สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ช่วงนี้ ได้รับการวิเคราะห์จาก อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง...อย่างน่าสนใจยิ่ง
@@ ภาคใต้หลัง JCPP @@
สถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาตใต้มีแนวโน้มที่จะลดลงมาโดยตลอด
แต่ถ้าเราสังเกตแล้ว จะเห็นได้ว่า หลังจากที่มีการนำเอาเรื่องของ JCPP หรือข้อตกลงที่คณะผู้เจรจาฝ่ายไทยกับกลุ่มติดอาวุธคือ บีอาร์เอ็น ออกสู่สาธารณะ และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสังคม จนหลายฝ่ายมีเสียงเรียกร้องให้มีการ “ทบทวน” ข้อตกลงดังกล่าวแล้ว การก่อความรุนแรงเริ่มหวนกลับมาอีก และมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น
หรือว่าความรุนแรงที่เกิดในรอบนี้คือ ปฏิกริยาต่อการไม่ตอบรับ JCPP ของรัฐบาล
ในขณะที่ตัว JCPP ยังมีปัญหาอย่างมากนั้น ฝ่ายเทคนิคที่นำโดยแม่ทัพน้อยที่ 4 กลับสร้างปัญหาให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มผู้สังเกตการณ์จากประเทศอาเซียนจำนวน 2 คน ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่า อะไรคือเหตุผลของการเพิ่มผู้สังเกตการณ์จากภายนอก หรือทำไมผู้แทนฝ่ายทหารไทยยินยอมยกระดับปัญหา ด้วยการทำให้ปัญหามีความเกี่ยวพันกับปัจจัยภายนอกมากขึ้น
จากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อให้สังคมได้รับทราบนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากในสาระของข้อตกลงที่เกิดขึ้น เพราะดูจะเป็นข้อตกลงที่สร้าง “ความได้เปรียบ” ให้กับฝ่ายที่เป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรงเป็นสำคัญ
และในทำนองเดียวกัน ก็เป็นเงื่อนไขในการสร้าง “ความอ่อนแอ” ให้กับฝ่ายรัฐ จนทำให้เกิดมุมมองว่า แท้จริงแล้ว JCPP คือ การออกแบบ “โรดแมป” เพื่อกำหนดเส้นทางให้รัฐต้องตกเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้แก่กลุ่มติดอาวุธมุสลิมในภาคใต้ไทย
เนื่องจากหากพิจารณาจากเงื่อนไขของสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว โอกาสที่กลุ่มติดอาวุธจะชนะสงครามในบ้านตัวเองกับฝ่ายรัฐนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ไม่ใช่เพียงเพราะความอ่อนแอกว่าของกำลังอาวุธเท่านั้น หากแต่สถานการณ์แวดล้อมไม่ได้เอื้อให้เกิดการแยกตัวออกเป็นรัฐเอกราชใหม่แต่อย่างใด
และอาจไม่มีโอกาสที่จะเกิด “ติมอร์ 2” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จริงแต่อย่างใด
ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากความสำเร็จในการแยกตัวของ “รัฐติมอร์ตะวันออก” แล้ว การแยกตัวอีก 2 กรณีไม่ประสบความสำเร็จในลักษณะเช่นนั้น คือ อาเจาะห์ในอินโดนีเซีย และมินดาเนาในภาคใต้ฟิลิปปินส์
อันทำให้การเรียกร้องเอกราชของกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมในภูมิภาคนี้ เหลืออยู่เฉพาะในกรณีของไทยเท่านั้น คือ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพื้นที่ทาง “ภูมิศาสตร์สังคม” อยู่ติดกับแนวชายแดนของมาเลเซีย ซึ่งทำให้เป็นเงื่อนไขในตัวเองที่การแก้ปัญหาจำเป็นต้องอาศัยความสนับสนุนของมาเลเซียด้วย
ในการต่อสู้กับฝ่ายรัฐ สงครามก่อความไม่สงบของกลุ่มติดอาวุธเช่นนี้ แทบจะมีแบบแผนเดียวกันทั่วโลกคือ การใช้ความรุนแรงในรูปแบบของ “การก่อการร้าย” เป็นเครื่องมือหลักในการต่อสู้ เพราะเข้าใจดีในทางยุทธศาสตร์ว่า การใช้ความรุนแรงในแบบของ “สงครามในเงามืด” (war in the shadow) นั้น รัฐจะตกเป็นฝ่ายรับ
และถ้ารัฐใช้ความรุนแรงในการตอบโต้กลับมากเท่าใด รัฐจะยิ่งตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเท่านั้น เพราะรัฐจะกลายเป็น “ผู้ใช้ความรุนแรง” ในการแก้ปัญหา
ความลำบากสำหรับรัฐในสงครามประเภทนี้ก็คือ การใช้ความรุนแรงของรัฐในการจัดการกับปัญหา จะยิ่งกลายเป็นการทำลายความชอบธรรมของฝ่ายรัฐเอง และจะทำให้รัฐกลายเป็น “จำเลย” บนหน้าสื่อจากการเปิดประเด็นขององค์กรแนวร่วม หรือกลุ่มเอกชนบางส่วนที่มี “ความเห็นใจ” กับฝ่ายต่อต้านรัฐ
เพราะมีความเชื่อเป็นพื้นฐานทางความคิดว่า “รัฐคือตัวปัญหา” หรือในบางกรณีอาจจะไปสุดโต่งว่า “รัฐคือภัยคุกคาม” จึงทำให้พวกเขาต้องสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ
ทัศนะเช่นนี้จึงเป็นเหตุผลในตัวเองว่า ผู้ใช้ความรุนแรงต่อต้านรัฐต้องเป็นฝ่ายถูก โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความรุนแรงที่ถูกใช้ ไม่ว่าจะเป็นการสังหารที่มีความโหดร้ายอย่างไรก็ตาม หรือการวางระเบิดในลักษณะต่างๆ ที่สร้างความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของเหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมาย …
กล่าวคือ ความตายและความสูญเสียที่เกิดขึ้น มีคำอธิบายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อเหตุเพียงประการเดียวคือ “รัฐเป็นผู้ผิด” การใช้ความรุนแรงจึงกลายเป็นสิ่งที่แนวร่วมและบรรดาผู้ที่มีความเห็นใจ ยอมรับได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจอย่างใดทั้งสิ้น
กล่าวคือ เกิดสภาวะของ “การสนับสนุนทางการเมือง” ต่อฝ่ายตรงข้ามรัฐอย่างไม่มีข้อกังขา
สภาวะเช่นนี้คือ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ไทย และเกิดชัดมากขึ้นหลังการปรากฏเสียงคัดค้าน JCPP เช่นวันนี้ พวกเขาเรียนรู้จากสงครามถึงการลอบสังหาร ดังจะเห็นจากหลักฐานที่ได้จากการจับกุม ที่เป็นอุปกรณ์ของอาวุธแบบสไนเปอร์ เช่น ท่อเก็บเสียง กล้องวัดระยะทาง หรือการฝึกในการควบคุมโดรน เพื่อใช้บรรทุกระเบิดแสวงเครื่องในการโจมตีหน่วยทหารในพื้นที่
และล่าสุดคือ การใช้รถจักรยานยนต์เป็น “รถระเบิด” เป็นต้น
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเช่นนี้จึงกลายเป็น “คำถามมุมกลับ” ว่า การเจรจาที่ดำเนินการโดยกลุ่มเอกชนจากภายนอก ที่ดำเนินการทั้งที่เยอรมันและสวิตเซอร์แลนด์นั้น ทำไมไม่ช่วยลดทอนความรุนแรงลงบ้าง กลับกลายเป็นผลของการเจรจาช่วยโหมกระพือความรุนแรงให้มากขึ้น
อันทำให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามอย่างมากทั้งกับกระบวนการเจรจา และตัวคณะผู้เจรจา โดยเฉพาะกับตัวบุคคลในส่วนของฝ่ายรัฐว่า พวกเขาทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐไทยหรือไม่เพียงใด
วันนี้ รัฐไทยเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 21 ของปัญหาสงครามและการก่อการร้ายในภาคใต้ ถ้ายังไม่คิดตระเตรียม “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” และปล่อยให้ผลของการเจรจาที่ถูกออกแบบมาจากยุโรปลากไปเรื่อยๆ แล้ว ความชอบธรรมและความเหนือกว่าที่รัฐมี อาจไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดสงคราม
เพราะสงครามนี้กำลังถูกขับเคลื่อนโดยแนวร่วมและบรรดา “ผู้เห็นใจ-ผู้สนับสนุน” ที่ไม่คำนึงถึงการใช้ความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธ และกลุ่มติดอาวุธก็อาศัยเงื่อนไขเช่นนี้ กดดันรัฐด้วยการก่อเหตุรุนแรงเพื่อให้รับ JCPP ที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน
สุดท้ายนี้ ก็หวังว่าอย่างน้อย “ปืนสไนเปอร์และโดรนโจมตี” ที่จับได้ จะเป็นสัญญาณนาฬิกาปลุกให้รัฐไทยต้องตื่นตัวในการออกแบบยุทธศาสตร์เพื่อจัดการปัญหาความรุนแรงในภาคใต้อย่างจริงจัง
เพราะอาวุธดังกล่าวคือ สัญญาณของการเตรียม “ยกระดับสงคราม” ภาคใต้ของกลุ่มติดอาวุธอย่างชัดเจนแล้ว!