้องตระหนักว่า สงครามจะยาวกว่าที่คิด และอาจใช้ทรัพยากรมากกว่าที่วางแผนไว้ ทั้งยังมีนัยถึงความสูญเสียของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐ จึงต้องมีแผนยุทธศาสตร์ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวต่อปัญหานี้
7.นักรบกองโจรในยุคปัจจุบันดำเนินการสงครามผ่าน “การก่อการร้าย” เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำลายรัฐ การผสมผสานระหว่างระหว่างการก่อความไม่สงบและการก่อการร้ายจึงเป็นแบบแผนของสงครามชนิดนี้ ซึ่งรัฐจะต้องคิดยุทธศาสตร์ต่อการใช้ความรุนแรงใน 2 บริบทของฝ่ายต่อต้านรัฐให้ได้ และยังมีนัยถึงการตระเตรียมความคิดในการรับมือกับมิติของการก่อการร้ายให้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย
8.สงครามก่อความไม่สงบในตัวเองคือ “สงครามนอกแบบ” (Unconventional Warfare) ดังนั้น นักรบกองโจรจะอาศัยความได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางก่อเหตุ และเส้นทางหลบหนี เป็นต้น
ดังนั้น “ความชำนาญภูมิประเทศ” จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งของสงครามชนิดนี้ การควบคุมเส้นทางที่ใช้ในการก่อเหตุและหลบหนีจึงเป็นปัญหาทางยุทธวิธีประการหนึ่ง แต่ปัญหาทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ ขีดความสามารถของรัฐในการควบคุมพื้นที่
9.การแสวงหาสมาชิกด้วย “กระบวนการบ่มเพาะความรุนแรง” (radicalization) เป็นงานพื้นฐานของขบวนติดอาวุธ รัฐจึงต้องพิจารณาด้วยความเข้าใจในยุทธศาสตร์ของการทำลายกระบวนการเช่นนี้ เพื่อตัดขั้นตอนของการสร้างสมาชิกขององค์กร ไม่ต่างกับแบบแผนของขบวนก่อการร้ายในปัจจุบัน
10.ฝ่ายต่อต้านรัฐในขั้นตอนหนึ่งของการรบ อาจยอมรับเงื่อนไขการเจรจา แต่พวกเขาเชื่อว่าการเจรจาจะเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสร้าง “ความได้เปรียบทางการเมือง” ดังนั้น ฝ่ายรัฐจะต้องมีทักษะ และความเข้าใจใน “ยุทธศาสตร์การเจรจาต่อรอง” เพราะต้องตระหนักเสมอว่า การเจรจาคือรูปแบบหนึ่งของการทำสงคราม
การนำเสนอทิศทางยุทธศาสตร์ทั้ง 10 ประการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางของข้อถกแถลงในการกำหนดยุทธศาสตร์ต่อปัญหาสงครามในภาคใต้ และอาจต้องมียุทธศาสตร์พ่วงอีกประการคือ การควบคุม “กลุ่มสีเทา” ที่ใช้สถานการณ์สงครามเป็นช่องทางในการแสวงประโยชน์
ตลอดรวมถึงปัญหา “กลุ่มราชการสายกิน” (ไม่ใช่สายเหยี่ยวหรือสายพิราบ) ที่หาประโยชน์มานาน จนกลายเป็นเงื่อนไขสงครามในตัวเอง!
------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกจากรายการข่าวข้นคนข่าว